ปล่อยออกมาแล้ว มาตรการตีเส้นซิกแซ็กเตือนทางม้าลาย เพื่อขจัดปัญหารถชนคนตาย! เล็งเพิ่มอีก 936 จุด เป็นเหตุให้คนเดินถนนตั้งคำถามกลับมาว่าหากคนขับไม่เคารพทางม้าลาย แล้วเส้นซิกแซ็กจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน? และปัญหานี้อยู่ที่คนมองไม่เห็นทางม้าลาย หรืออยู่ที่จิตสำนึกของคนขับที่ไม่ตั้งใจจะหยุดรถตั้งแต่แรกกันแน่?
“เส้นซิกแซ็ก” ทางรอดใหม่ของคนเดินถนน?
สังเวยชีวิตกันไปแล้วหลายรายกับโศกนาฏกรรมจากการข้ามถนนบนทางม้าลาย ที่แก้เท่าไหร่ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำซากอยู่นับครั้งไม่ถ้วน จนหลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า การข้ามถนนในเมืองไทยนั้น มีทางม้าลายไว้เพื่ออะไร ทั้งที่ข้ามถนนแบบถูกกฎจราจรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่ดี จะหาความปลอดภัยจากทางม้าลายไม่ได้เลยหรือ?
ด้วยเหตุนี้เองทางกรุงเทพมหานคร จึงได้ออกมาตรการ การป้องกันอุบัติเหตุบนทางม้าลาย โดยออกแบบเส้นเตือนทางม้าลาย เพราะผู้ขับขี่มักมองสัญลักษณ์คนข้าม ทางม้าลาย หรือสัญญาณไฟจราจรไม่เห็น จนทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนคนขณะเดินข้ามบนทางม้าลาย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง
โดยลักษณะของการตีเส้นดังกล่าว จะเป็นเส้นหยักซิกแซ็ก เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดความสะดุดตา และยังเป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้ขับขี่ระวังในระยะ15เมตร ก่อนถึงเขตทางข้ามม้าลาย โดยการตีเส้นลักษณะนี้จะทำให้ผู้ขับขี่เกิดความรู้สึกว่า ช่องจราจรแคบลงและลดความเร็ว และหยุดรถโดยอัตโนมัติ
การตีเส้นซิกแซ็กนี้ จะทำควบคู่ไปพร้อมกับเส้นชะลอความเร็ว ลูกศร และข้อความลดความเร็วเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่รถชะลอ และลดความเร็วลงพร้อมที่จะหยุด หรือปฏิบัติตามสัญญาณไฟเพื่อให้คนข้ามถนนได้ข้ามถนนอย่างปลอดภัยเป็นเครื่องหมายเตือนอีกทางหนึ่ง
ขณะนี้ ได้ทดลองตีเส้นดังกล่าวไปแล้วที่ถนนดินสอ ถนนโดยรอบศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และถนนอโศกมนตรี ก่อนจะขยายไปยังถนนสายอื่นๆ อีก 936 จุด และนอกจากจะมีการตีเส้นซิกแซ็กแล้ว ยังมีการตีเส้นชะลอความเร็ว ลูกศร และข้อความลดความเร็ว เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถทราบว่าใกล้ถึงทางข้ามแล้ว เพื่อคนข้ามจะได้เดินข้ามอย่างปลอดภัย
ทางด้าน อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร รับผิดชอบเกี่ยวกับการจราจรและขนส่ง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือพิมพ์สำนักหนึ่งว่า การตีเส้นถนนซิกแซ็กเพื่อชะลอความเร็วของรถยนต์นั้น ได้นำต้นแบบมาจากทางข้ามมาลายประเทศอังกฤษซึ่งสัญลักษณ์นี้ เป็นสัญลักษณ์การจราจรสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศอังกฤษเท่านั้น ประเทศศรีลังกาและสิงคโปร์ก็ใช้สัญลักษณ์นี้เช่นกัน และเหตุที่ต้องนำมาใช้กับถนนในประเทศไทย เป็นเพราะเกิดอุบัติเหตุจากการข้ามถนนบนทางม้าลาย
เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้งเนื่องมาจากสาเหตุการขับรถเร็ว ผู้ขับขี่บางท่านมักอ้างว่ามองสัญญาณเตือนคนข้ามทางม้าลายไม่เห็น หรืออ้างว่าสัญญาณไฟจราจรอยู่สูงเกินไป เพราะฉะนั้น โครงการตีเส้นซิกแซ็กก่อนถึงทางม้าลายนั้น น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพราะถึงแม้ผู้ขับขี่จะมองไม่เห็นสัญญาณไฟ แต่ก็ต้องมองถนนอยู่ดี ซึ่งก็น่าจะช่วยให้คนขับรถระมัดระวังมากขึ้น และชะลอรถเมื่อถึงจุดเส้นซิกแซ็กก่อนถึงทางม้าลายได้
หากประชาชนเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์ ขอให้แจ้งเข้ามาที่ กทม. เพื่อจะจัดทำเส้นซิกแซ็กเตือนทางม้าลาย หรือสัญญาณไฟหยุดให้ข้ามถนนต่อไป โดยทั้งหมดนี้เป็นนโยบายจากท่านผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการให้ประชาชนคนเดินถนนและผู้ขับรถใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย
ไม่มีความหมายถ้าไม่มี “จิตสำนึก”
จากอุบัติเหตุการข้ามทางม้าลาย หลายคนอาจมองว่าการตีเส้นซิกแซ็กนี้มี ดีกว่าไม่มี แต่จะสร้างความสบายใจให้กับคนข้ามถนนได้จริงหรือ? เมื่อการตีเส้นซิกแซ็กช่วยให้ชะลอได้แต่ถ้ารถไม่จอดก็จบอยู่ดี
จากประเด็นดังกล่าว ทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive จึงได้สอบถามไปยัง พ.ต.อ.วันชัย อยู่แสง รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกสัมภาษณ์มีความเห็นในเชิงเห็นด้วย แต่จะได้ผลหรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันต่อไป
“ถ้ามีมาตรการอะไรมาเพื่อช่วยเสริมความปลอดภัยมันก็ดีขึ้นนะ เพียงแต่ว่าก็ต้องเลือกให้มันเหมาะสม ทั้งนี้ทางกรุงเทพมหานครเขาได้เลือกสรรมาก็คิดว่าคงจะเหมาะสมและช่วยได้ในระดับหนึ่งครับ
เพราะมันเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ มันไม่ใช่เครื่องหมายจราจรทางกฎหมาย เป็นเครื่องหมายเตือนเหมือนอย่างที่เขาทาสีพื้น เพื่อให้เวลารถวิ่งแล้วเกิดความชะลอให้ช้าลง
มันก็เป็นมาตรการที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ตื่นตัวขึ้นได้บ้าง แต่จะได้ผลขนาดไหนก็ต้องดูกันอีกทีว่าพฤติกรรมของคนไทยจะยอมรับและใส่ใจในเรื่องพวกนี้ขนาดไหน”
กฎหมายจราจรเป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเคารพและปฏิบัติตาม หากไม่มีสัญญาณไฟเตือนทางม้าลาย รถทุกคันก็ต้องชะลอและหยุดให้คนข้ามเหมือนกัน
“จริงๆ มันเป็นในเรื่องของสัญญาณและเครื่องหมายจราจรที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม คือจริงๆ ทางม้าลายถ้าไม่มีสัญญาณไฟเวลาคนข้ามก็ต้องหยุดรถนะครับ แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของวินัยการจราจรความเคารพต่อกฎหมายการจราจรของผู้ขับขี่
คือถ้าเขาไม่มีวินัยการจราจร ถึงขนาดเอาเครื่องหมายที่มีผลบังคับทางกฎหมายไปติดแล้วยังไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น เครื่องหมายเตือนมันก็เลยอ่อนกว่า แต่ก็มีเสริมมาก็น่าจะดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องนี้มันไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย มันเป็นสัญญาณเตือนเฉยๆ ครับ”
ต่อข้อซักถามที่ว่า มีการตีเส้นซิกแซ็กเพื่อลดอุบัติเหตุแล้ว แต่หากยังมีผู้ฝ่าฝืน ทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมา จะมีการเพิ่มโทษกับผู้ขับขี่หรือไม่
“แค่ชนคนที่ข้ามถนนทางม้าลายโดยไม่มีสัญญาณเตือนอะไร ก็ถือว่าผิดแล้ว อัตราโทษเท่ากันความผิดเดียวกัน เพียงแต่ว่าอุบัติเหตุมันใช้ความระมัดระวังมากขนาดไหน ขนาดมีเครื่องหมายเตือนมากๆ ขนาดนี้ยังไปชนเขา ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเลย
