ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลโกงทรชนมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ เดิมๆบ้าง ปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วกว่าบรรดาสุจริตชนจะจับได้ไล่ทันก็พากันหมดเนื้อหมดตัว ส่วนโจรร้ายโดยเฉพาะไอ้ตัวใหญ่ หรือคนเป็นลูกพี่เผ่นหนีกันหมด มันไปพร้อมกับเงินก่อนโตที่โกงจากชาวบ้าน เหลือไว้พวกปลายแถว พวกหางเครื่อง
ทำไมคนไทยจึงตกอยู่ในวังวนถูกโจรหลอกได้บ่อยๆ คำตอบซ้ำๆ ก็คือ ความโลภ และถูกล่อด้วยความหวัง ตัวอย่างง่ายๆ แก๊งตกทอง ตกพระที่มาในมุกเก่าๆ แต่ก็ยังได้ผล ยังมีเหยื่อเข้าไปติดกับ ซึ่งสามารถรับรู้จากข่าวคราวที่สื่อพยายามเสนอให้คนไทยได้รู้เท่าทัน
ส่วนอาชญากรรมที่ล่อด้วยความโลภที่เหนือชั้นขึ้นไปอีกก็คือ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่..แชร์ลูกโซ่แม่ชะม้อย แม่นกแก้ว หลอกกันตั้งแต่เศรษฐียันยาจก ผ่านมาหลายสิบปี มีการเข้มงวดจับกุมกันเป็นระยะๆ จากแชร์น้ำมันก็เริ่มคิด เริ่มดัดแปลงไปเป็นแชร์อื่นๆ เช่น แชร์การเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคารหลายเท่า แชร์ทองคำ แชร์หุ้น แชร์ท่องเที่ยว แชร์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แชร์สุขภาพ
ปัจจุบันแชร์ลูกโซ่ที่ตกเป็นคดี มีการร้องทุกข์กล่าวโทษกันไปแล้วก็คือ แชร์น้ำมันหอมระเหย แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย แชร์ล็อตเตอรี่ เหล่านี้มีกลุ่มประชาชนระดับกลางตกเป็นเป้าหมาย
แต่ที่น่าตกใจและกำลังระบาดอย่างหนักทั่วประเทศก็คือ แชร์ลูกโซ่ที่มาในรูปแบบของฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยเหยื่อทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนระดับรากหญ้าทั้งสิ้น
ขบวนการแชร์ลุกโซ่ที่มาในรูปแบบฌาปนกิจสงเคราะห์มาในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ความมาแตกตอนที่สมาชิกเสียชีวิตแล้วไม่ได้เงินตามที่โฆษณาไว้
ล่าสุด น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง และตรวจสอบการดำเนินการฌาปนกิจสงเคราะห์ก่อนตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก เนื่องจากมีประชาชนเขตภาคกลาง ภาคเหนือ และอีสาน ร้องเรียนมาว่า มีหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ออกประกาศรับสมัครสมาชิกโครงการสวัสดิการเพื่อสมาชิกหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง 1 ชีวิต 1 ล้าน ผ่านช่องทางต่างๆ
มีการจัดประชุมสัญจรทั่วประเทศ โดยเสียค่าสมัครคนละ 1,500-3,000 บาท แบ่งเป็นค่าสมาชิกหนังสือพิมพ์ 850 บาท ค่าสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์พลังเครือข่ายประชาชน คนละ 650 บาท ซึ่งบางรายชำระเงินถึง 2,500 -3,000 บาท
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การดำเนินการฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าว ไม่ได้มีการยื่นจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ จากนายทะเบียนสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ประจำท้องที่แต่มีการรับสมาชิกทั่วประเทศกว่า 190,000 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 300,000,000 บาท
การกระทำของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง เป็นการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการโดยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกันให้ผู้อื่นเข้าสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯ ที่ยังมิได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงิน หรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 33 และ มาตรา 34 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้มีหนังสือถึงกองบังคับการปราบรามการกระทำผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตากฎหมายให้ถึงที่สุดแล้ว
