xs
xsm
sm
md
lg

กทม.-บช.น.เงียบปัดรับผิด กรณีสาวแกรมมี่ตายคาม้าลาย จัดฉากเอาดังยก “อโศกมนตรีโมเดล” แล้วชิ่ง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กลายเป็นเรื่องเศร้าประเทศไทยไปแล้ว กรณี “วิเวียน” สาวแกรมมี่ถูกขยี้คาม้าลาย เจอเหตุตรึมทั้งความไม่เหมาะสมของสัญญาณไฟอัจฉริยะ กับพฤติกรรมมักง่ายคนขับรถ ยังเจอขบวนการ “เอาดัง” กวาดวินัยจราจร เตรียมยกเป็นถนนโมเดลแต่พอเกิดเรื่องเงียบกริบ แถมสะพานลอยสร้างไม่ได้เจอกลุ่มผลประโยชน์ต้าน สุดท้ายจบที่ชีวิตคนไทยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

แม้ร่างอันไร้วิญญาณของ น.ส.กาณจน์ภัสร์ ศิริประทุม หรือ วิเวียน ครีเอทีฟรายการ 2 สาวเล่าเรื่องของบริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด จะถูกนำกลับไปยังมาตุภูมิแล้ว แต่อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นยังคงเป็นประเด็นร้อนในสังคมเมืองหลวงมีการแตกประเด็น สืบค้นถึงสาเหตุและแนวทางป้องกันเพื่อมิให้เกิดเรื่องเศร้าสลดใจอีกต่อไป

เมื่อกลับไปดูข้อมูลต่างๆ ที่สื่อหลายแขนงนำเสนอทั้งในส่วนของความประมาทของโชเฟอร์ขับรถบรรทุก 4 ล้อ ยังรวมไปถึงการตรวจพบปัสสาวะสีม่วง และสารภาพภายหลังว่าเสพยาบ้ามาด้วย ยิ่งทำให้เกิดความหวาดวิตก เรียกว่าถึงกับช็อกความรู้สึกของสุจริตชนกันเลยทีเดียว เพราะไม่ใช่เรื่องของความประมาทเท่านั้นแต่ยังมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

จึงเกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาลนั้นมีปัญหาอะไรหรือไม่ จำนวนผู้เสพมีจำนวนมากขึ้นหรือลดน้อยลง และที่สำคัญ ระบบตรวจสอบสารยาเสพติดกับกลุ่มเสี่ยงที่จะไปสร้างความเดือดร้อนกับสุจริตชนอื่นๆ ดังเช่น โชเฟอร์รายนี้ผ่านการรับเข้ามาเป็นลูกจ้าง และผ่านขั้นตอนอื่นๆ มาได้อย่างไร

อย่าลืมว่า เส้นทางที่ขับขี่ผ่านย่านธุรกิจ ย่านใจกลางเมืองหลวง ดูเหมือนว่าระบบการตรวจสอบ หรือป้องกันกลุ่มเสี่ยงต่อยาเสพติดไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย

ขณะเดียวกัน ยังมีภาพอื่นๆ อีกหลายมิติที่จะต้องติดตามกันอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของปัญหาทางเทคนิคของ “ระบบสัญญาณไฟคนเดินข้ามถนนอัจฉริยะ” ว่า มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมสังคมไทยมากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ บนท้องถนน จนหลายความเห็นที่โพสต์ผ่านมาในโลกโซเชียลฯต่างมองคล้ายๆ กันว่าคนไทยบางส่วนซึ่งอาจจะเป็นส่วนน้อยแต่ก็มีความมักง่าย เห็นแก่ตัวจนเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหาการจราจรที่ยังแก้ไม่ตก เช่น ข้อมูลยืนยันจาก รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงส์ทอง แห่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำนองว่า

“สัญญาณไฟพาคนข้ามถนนอัจฉริยะ” ล้มเหลว ทั้งไม่ช่วยให้ปลอดภัย ไม่ช่วยให้รู้สึกสะดวกสบาย ไม่ช่วยให้ลดเวลา และร้ายที่สุดคือ 47.7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนรอบการข้ามถนนมีผู้ขับขี่ไม่ยอมหยุดรถ

เท่ากับเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แบบ 50/50 ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ และไม่มีทางเป็นไปได้ยกเว้นที่เดียวคือประเทศไทย

สำหรับถนนอโศกมนตรี อันเป็นต้นเรื่องเศร้าสะเทือนใจนั้นยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ควรหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของ 2 หน่วยงาน คือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการระดมกวดขันวินัยการจราจร ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนและคนข้ามเคารพกฎและสัญญาณจราจรเพื่อความปลอดภัย

