xs
xsm
sm
md
lg

ภาษี : รายได้รัฐจากรายจ่ายของพลเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ภาษีหมายถึง เงินที่รัฐจัดเก็บจากพลเมืองของประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารประเทศ

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ารัฐมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี และพลเมืองมีหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่รัฐตามที่กฎหมายกำหนด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้อยลง หรือแม้กระทั่งเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายแล้วน้อยกว่าการแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ

ส่วนว่าจะแสวงหาจากไหน และด้วยวิธีการใดนั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพและโอกาสของรัฐบาล ผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศในเวลานั้นๆ

ในระยะเวลาหลายปีติดต่อกันก่อนที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้ามาบริหารประเทศ ประเทศไทย ได้จัดทำงบประมาณขาดดุลมาตลอด นั่นหมายความว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ในแต่ละปีได้น้อยกว่ารายจ่าย และนี่เองคือต้นเหตุแห่งการเป็นหนี้ในภาครัฐ เพื่อจะนำเงินมาชดเชยในส่วนที่ขาดดุล

ในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ก็คงจะเป็นไปในรูปแบบเดิมคือ จัดทำงบประมาณขาดดุลเหมือนปีก่อน และจะต้องกู้มาใช้จ่ายในส่วนที่ขาดดุลเหมือนอย่างเคย

ส่วนจะกู้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

1. รัฐจะจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้นหรือไม่มากน้อยเท่าใด

2. รัฐสามารถปรับลดรายจ่ายลงกว่าที่เป็นอยู่ โดยที่ไม่กระทบลักษณะงาน ปริมาณงาน และคุณภาพของงานซึ่งรัฐจำต้องทำเพื่อพัฒนาประเทศ และการปรับลดรายจ่ายในลักษณะนี้ทำได้โดยวิธีเดียวคือการควบคุมมิให้รั่วไหลในขั้นตอนดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการขนาดใหญ่

3. ถ้ารัฐควบคุมการรั่วไหลได้ และควบคู่ไปกับการจัดเก็บภาษีเพิ่มในประเภทที่ยังไม่เคยจัดเก็บ เช่น ภาษีบ้านและที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย เป็นต้น ก็จะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น

ถ้ารัฐดำเนินการตามนัยแห่งเหตุปัจจัย 3 ประการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้เชื่อได้ว่าการก่อหนี้ในภาครัฐจะลดลงได้ในระดับหนึ่งแน่นอน

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้มีแนวนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง จากที่จัดเก็บอยู่แล้วในหลายรูปแบบ ถ้าทำได้ก็น่าจะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง แต่คงจะไม่มากพอที่จะทำให้งบประมาณเกินดุล และที่น่าจะต้องขบคิดให้รอบคอบก่อนจัดเก็บภาษีประเภทนี้ก็คือ เหตุปัจจัยที่จะทำให้การจัดเก็บภาษีประเภทนี้สะดุด และได้ผลดีไม่มากเท่าที่ควรจะเป็นดังต่อไปนี้

1. ก่อนที่จะกำหนดอัตราการเสียภาษีบ้านและที่ดิน สิ่งที่จะต้องทำคือการประเมินราคา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะจัดทำเองหรือว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ

ดังนั้นข้อควรระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ การแสวงหาประโยชน์จากเจ้าของบ้าน และที่ดินซึ่งจะถูกเก็บภาษีโดยการประเมินราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้จ่ายภาษีในอัตราต่ำ ถ้ารัฐบาลควบคุมในส่วนนี้ไม่รอบคอบรัดกุม จะทำให้การจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในทำนองเดียวกันกับการเก็บภาษีแบบเหมาจ่ายจากธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น

2. การจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาเป็นรายจ่ายในการบริหารประเทศ เป็นภาระและหน้าที่ซึ่งรัฐจำเป็นต้องทำก็จริง แต่การจัดเก็บภาษีเพิ่มในภาวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนเนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น เฉกเช่นในขณะนี้นั้นจะทำให้เกิดกระแสต้าน และทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาล และจะนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือในทางการเมืองได้

จากเหตุปัจจัย 2 ประการดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนจะเดินหน้าต่อไปเกี่ยวกับนโยบายนี้

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ดูเหมือนจะยังคงโชคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ประกาศถอยออกไปก่อน และให้กระทรวงการคลังศึกษาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งก่อนจะเดินหน้าต่อไป และพร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบด้วย

อีกประการหนึ่ง ในทางปฏิบัติถ้าเป็นไปได้พร้อมๆ กับการทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาหามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีทุกประเภทให้รอบคอบและรัดกุมทั่วถึง และเป็นธรรมป้องกันมิให้เกิดการรั่วไหล โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้เสียภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้นิติบุคคล

ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อนำมาประกอบกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มประเภทภาษีและอัตราภาษีอันได้แก่ การเก็บภาษีบ้าน และการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ก็น่าจะมากพอที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดการกู้เงินลงได้ในระดับหนึ่ง โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยคงจะไม่เป็นเหมือนหลายๆ ประเทศที่ประสบกับภาวะหนี้สินอันเนื่องมาจากนโยบายประชานิยม และต้องพึ่งพาการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และต้องจำนนต่อเงื่อนไขบังคับให้ต้องเดินตามการชี้นำของกองทุนในภาวะจำยอมเหมือนเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ แต่การที่ประเทศจะรอดพ้นภาระหนี้ได้ คงมิได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของรัฐแต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น