xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กต๊อก"ปลุกขรก.ปราบโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26มี.ค.) ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร และเข็มสัญลักษณ์ เครือข่ายภาครัฐต่อต้านการทุจริต ภายใต้โครงการ"ข้าราชการไทยไร้ทุจริต" โดยมีองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมโครงการ กว่า 252 หน่วยงาน
พล.อ.ไพบูลย์ ได้กล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลต่างยกการปราบปรามทุจริต คอร์รัปชัน เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหน เคยเขียนแบบแผนในลักษณะที่รัฐบาลนี้ทำ ข้อสำคัญคือ เมื่อเขียนไปแล้ว จะนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ วันนี้ทุกท่านที่ได้รับเกียรติบัตรไป ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์เลย หากไม่ปฏิบัติ วันนี้เรามีปัญหาเรื่องการปฏิบัติมาก ปีนี้เรามีงบประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท อยากทราบว่า ได้นำไปดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด กี่เปอร์เซ็นต์
เรื่องการปราบปรามการทุจริต หากฝ่ายการเมืองทำแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่อาจสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายข้าราชการ เนื่องจากข้าราชการ เป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ จากดัชนีตัวชี้วัดต่างๆ เราอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนัก รัฐบาลนี้จึงพยายามจะแก้ไขกฎหมาย ในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา ท่านนายกฯ ได้มอบหมายให้ตน ซึ่งอยู่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของคสช. รับผิดชอบดูแล เราต้องการให้กฎหมายเขียนบทลงโทษของฝ่ายบริหาร คือ รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องเขียนตรงนี้ให้ได้ เนื่องจากการทุจริตที่เกิดขึ้น เกิดตั้งแต่ระดับบนสุด คือผู้บริหาร จนถึงระดับล่าง คือผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นลักษณะของระบบอุปถัมภ์
"นักการเมืองที่เข้ามาบริหาร เป็นผู้กำหนดนโยบายให้ข้าราชการไปปฏิบัติ แต่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการ การใช้จ่ายงบประมาณ แต่นักการเมืองมีอิทธิพลต่อการเร่งรัด ดูแลงบประมาณ นักการเมืองบางคนแปลงบประมาณจากงบฯ ที่ไม่ได้ถูกใช้โดยตรง และจงใจที่จะทำ แต่กระบวนการตรวจสอบไปไม่ถึงตัวนักการเมือง เนื่องจากเอกสารทั้งหมดอยู่ที่ข้าราชการ กฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเขียน ซึ่งควรจะออกให้รัฐบาลชุดนี้ได้ใช้ด้วยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ อยากให้เป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรก ที่ได้ใช้ ในฐานะที่มีส่วนรับผิดชอบ" รมว.ยุติธรรม กล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เราพยายามเชิญภาคเอกชน สื่อมวลชนต่างๆ เข้ามาร่วมกันคิดว่า เราจะดำเนินการอย่างไร เราต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ต่อจากนี้ตนจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการผู้มีความผิด ให้ทำการโยกย้าย สู่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง(ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เป็นผู้รวบรวมรายชื่อ เนื่องจากหากเรารอการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ต้องใช้ระยะเวลานาน แต่นโยบายของคสช. คือการนำเอาคนที่มีปัญหาออกจากปัญหา ให้ไปอยู่ตรงจุดอื่น คือใช้มาตรการในการปกครองแก้ไขปัญหา เหมือนกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งนี่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้กระบวนการดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว
"ผมไม่เคยเชื่อว่า การทุจริต คอร์รัปชันจะหมดไปจากโลกนี้ แม้แต่ในหลายๆประเทศ ที่มีอันดับการประเมินสูงกว่าเรา แต่มันต้องไม่ใช่วาระแห่งชาติ อีกต่อไป" รมว.ยุติธรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น