ตอนนี้ตรงแถวเส้นอโศกการที่มีสัญญาณไฟก็ถือว่าเป็นวิธีการป้องกันที่สูงสุดแล้วนะ สัญญาณไฟจราจรถือเป็นอะไรที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งคัด และการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ที่ขับขี่บนท้องถนนถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องวินัยจราจร มันเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังให้อยู่ในสายเลือด มันจะได้ทำให้อุบัติเหตุลดลงได้ และการจราจรก็จะดีขึ้น” รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวทิ้งท้าย
คนข้ามถนนยังคง ผวา! ทางม้าลาย
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2557 ถือเป็นความสูญเสียส่งท้ายปีสำหรับเหตุการณ์รถฝ่าไฟแดงพุ่งชนพนักงานสาวแกรมมี่ จนเสียชีวิตบริเวณหน้าตึกแกรมมี่ย่านอโศก เหตุการณ์ที่น่าสลดนี้เองทำให้พนักงานออฟฟิศย่านอโศกต่างพากันถือธงแดงข้ามถนน เพื่อวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาแก้ไขตำแหน่งสัญญาณไฟ ให้มีความปลอดภัยมากกว่าที่เป็นอยู่
หลังสัญญาณไฟทางเดินขัดข้อง ทำให้รถที่วิ่งผ่านมามองไม่เห็นสัญญาณไฟจราจร เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยเกิดอุบัติเหตุจนมีคนบาดเจ็บสาหัสมาแล้วหลายครั้ง เมื่อประเด็นข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ต่างมีคำถามกลับมามากมายว่าควรปรับปรุงเรื่องวินัยการจราจรในเมืองไทยเสียใหม่ดีหรือไม่
เพราะหลายคน ขับรถอยู่ในความประมาท ทั้งการขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดง และยังมีเพียงไม่กี่คันที่หยุดให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าทางม้าลายในประเทศไทยไม่มีความหมายและไม่สามารถทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรู้สึกเคารพได้อย่างในต่างประเทศ
เหตุดังกล่าวนี้เอง จึงเกิดกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาในโลกออนไลน์ ผู้คนต่างไม่เห็นด้วยกับการจราจรของเมืองไทย บ้างก็ว่าเรื่องแบบนี้มันควรจะอยู่ที่จิตใต้สำนึกว่าอะไรควรหรือไม่ควร
“คือมันไม่ยอมอยู่ในสำนึกเสียทีไง ไอ้เรื่องขับรถผ่านทางม้าลายเนี่ยจริงๆ มันต้องขับช้าๆ จนแทบจะคลานไปเลยด้วยซ้ำ บ้านเรามันขับผ่านกันฉิวๆ ยังกับเห็นคนรอข้ามเป็นแค่เสาไฟฟ้า” ข้อความจากสมาชิกเว็บไซต์พันทิปหมายเลข 1012998
บ้างก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับจิตสำนึก แต่เป็นเพราะกฎหมายบ้านเราไม่แรงพอที่จะทำให้ประชาชนเคารพได้ อีกทั้งตำรวจยังให้ความสนใจกับเรื่องอื่นมากกว่า
“ผู้บังคับใช้กฎหมาย 'ตำรวจ' ไม่แข็งแกร่งไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้แต่ไปให้ความสนใจกับ หมวกกันน็อก ใบขับขี่ พ.ร.บ. ทะเบียน ถ้าตำรวจเอาจริงๆ แบบผิดปรับ จับจริงมันจะเกิดกระแสกลัวการทำผิดเหมือนต่างประเทศที่กฎหมายรุนแรงมาก
ปล.ไม่ได้เกี่ยวกับจิตสำนึกครับ ฝรั่งมาเมืองไทยเขาก็ทำตามแบบคนไทย ย้อนศร ไหลไฟแดงตามคนไทยเหมือนกัน นั่นเพราะ กฎหมายไม่สามารถที่จะจัดการได้ ตำรวจก็ทำงานแบบขอไปที” ข้อความจาก 'ดวงอีเกิ้ง' สมาชิกเว็บไซต์พันทิป
จะเห็นได้ว่าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย จำนวนไม่น้อยต่างแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ และอยากให้เพิ่มโทษทางกฎจราจรให้มีความรุนแรงมากขึ้นและปลูกฝังให้คนไทยมีวินัยการจราจร เพราะไม่เช่นนั้นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท คงคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไม่รู้จักจบสิ้นเสียที
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754