ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 นับเป็นโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งและนับเป็นศุภวาระสำคัญที่ปวงชนชาวไทยจะได้สำนึกในพระกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพและพระจริยาวัตรอันเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งชาวไทยในชาวต่างประเทศ
พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างอันดีเยี่ยมในทุกด้าน ทั้งคุณธรรม จริยธรรม ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีพระวิริยอุตสาหะในการทรงงาน
และที่สำคัญที่สุดคือเป็นเจ้าฟ้าที่มีความเป็นกันเองกับประชาชน ไม่ถือพระองค์ จนสามารถใช้คำว่า “เจ้าฟ้าของคนเดินเดิน” เลยก็ว่าได้
“สมเด็จพระเทพฯ ทรงงดงามด้วยพระจริยวัตรอันงดงาม หากให้พูดถึงความประทับใจในสมเด็จพระเทพฯ นั้นมีทุกเรื่อง เพราะทรงรอบรู้ไปทุกด้านทั้งอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา นักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ (โปรดทดลองสิ่งแปลกใหม่) นักคณิตศาสตร์ (ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการคำนวณตัวเลขอย่างแม่นยำ) ทรงเป็นนักอ่านและนักจดบันทึก ทรงมีสมุดจดบันทึกเป็นพันๆ เล่ม หากจะทรงค้นหาเรื่องไหนก็จะทรงจำได้ว่าจดไว้ในสมุดเล่มไหน ก็จะหาเจอตลอดอย่างไม่น่าเชื่อ รวมถึงทรงมีความคิดตริตรองไม่เชื่อใครง่ายๆ ทรงมีความโอบอ้อมอารี มีความอดทน ขัตติยมานะ ทรงเรียบง่าย ทรงประหยัด และทรงมีน้ำใจ” รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รองประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล (ผู้ที่ทำงานอย่างใกล้ชิด) ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการเปิดตัวหนังสือ “ดั่งดวงแก้ว ส่องสว่าง ทางสายงาม”
อู นยุ่น ส่วย (Nyunt Swe) อดีตเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทยระหว่างปี 2529-2535 เล่าไว้ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในภาษาพม่าชื่อ ‘เอ่หย่า วดี หม้า เจ้าพยา โต้’ และเขาอนุญาตให้มีการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘บันทึกทูตเมียนมาร์ จากลุ่มอิรวดีสู่เจ้าพระยา” ว่าก่อนมารับตำแหน่งทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทยไม่นาน ตนได้รับมอบหมายให้ถวายการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเสด็จเยือนเมียนมาร์ในฐานะราชอาคันตุกะของนายพลเนวิน ผู้นำประเทศในขณะนั้น ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระชนมายุเพียง 31 พรรษา ตนประทับใจในความเรียบง่ายของพระองค์มาก
“แม้จะทรงอิสริยยศเป็นถึงเจ้าฟ้า แต่พระองค์กลับไม่ทรงพะวงกับรูปโฉม ไม่สนพระราชหฤทัยในเครื่องพระสำอางทั้งหลาย ทรงใช้ชีวิตอย่างสามัญ และทรงฉลองพระองค์เรียบง่าย”
อู นยุ่น ส่วย เล่าว่าในระหว่างเสด็จเยือนเมียนมาร์ สมเด็จพระเทพฯทรงสนพระราชหฤทัยในคำบอกเล่าพอๆ กับการจดบันทึก ทั้งยังทรงถ่ายภาพอาหารท้องถิ่นจานต่างๆ ซึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงสอบถามเกี่ยวกับอาหารเหล่านั้น
“ขณะที่พระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงจดบันทึก พระหัตถ์อีกข้างก็ทรงตักอาหารท้องถิ่นเหล่านั้นเสวย”
“สมเด็จพระเทพ” หรือ “พระเทพ” เป็นพระนามไม่เป็นทางการที่คนไทยมักนิยมเรียกขาน และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ในปี 2501 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับอนุบาล ณ โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา
ในปีการศึกษา 2510 ทรงสอบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย(ชั้น ป.7 ในขณะนั้น) ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศ ทรงได้คะแนนรวม 96.6% จึงทรงได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีสำหรับนักเรียนเรียนดีทั่วประเทศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเข็มเรียนดีจากโรงเรียนจิตรลดาเป็นประวัติการณ์พระองค์แรกด้วย
ปี 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป์ โดยทรงสอบไล่ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศในสายศิลป์ จากนั้นสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงสำเร็จการศึกษาโดยได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คะแนนสะสมเฉลี่ย 3.98 เป็นที่หนึ่งของชั้น และได้รับพระราชทานเหรียญทองในฐานะที่ทรงสอบได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มบัณฑิตวิชาเอกสาขาประวัติศาสตร์
“เวลาที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ไปเรียน จะทรงมีพระกระเป๋าใบใหญ่ที่เป็นเหมือนกระเป๋ามหัศจรรย์ เหมือนกระเป๋าโดราเอมอน เพราะมีทุกอย่างอยู่ในนั้น และเพื่อนร่วมชั้นจะทูลฯ ขอใช้เป็นประจำ ทั้ง ปากกา กาว กรรไกร หรือเพื่อนร่วมชั้นเป็นลมก็ทรงมียาดม มาให้เพื่อนร่วมชั้นได้หยิบยืม รวมถึง ดิกชินนารีเล่มใหญ่ จะทรงพกติดอยู่ในพระกระเป๋าเสมอ ถึงแม้จะหนักแต่ก็ทรงถือมาเรียนทุกวัน” ผศ.ดร.สุกัญญา บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระสหายร่วมชั้นเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงความประทับใจสมเด็จพระเทพฯ
หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาต่อปริญญาโท 2 สาขาวิชา ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา 2522 และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี - สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2524
ต่อมา ด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษา หรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา 2529
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทห่างไกลและทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ยังเยาว์พระชันษา ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ทรงทราบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความขาดแคลนอาหารและปัจจัยต่างๆ การขาดบริการสาธารณสุขและการศึกษา จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทรงช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารเหล่านี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มงานพัฒนาในปีพุทธศักราช 2523 โดยทรงทดลองทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 3 โรง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดอาหารและพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หลังจากนั้นได้ทรงขยายงานพัฒนาในด้านอื่นๆอีกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น พร้อมทั้งขยายพื้นที่การดำเนินงานมากขึ้นด้วยโดยโปรดเกล้าฯให้ “ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ” ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ
“เพราะตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ก็เห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงคิดหาวิธีการต่างๆ ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น เมื่อโตขึ้นมา พอมีแรงทำอะไรได้ ก็ทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยทำตามพระราชกระแสหรือทำตามแนวพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่ข้าราชสำนักงานเลขานุการ กปร.เมื่อเดือนธันวาคม 2528(จากหนังสือ “พระทรงเป็นดวงแก้วส่องไทย” หน้า 47)
ปัจจุบันการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 196 แห่ง โรงเรียนและห้องเรียนสาขา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 201 แห่ง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ในสังกัดสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 279 แห่ง โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ และโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 16 แห่ง โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน 25 แห่ง และโรงเรียนและศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเด็กวัยเตาะแตะ ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 39 แห่ง รวมมีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 825 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลปีการศึกษา 2557)
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารียังทรงมีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”
รศ.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษที่ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาทางวิชาการและนิทรรศการ เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 ตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นปราชญ์รอบรู้หลายด้าน ทรงพระราชกรณียกิจมากมาย ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้านักการศึกษา ที่ทรงเชี่ยวชาญด้านการศึกษาอย่างมาก พระองค์ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2523 โดยเริ่มจากโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนไปจนถึงการศึกษาขั้นสูง โดยทรงรับสั่งว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้ เพราะการศึกษาทำให้คนมีความสามารถสูงขึ้น แม้แต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากันแต่ต้องให้โอกาสเท่ากัน และแนวทางดังกล่าวองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ก็ได้ประกาศเป็นปฏิญญา “การศึกษาเพื่อปวงชน” หรือ Education for All อีกด้วย
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเป็นนักปฏิบัติ ลงมือทำและศึกษาทฤษฎีมาประกอบกัน ทรงเห็นว่าการวิจัยสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กระดับอนุบาลและเมื่อถึงระดับบัณฑิตศึกษาจะต้องเป็นงานวิจัยที่มีแบบแผนวิชาการลงลึกรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทรงมีแนวพระราโชบายในการพัฒนาให้ครบทุกด้านทั้งสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่พัฒนาเฉพาะความรู้ในตำราเท่านั้น และทรงย้ำว่าการศึกษาต้องเชื่อมโยงกับชีวิต โดยมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติจริงทุกเรื่อง ทรงรับสั่งว่า หากมีแต่ทฤษฎีไม่ปฏิบัติก็จะทำไม่เป็น ก็จะเป็นวิชาการที่เพ้อฝัน หากปฏิบัติแต่ทฤษฎีไม่เข้มแข็งก็จะเป็นคนที่มีความคิดคับแคบ อีกทั้ง การศึกษาต้องเติมเต็มตามศักยภาพแต่ละบุคคล และเป็นประโยชน์แก่ทุกคน โดยสถานศึกษาสามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน และสังคม ครู อาจารย์ ต้องสวมหัวใจการเป็นนักพัฒนาด้วย รวมถึง พระองค์ยังทรงใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ห่างไกล ผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้ต้องขัง และสามเณร ฯลฯ
“สำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงรับสั่งว่าไม่ใช่เพียงเรียนรู้ลึก แต่ต้องรู้กว้าง เพื่อเชื่อมโยงวิชาการต่างๆ ได้ และที่สำคัญต้องมีจริยธรรม วิชาการ และวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม พระองค์ ทรงพัฒนาบัณฑิตศึกษาในทุกด้าน โดยทรงส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษได้เรียนบัณฑิตศึกษา เพื่อเป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักพัฒนา ทรงพัฒนานักวิจัยและการวิจัยระดับแนวหน้า ทรงบุกเบิกสาขาวิชาใหม่ๆ และสหวิทยาการ ทรงสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีทั้งรุ่นอาวุโสและรุ่นใหม่ ทั้งภายในและต่างประเทศ และทรงส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการ ทรงติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่เสมอ”คุณหญิงสุมณฑากล่าวเทิดพระเกียรติ
และด้วยเหตุที่สมเด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ทรงบำเพ็ญพระราชกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”
นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทั้งนี้ เนื่องเพราะในการสถาปนาพระอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน การสถาปนาพระยศ “สมเด็จพระ” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสถาปนาพระยศของสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระบรมอัยยิกาเธอ พระวิมาดาเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในรัชกาลต่าง ๆ แต่การสถาปนาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ขึ้นเป็น “สมเด็จพระ” จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง
ทรงพระเจริญ พระพุทธเจ้าข้า
ขอขอบคุณ
หนังสือ “ดั่งดวงแก้ว ส่องสว่าง ทางสายงาม ๖o พระอัจฉริยภาพสมเด็จพระเทพฯ แบบอย่างชีวิตที่เก่ง ดี มีสุข” โดยมูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์