xs
xsm
sm
md
lg

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรือโนอาที่กำลังจะล่มเพราะประชานิยม แต่จะรอดได้ด้วยแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

ศาสตราจารย์ ดร นพ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย


ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยเฉพาะ ๓๐ บาทรักษาได้ทุกโรคเป็นระบบสุขภาพเปรียบเสมือนเรือโนอาที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรับบริการจาก โรงพยาบาลอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามถ้าปล่อยให้การบริหาร โครงการ ๓๐ บาท เป็นอย่างในปัจจบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้เขียนเชื่อว่า ระบบสุขภาพของไทยจะล่มลงอย่างแน่นอน และอาจทำให้สังคมไทยเข้าสู่กลียุค ดัชนีที่ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ “การขาดทุนของโรงพยาบาลของรัฐ” ที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง ถึงตรงนี้ผู้อ่านคงจะจินตนาการได้ว่า การขาดทุนของโรงพยาบาลจะส่งผลให้ผู้บริหารโรงพยาบาลนั้นๆลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง เช่น ลดบุคลากร ลดการสั่งซื้อยา และชุดตรวจต่างๆ หมายความว่า งานบริการทางการแพทย์ก็จะลดลง และเหมือนกับบริษัทที่ขาดทุนทั่วๆไป ถ้าการขาดทุนนี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง โรงพยาบาลนั้นๆก็ต้องหยุดให้บริการในที่สุด

สาเหตุของการขาดทุน

ในระยะแรกๆ โครงการ ๓๐ บาทยังให้บริการไม่ทั่วถึง ต่อมาโครงการ ๓๐ บาทได้แพร่หลายจนอาจจะกล่าวได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และ โครงการ ๓๐ บาท อย่างไรก็ดี เนื่องจาก โครงการ ๓๐ บาทเป็นโครงการประชานิยมของรัฐบาลในระบอบทักษิณ ทำให้ต้องพยายามหาเสียงโดยการให้สิทธิในการรักษามากกว่าค่าใช้จ่ายจริงที่ สปสช สามารถจัดสรรให้ทางสาธารณะสุขได้ นอกจากนี้การปลูกฝังระบอบประชานิยมทำให้ผู้ใช้บริการมักจะเรียกร้องบริการเกินความต้องการเสมอๆ สุดท้ายจากการที่แพทย์และบุคลากรที่มีน้อยกว่าความต้องการทำให้ โรงพยาบาลต้องจัดหา แพทย์และบุคลากรเพิ่มด้วยตนเอง ในขณะที่งบประมาณที่ สปสช จัดให้จัดตามจำนวนผู้ลงทะเบียนรับบริการ ดังนั้นการขึ้นเงินเดือนของแพทย์และบุคลากรเหล่านี้จึงกลายเป็นปัจจัยเพิ่มภาวะขาดทุน เพราะงบประมาณที่ สปสช จัดสรรมีปริมาณคงที่

แนวทางการแก้ไข

การเพิ่มงบประมาณไม่ใช่ทางออก เพราะท้ายที่สุดก็จะถึงทางตัน อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เคยทำนายไว้อย่างคร่าวๆว่า งบประมาณของ สปสช จะพุ่งถึง สองแสนล้านบาทภายในสิบปี และจะเป็นภาระของงบประมาณของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามรัฐยังน่าจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้แก่ระบบประกันสุขภาพได้อีกนานพอสมควร การเปลี่ยนแปลงจึงสามารถที่จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จากการปรึกษาเพื่อนแพทย์ บุคลากร และผู้เกี่ยวข้องหลายท่านทำให้ผู้เขียนสามารถสรุปได้ว่า”ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหนทางแก้ไขที่จะทำให้เรือโนอาสุขภาพของไทยขับเคลื่อนได้อย่างมั่นคงตลอดไป พวกเราเห็นว่า ระบบประกันสุขภาพควรจะดำเนินไปได้ด้วยดี มั่นคงและพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรจะบริหารด้วยพื้นฐานการบริการที่เป็นสวัสดิการของรัฐ บนข้อมูลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีความพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย และมีภูมิคุ้มกัน (ไม่เกิดสภาวะ โรงพยาบาลขาดทุนอย่างในปัจจุบัน)