รายละเอียดข้างต้นดังกล่าว เมื่อสืบค้นลงไปยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า หนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง มีสำนักงานตั้งอยู่ ถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี กทม. ดำเนินการโดย นายทรัพย์อานันท์ เจริญวัฒนอุดม ตำแหน่งบรรณาธิการก่อตั้งฯ รูปแบบของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง จัดทำรูปเล่มแบบนิตยสารทั่วไป ออกจำหน่ายเป็นรายเดือน เนื้อหาส่วนใหญ่ประชาสัมพันธ์ผลงานการช่วยเหลือสังคม และเชิญชวนให้สมัครเป็นสมาชิก ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายคนละ 1,500 บาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า เป็นสมาชิกและสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ตลอดชีพ 950 บาท ค่าบำรุงสมาคมฯ รายปี ปีละ 50 บาท เงินสงเคราะห์ล่วงหน้า 50 ศพรวม 500 บาท (จะเรียกเก็บเมื่อยอดเงินคงเหลือต่ำกว่า 250 บาท) แล้วให้รอจนกว่าจะครบ 6 เดือน สมาชิกจึงจะมีสิทธิได้รับเงิน กรณีเสียชีวิต 800,000 บาท และศูนย์จะได้รับศพละ 50,000 บาท
จากรายละเอียดดังกล่าว จึงมีผู้สนใจเข้าสมัครเป็นสมาชิก และเป็นตัวแทนจำนวนมาก เฉพาะตัวแทนจัดตั้งตำบลละ 1แห่ง ต้องจ่ายค่าดำเนินการแก่หนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง รายละ 20,000 บาท จากนั้นจึงเลื่อนลำดับเป็นอำเภอ จังหวัด และภาค ล้วนแต่ต้องเพิ่มเงินมากยิ่งขึ้น
สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมืองนั้น จากการสืบค้นพบชื่อ พล.อ.นิพนธ์ สีตะบุตร เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ พล.ต.ศิริพงษ์ รักษพลเดช และ พล.ต.ไกรกิติ รักษพลเดช เป็นรองประธานที่ปรึกษาฯ เฉพาะ พล.อ.นิพนธ์ สีตะบุตร เป็นญาติผู้พี่ของ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน และยังเป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า มีการแอบอ้างโดยเจ้าตัวไม่ทราบ
นอกจากการเสนอผลตอบแทนเป็นสิ่งล่อใจแล้ว กลยุทธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกทางหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ยังจัดกิจกรรมในแนวสาธารณกุศลบ่อยๆ มีการเดินสายประสานกับผู้หลักผู้ใหญ่ของจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการเป็นอย่างดี และทุกครั้งที่ออกเดินสายหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง จะบริจาคให้กาชาดจังหวัด 1 แสนบาท กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด แห่งละ 1 แสนบาท พร้อมกับออกข่าวเผยแพร่จนเกิดการตื่นตัว แห่สมัครเข้าเป็นสมาชิกฯ รวมทั้งเป็นตัวแทนโดยไม่ยั้งคิดใดๆ
เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า นี่ก็คือการระดมทุนเข้าลักษณะแชร์ลูกโซ่ผิดกฏหมายอย่างชัดเจน แต่ที่แปลกและเนียนกว่ารายอื่นน่าจะอยู่ตรงที่ เอาวิชาชีพสื่อเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งยังนำบุคคลสำคัญมาประดับบารมี สร้างความเชื่อถือ จนวงเงินค่าความเสียหายพุ่งสูงไปกว่า 300 ล้านบาท
ทั้งกองปราบปรามฯ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่กำลังเร่งตรวจสอบก็ขอให้เดินหน้าอย่างเต็มที่ เพราะขบวนการแชร์ลุกโซ่ในนามหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง กำเริบถึงขนาดกล้าแหกตาข้าราชการระดับสูง ทั้งในส่วนจังหวัด และตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการจังหวัด หลายคนตกเป็นเครื่องมือไปอย่างไม่รู้ตัว
สุดท้ายอีกหนึ่งองค์กรที่จะมานั่งเงียบเป็นเป่าสากไม่ได้ นั่นก็คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงเป็นเรื่องต้มตุ๋นธรรมดา แต่เป็นขบวนการที่ใช้วิชาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ไปทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
ประเด็นคุกคามสื่อ หรือความประพฤติของสื่อที่ท่านให้ความสำคัญกันนั้นยังน้อยกว่าพฤติการณ์ของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ที่กำลังตกเป็นจำเลย และกัดเซาะสังคมในเวลานี้