xs
xsm
sm
md
lg

สปช.รับรายงาน"สังคมผู้สูงอายุ" แนะขยายเกณฑ์เกษียณราชการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (7เม.ย.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา รายงาน เรื่องข้อเสนอการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย หลังจากที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ทำหน้าที่ศึกษา และพิจารณาแล้วเสร็จ
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ชี้แจงว่า ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ แต่รวมถึงโครงสร้างประชากรไทย ที่กำลังจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรตั้งแต่ปี 2543 และในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือปี 2565 จะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร ซึ่งจะเป็น 2 เท่า ในเวลา 22 ปี ขณะที่คนวัยทำงานก็ลดน้อยลง คนที่พร้อมมีบุตร เกิดปัญหามีบุตรยาก ส่วนแม่วัยใสที่ไม่มีความพร้อม กลับมีลูกมาก ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปจะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพประชากร ภาษีอากรของประชาชน และเกิดวิกฤติทางการคลังในอนาคต
ทั้งนี้ การปฏิรูปนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างเดียว จะต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงวัย โดยสังคมต้องตระหนักว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระของสังคม แต่เป็นคลังปัญญา ประสบการณ์ที่จะช่วยสังคมได้
ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงวัยมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 77 ปี และในอนาคต จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นหญิงมากกว่าชาย และมีบุตรน้อยกว่า 2 คน สะท้อนปัญหากลุ่มคนวัยทำงาน จะมีจำนวนน้อยลง และต้องมีความรับผิดชอบดูแลผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มคนวัยทำงาน 5 คน ดูแลผู้สูงอายุ 2 คน และเด็กต่ำกว่า 2 คน แต่อนาคตกลุ่มคนวัยทำงาน 2 คน จะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และเด็ก 1 คน ขณะที่ระบบสวัสดิการกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยจำนวน 37 ล้านคน พบว่า เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 2 ล้านคน มีระบบสวัสดิการ ผู้ที่ทำงานภาคเอกชน มีระบบประกันสังคมรองรับ 9 ล้านคน / และอีก 26 ล้านคน เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ซึ่งไทยมีระยะเวลาในการปรับตัวที่น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา ก็กำลังไล่ตามเข้าสู่สังคมสูงวัย เมื่อนั้นก็ไม่สามารถหวังพึ่งแรงงานเพื่อนบ้านได้เช่นกัน
ทางคณะกรรมาธิการได้เสนอแนวทางการปฏิรูปใน 5 ด้าน คือ สร้างการออม เพื่อเป็นหลักประกันแก้ผู้สูงอายุ ขยายเกณฑ์เกษียณอายุทั้งราชการ และภาคเอกชน ส่งเสริมการกระจายธุรกิจไปยังในท้องถิ่น เพื่อไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ออกแบบส่งเสริมครอบครัวมีลูกเพิ่มขึ้น และป้องกันแม่วัยใสที่ไม่มีความพร้อมในการมีบุตร รวมถึงปรับสภาพแวดล้อม สนับสนุนอุปกรณ์แก่ผู้สูงอายุ สนับสนุนอาชีพ สถานที่รองรับผู้สูงอายุและเด็ก
ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วย และอภิปรายไปในทิศทางเดียวกันว่า สังคมต้องตระหนักถึงสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเรื่องการใช้แรงงาน รายได้ของกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างสังคมผู้สูงอายุที่ดีและมีความเข้มแข็ง โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ให้มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และกองทุนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม และให้มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย ดูแลระบบการเงินการคลัง พร้อมทั้งทบทวนสวัสดิการให้เกิดความเท่าเทียมแก่ผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกัน นางเตือนใจ สินธุวณิก สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวเห็นด้วยกับการขยายเกณฑ์อายุเกษียณราชการ ทั้งในภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งเสนอ ออก ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐาน รวมถึงการกำหนดส่วนลดหักภาษีเงินได้ เพื่อส่งเสริมการทำประกันชีวิตการออมของผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระของรัฐบาล และยังเป็นการส่งเสริมการออมด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับรายงานข้อเสนอการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยด้วยคะแนน 208 เสียง และไม่เห็นด้วย 1 เสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น