ผู้เขียนขอเสนอแนวทางโดยเน้นที่บุคลากรและงานบริการ

บุคลากร


ตามแนวทางการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้บริการทั่วถึง เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่จะต้องจัดหา แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ให้เพียงพอ เหมาะสมแก่ความต้องการ ในส่วนนี้ไม่ควรเป็นภาระของงบประมาณในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

งานบริการ

งานบริการควรทำอย่างมี เหตุผล มีความพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย และมีภูมิคุ้มกัน

• เหตุผล หมายความว่าการจัดการระบบสาธารณสุขควรจะทำตามข้อมูลในภาพกว้าง และจำเพาะในท้องถิ่น การกำหนดเขตสาธารณสุขจะทำให้มีประสิทธิภาพ เพราะความรู้ ข้อมูล จะนำไปสู่การนำไปใช้อย่างทันท่วงที

• พอเพียงและมีภูมิคุ้มกัน ประกันสังคม และ โครงการ ๓๐ บาทมีความต่างกัน ประกันสังคมจะจ่ายร่วมกันสามส่วน ผู้จ้างงาน ผู้รับบริการ และรัฐ โดยลักษณะนี้เป็น ภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่งเรียกว่า ร่วมจ่าย หรือ co-pay ทำให้เป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐลง ในสถานภาพปัจจุบัน ประกันสังคมบริหารโดยมีความพอเพียงและมีภูมิคุ้มกันมากกว่า เช่น มีการกำหนดโรคที่ไม่ครอบคลุม และมีการกำหนดขอบเขตการรักษามากกว่า ๓๐ บาท ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดขอบเขตการให้บริการผู้ป่วยในระบบ ๓๐ บาท เช่นกัน

ในกรณี ร่วมจ่ายของ โครงการ ๓๐ บาท น่าจะทำได้ยาก เพราะโครงการ ๓๐ บาทเน้นให้บริการแก่ผู้มีรายได้น้อย หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการ ร่วมจ่าย ผู้เขียนและเพื่อนแพทย์ขอเสนอให้ ผู้ใช้บริการในโครงการ ๓๐ บาท ร่วมจ่ายในลักษณะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแทน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อ ลดโรคตัวเองทำและรักษาโรคหรือลดความรุนแรงของโรคหรือลดการพึ่งพายารักษาด้วยการปรับพฤติกรรม

• ลดโรคตัวเองทำ เช่น ลดเหล้า เลิกบุหรี่ ใส่หมวกกันน็อก ข้ามถนนบนทางม้าลาย ไม่รับประทานปลาดิบจากน้ำจืด ลดชาเขียวใส่น้ำตาล เป็นต้น

• รักษาโรคหรือลดความรุนแรงของโรคหรือลดการพึ่งพายารักษาด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น ชนิดอาหารและการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานหรือความดันสูง

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ มาตรการที่จะนำมาใช้ให้เป็น co-pay เช่น ลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ซื้อบุหรี่ และ ลดสิทธิการรักษาถ้ามีประวัติสูบบุหรี่ เป็นต้น หรือ ลงทะเบียน ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะเพื่อรักษาสิทธิ ๓๐ บาท เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า มาตรการ co-pay ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้เป็นมาตรการที่ดี แต่มีอุปสรรค ได้แก่ การต่อต้านจากผู้รับบริการ และความยุ่งยากในการบริหารจัดการ การต่อต้านจากผู้รับบริการจะลดลงได้ถ้าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลา เช่น ให้เวลา ๑ ปีในการทราบถึงข้อกำหนดนั้นๆ ส่วนความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ผู้เขียนเชื่อว่า สปสช สสส และ สธ มีคนเก่งมีความสามารถมากมาย น่าจะหาทางบริหารจัดการให้เกิดขึ้นได้ ผู้เขียนทราบดีว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นความพยายามของทุกฝ่ายทางสาธารณสุขได้มีความพยายามอย่างสูงเพื่อให้ประสบความสำเร็จ การนำเงื่อนไข co-pay มาใช้อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดสุขภาพดีถ้วนหน้าอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น