เฉพาะถนนอโศกมนตรี คึกคักไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจน้อยใหญ่ ยังรวมไปถึงข้าราชการจากกรุงเทพมหานคร มาร่วมรณรงค์ปรากฏเป็นข่าวทั้งทางจอโทรทัศน์ และหน้าหนังสือพิมพ์ เรียกว่าประสบความสำเร็จในด้านประชาสัมพันธ์อย่าล้นหลาม แต่ในความเป็นจริงหลังจากวันนั้นบรรดาผู้ใช้รถใช้ถนนต่างก็กลับมาใช้พฤติกรรมเดิมๆ อาจจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งโต๊ะปรับคนที่ไม่ข้ามทางม้าลายบ้างรายละ 100 - 200 บาท แต่รวมความแล้วการรณรงค์ที่ผ่านมาก็คือการโรยหน้าผักชี ไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่องและมองข้ามมัจจุราชใกล้ตัวอย่างไม่น่าให้อภัย

มัจจุราชที่ว่าก็คือ ระบบสัญญาณไฟคนเดินข้ามถนนอัจฉริยะ ที่ออกแบบไว้สำหรับสังคมอารยะ การนำมาผิดที่ผิดพฤติกรรมของมนุษย์พันธุ์ไทยบางคนจึงกลายเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะคนข้ามเองส่วนมากก็มีความเชื่อมั่นในทางม้าลาย เชื่อมั่นในระบบสัญญาณไฟ และเชื่อมั่นกับทางการที่อุตส่าห์รณรงค์จนถึงขั้นจะยกให้เป็น “อโศกมนตรีโมเดล” แต่ด้วยระบบแบบไทยๆ ข้าราชการนิยมขายผักชีแบบไทยๆ จนเกิดเรื่องเศร้าสะเทือนใจขึ้น

อุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตในครั้งนี้จึงมีหลายฝ่ายที่ควรตกเป็นจำเลยสังคมซึ่งแน่นอนว่าคนขับขี่ยวดยานจะต้องมาเป็นอันดับ 1 แต่ผู้เกี่ยวข้องรายต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็น สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส. กทม.) ในส่วนของตำรวจที่ตัองเอ่ยนาม อาทิ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา สบ10 พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รอง ผบช.น.ดูแลการจราจร พล.ต.ต.วีระพัฒน์ ตันศรีสกุล ผบก.จร. ต้องมีส่วนบกพร่องบ้างไม่มากก็น้อย

เหล่านี้คือตัวตั้งตัวตี คือหัวโจทก์ในการรณรงค์วินัยการจราจร แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ อุบัติเหตุร้ายแรงคร่าชีวิต วิเวียน ตายคาทางทางลาย ตายคาระบบสัญญาณไฟคนเดินข้ามถนนอัจฉริยะ ท่านทั้งหลายไม่เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นหรือ อาจจะคิดในมุมกลับว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำตัวเป็นคนเจ้าระเบียบ ไม่บงการประชาชนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีลมหายของสาวแกรมมี่อาจยังคงยืนยาวต่อไปจนหมดอายุขัย จงอย่าเอ่ยว่าท่านทำด้วยเจตนาดี เพราะเจตนาดีที่ขาดความรอบครอบย่อมไม่ต่างกับหยิบยื่นอันตรายให้กับเขา

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับหลายชีวิตบนถนนอโศกมนตรี หากไม่พูดถึง “กลุ่มรักษ์อโศก” ก็คงไม่ครบถ้วนกระบวนความทั้งหมด “กลุ่มรักษ์อโศก” คือใคร ตอบอย่างไม่ต้องเกรงใจใครก็คือกลุ่มผลประโยชน์ในหลายรูปแบบของย่านนั้น ทั้งเจ้าของอาคาร บริวารว่านเครือที่ประกอบกิจการทั้งหลายทั้ง 2 ฝากฝั่งอโศก ก่อนหน้า กทม. เคยมีอภิมหาโปรเจกต์นับแสนล้าน จะสร้างถนนระยะทาง 3 - 4 กม. คร่อมถนนอโศกมนตรี จากสุขุมวิท ตัดเพชรบุรี ยันไปถึงพระราม 9 แต่ถูกกลุ่ม “รักษ์อโศก” คัดค้านอย่างหนัก แม้แต่สะพานลอยก็ยังไม่ให้สร้าง โดยให้เหตุผลว่าทำให้เสียฮวงจุ้ย และเป็นที่แพร่หมักหมมของแบคทีเรีย

ทุกเรื่อง ทุกประเด็น และทุกปัญหาแม้มิใช่ญาติ มิใช่เพื่อนของวิเวียน แต่ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมไม่แน่ว่าสักวันอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ “อโศกมนตรีโมเดล” โมเดลดราม่าประเทศไทยจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น