xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ดันพ.ร.บ.การออมแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22ธ.ค.) มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานหลักประกันความมั่นคงรายได้เพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุ ด้วยการเร่งรัดดำเนินงานตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งน.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เสนอว่า ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศมาตั้งแต่ปี 2548 ทางกรรมาธิการจึงได้มีการศึกษาเพื่อสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจแก่ผู้สูงอายุ ในวัยที่ไม่สามารถทำงานหรือหารายได้ เพื่อยังคงคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการเสนอออกเป็น พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดจากรัฐบาลที่ผ่านๆมา เพื่อสร้างสิทธิประโยชน์แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบเงินบำนาญตลอดชีวิต ที่มาจากการร่วมจ่ายเงินสะสมของผู้ออมตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึง 60 ปี และต้องเป็นผู้ที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมด้านการชราภาพโดยรัฐสมทบส่วนหนึ่ง โดยนโยบายดังกล่าวรัฐบาลที่ผ่านมาใช้เวลาขับเคลื่อนถึง 4 ปี โดยการขยายช่องทางตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลขึ้นก่อน ทำให้นโยบายดังกล่าวไม่ได้รับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง การเปิดรับสมาชิกเข้ากองทุน จึงต้องเลื่อนออกไป
ดังนั้น ทางกรรมาธิการจึงเห็นว่าการเลื่อนเวลาเปิดรับสมาชิก ทำให้เกิดผลกระทบกับแรงงานนอกระบบ และระยะเวลาการจ่ายเงินสะสม รวมถึงการได้เงินสมทบจากรัฐบาลอาจลดลงตาม ซึ่งผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกกองทุนถึง 12 ล้านคน ที่ต้องเสียโอกาสแล้ว อย่างไรก็ตาม จึงได้เสนอให้มีการออกเป็น พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้รัฐต้องสมทบเงินงบประมาณที่มีความแน่นอนกว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่มีฐานะเป็นพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณางบประมาณอัตราสมทบเป็นรายปีเท่านั้น และเป็นภาระผูกพันระยะสั้น จึงภายใต้การดูแลของสำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน ทำให้การดูแลผู้สูงอายุมีความไม่แน่นอน เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ ที่กำหนดจ่ายเงินบำนาญเป็นรายเดือนแก่ผู้สูงอายุ และเสนอให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ที่มีหน้าที่บริหารการเงินการคลัง และรักษาวินัยการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ สมาชิกผู้อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการเสนอเป็น พ.ร.บ.กองทุนการออมห่งชาติเพื่อประโยชน์ในวัยสูงอายุ และถึงเวลาที่จะมีการผลักดัน โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. มองว่า ปัจจุบันวัยแรงงานไม่มีหลักประกันว่าจะมีลูก เพื่อดูแลพ่อแม่ในวัยชราได้ ซึ่งหากประเทศไทยไม่เร่งปฏิรูปเรื่องนี้ เพื่อออมเงินประกันอนาคตตัวเอง ประเทศมีปัญหาอย่างแน่นอน และอาจกระทบไปถึงวิกฤติทางการคลังจากการเก็บภาษีของรัฐ ขณะเดียวกัน รัฐควรขยายเวลาเกษียณอายุเป็น 65-70 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับผู้สูงวัยในประเทศ ที่มีอายุยืนยาวมากขึ้น พร้อมกับสามารถเลือกเกษียณอายุตัวเองได้
นายอลงกรณ์ พลบุตร สนช. อภิปรายว่า การบริหารจัดการการออมโดยทั่วไปมี 2 ด้าน คือสวัสดิการสังคม และบำนาญประชาชน แต่ที่ผ่านมา การบริหารจัดการของรัฐยังไม่เข้าใจระบบคุ้มครองประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ทั้งอาชีพชาวนา ชาวไร่ แท็กซี่ แม่ค้า แผงลอย ซึ่งควรได้รับการดูแล และได้รับสิทธิในการเข้าถึงจากการบริหารของรัฐ แต่ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหนึ่งเดินหน้านโยบาย อีกรัฐบาลไม่สานต่อ ทั้งที่เป็นสวัสดิการสังคมจากภาครัฐ จึงเห็นด้วยที่ผลักดันเรื่องดังกล่าวออกเป็นพระราชบัญญัติ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. กล่าวแสดงความเห็นด้วย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตต่อคณะกรรมาธิการนำไปพิจารณา ว่า การที่กำหนดเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 50-90 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพรายละ 600-1,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่าผู้สูงอายุรับการดูแลวันละ 20-30 บาทเท่านั้น การที่จะลดความเหลื่อมล้ำแก่ผู้สูงอายุ ก็ควรคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุเป็นเกณฑ์หลัก ในการจ่ายเบี้ย ซึ่งปัจจุบันสังคมผู้สูงอายุเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ยังไม่อยากให้ไปคำนึงถึงการจ่ายงบประมาณมาก่อน
ขณะที่นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ สปช. อภิปรายว่า นอกกจากการออมเพื่อผู้สูงอายุในอนาคต ยังควรมีแนวทางส่งเสริมการออมของผู้สูงอายุเองด้วย ที่ต้องการลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง พร้อมกับรัฐสมทบส่วนหนึ่ง ซึ่งจะลดภาระเบี้ยผู้สูงอายุ และเป็นสังคมพึ่งตัวเองในระยะยาว
จากนั้น ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 212 เสียง เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสนอ ให้เร่งรัดการดำเนินงานตามพ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 โดยแจ้งต่อครม.ให้เร่งปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวทันที และเสนอไปยัง สนช. เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นระยะต่อไป
นอกจากนี้ ยังแจ้งให้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ เป็นเจ้าภาพดูแลประสานการทำงานกับคณะกรรมาธิการชุดต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสมาชิก ที่มีข้อสังเกตต่อกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายของระบบและการนำไปสู่การปฏิบัติเมื่อมีกฎหมายแล้ว โดยกำหนดกรอบระยะเวลากำเนินงานภายใน 3 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น