xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันฉุดส่งออกติดลบ6.14%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"พาณิชย์"เผยส่งออกไทยเดือนก.พ.58 ติดลบ 6.14% หลังยอดส่งออกน้ำมัน ทองคำร่วงหนัก ระบุถ้าตัดมูลค่าสินค้าทั้ง 2 ชนิดออก จะทำให้เดือนนี้ติดลบแค่ 2.4% เท่านั้น ยันซื้อทองเก็งกำไร แต่ไม่ส่งออก ฉุดส่งออกภาพรวมร่วงหนัก เชื่อปีนี้ส่งออกไทยยังขยายตัวเป็นบวกได้แน่ แต่จะเท่าใด ขอประเมินตัวเลขไตรมาสแรกก่อน

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนก.พ.2558 มีมูลค่า 17,230 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.14% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับจากเดือนส.ค.2557 ที่ลดลง 7.40% และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 558,292 ล้านบาท ลดลง 6.78% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16,840 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น1.47% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 552,075 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 0.81% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 390 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินดุล 6,217 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกในช่วง 2 เดือนปี 2558 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 34,478 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.121 ล้านล้านบาท ลดลง 4.60% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 34,544.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.69% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.136 ล้านล้านบาท ลดลง 6.40% ส่งผลเกิดดุลการค้า 66.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขาดดุล 15,394.5 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยเดือนก.พ.ลดลงมาก เนื่องจากส่งออกน้ำมันและทองคำลดลง โดยทองคำ มีมูลค่าการส่งออกเพียง 164 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 66% แสดงว่ามีการซื้อเพื่อเก็งกำไร จึงไม่มีการส่งออก แต่ถ้าเดือนไหนที่มูลค่าทองคำเพิ่มขึ้น จะมีการส่งออกทองคำมาก และจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของไทยเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนน้ำมันมีการส่งออกได้มูลค่า 1,778 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.5% ซึ่งหากตัดยอด 2 รายการนี้ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดส่งออกรวม เพราะเป็นยอดที่ควบคุมไม่ได้ ก็จะทำให้เดือนก.พ.การส่งออกจะอยู่ที่ 15,288 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.4% เท่านั้น

น.ส.ชุติมากล่าวว่า หากพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกลดลง 12.5% โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง เช่น ข้าว ลดลง 1.5% ยางพารา ลดลง 38.8% น้ำตาล ลดลง 9.8% และสินค้าที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 7.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 0.9% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกได้ลดลง 3.7% โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกลดลงมาก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลง 26.8% , 20.3% และ 12.3% และยังมีทองคำที่ส่งออกลดลง 66% แต่ก็มีสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่ม 0.4% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 8.2% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพิ่ม 1.9% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 19.9% เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เพิ่ม 12.8% วัสดุก่อสร้าง เพิ่ม 11.8%

ส่วนตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ขยายตัวลดลง โดยญี่ปุ่น ลด11.7% สหภาพยุโรป (15ประเทศ) ลด4.7% อาเซียน (9ประเทศ) ลด8.3% จีน ลด15.1% แอฟริกา ลด 4.6% กลุ่มรีสเซียและซีไอเอส ลด62.7% แต่ตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.1% อินโดจีน เพิ่ม 7% เอเชียใต้เพิ่ม 7.5% เกาหลีใต้ เพิ่ม 16.3% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 7.5% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 0.2% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 3.8% เป็นต้น ซึ่งหากตลาดสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ญี่ปุ่นกับสหภาพยุโรป เริ่มดีขึ้นตามการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ไทยส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ได้ดีขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากการนำเข้าในเดือนก.พ.2558 ที่เพิ่มขึ้น 1.47% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าทุน 3.94% และสินค้าวัตถุดิบ กึ่งสำเร็จรูป 12.70% ทำให้คาดการณ์ได้ว่า การส่งออกในเดือนต่อๆ ไป น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

น.ส.ชุติมากล่าวว่า การส่งออกของไทยที่ลดลง ไทยไม่ได้ลดลงเพียงประเทศเดียว แต่ประเทศอื่นๆ ก็มีการส่งออกที่ลดลงและลดลงมากกว่า เช่น อินโดนีเซีย ลดลง 11.9% อินเดียลด 11.2% สหรัฐฯ ลด 5% ซึ่งจากการประเมินแนวโน้มการส่งออก เท่าที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากทูตพาณิชย์พบว่าสินค้าในภาพรวมมีแนวโน้มส่งออกได้ดีขึ้น ซึ่งหากไทยมีการปรับแผนการทำงาน และเน้นการรักษาการส่งออกไปยังตลาดเก่า และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้น ก็จะผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้เป็นบวกได้อย่างแน่นอน แต่จะบวกเท่าไร จะเป็นไปได้ตามเป้า 4% หรือไม่ ต้องรอดูตัวเลขไตรมาสแรกก่อน ถึงจะมาประเมินได้

สำหรับแนวทางการผลักดันการส่งออกของไทย กระทรวงพาณิชย์มีแผนและกิจกรรมผลักดันการส่งออก ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่จะเพิ่มการผลักดันการส่งออกให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้มากขึ้น โดยล่าสุดได้จัดทำโครงการพี่จูงน้องเพื่อพา SMEs ไปบุกเจาะตลาด การสนับสนุนให้มีการซื้อขายผ่านออนไลน์ รวมทั้งจะเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก โดยจะเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาแก้ปัญหา เพื่อให้การส่งออกคล่องตัวมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น