xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มค่าไฟจูงใจเลื่อนโรงไฟฟ้าช่วงก๊าซพม่าหยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เรกูเลเตอร์”เล็งจูงใจเอกชน-กฟผ.เพิ่มค่าไฟรับซื้อเพื่อให้เลื่อนโรงไฟฟ้าเกลี่ยสำรองไฟไม่ให้พุ่ง 40%ช่วงปี 66 ส่วนอัตรากำลังพิจารณาชี้ไม่มากและจะไม่มีผลให้ค่าไฟสูงขึ้นไปจากเดิมแน่ พร้อมจับมือ3การไฟฟ้าและเอกชนลดใช้ไฟช่วงก๊าซพม่าหยุดชดเชยให้ 3บาท/หน่วย ยันค่าไฟงวดใหม่ยังลดต่อ

นายไกรสีห์ กรรณสูต คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เรกูเลเตอร์ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวกลางเจรจาภาคเอกชนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในการเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือPDP2015 (ปี2558-78) กำลังพิจารณามาตรการจูงใจให้เอกชนและกฟผ.เลื่อนโรงไฟฟ้าออกไปโดยการให้อัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าในช่วงปี 2566-68 ที่จะสูงถึง 40-42% ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องและการบรรจุแผนพัฒนาและอนุรักษ์พลังงานเข้ามาเพิ่ม

“เรากำลังพิจารณาอยู่ว่าจะให้ค่าไฟเพิ่มอย่างไรแต่หลักการคือจะต้องไม่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น คือจะคิดบนพื้นฐานที่หากสำรองไฟสูงระดับ 40-42% ในช่วงปี 2566 จากปกติสำรองควรอยู่ระดับ 15-20% ส่วนเกินจะเป็นภาระให้ค่าไฟให้สูงขึ้นได้ดังนั้นการเลื่อนออกไปและมีค่าไฟเพิ่มเล็กน้อยแต่ทำให้ภาพรวมค่าไฟไม่ได้เพิ่มจากเดิม”นายไกรสีห์กล่าว

อย่างไรก็ตามการเจรจาเพื่อเลื่อนโรงไฟฟ้าในการลดสำรองที่สูงดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจาและในวันที่ 19 มี.ค.นี้จะหารือกันอีกครั้งหนึ่งโดยยอมรับว่าการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติในปัจจุบันดังนั้นจึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำประชาพิจารณ์PDP ได้ภายในมี.ค.นี้หรือไม่ โดยการเจรจายอมรับว่าเป้าหมายหลักจะอยู่ที่โครงการขนาดกำลังผลิตมากๆ เช่นโรงไฟฟ้าของกฟผ.และโรงไฟฟ้าเอกชนโดยเฉพาะโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP ) ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ จำนวน 5,000เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564-67 ซึ่งทางกัลฟ์ฯขอให้หารือกับผู้ร่วมทุนก่อนคาดว่าจะสรุปได้เร็วๆ นี้ ส่วนกฟผ.นั้นหลักๆ ได้ขอเจรจาให้เลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาหน่วยที่ 2 ออกไปก่อน รวมถึงโรงไฟฟ้าทดแทนวังน้อยหน่วยที่ 1 และ 2 เป็นต้น

“โครงการผู้ผลิตไฟรายเล็กหรือ SPP ที่จะมีแผนเข้าระบบระหว่างปี 2559-2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 36 ราย รวมกำลังผลิตกว่า 3.24 พันเมกะวัตต์ เจรจาไปแล้วโดยเอกชนที่ยืนยันเลื่อนเข้าระบบมีจำนวน 5-6 ราย ซึ่งทั้งหมดจะมีการสรุปเร็วๆ นี้อีกครั้ง”นายไกรสีห์กล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการและโฆษกเรกูเลเตอร์กล่าวว่า ได้ ร่วมกับกฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงเข้าร่วมเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) หรือ DR ครั้งที่ 1/2558 ช่วงก๊าซยาดานาจากพม่าหยุดซ่อมบำรุง 10-19 เม.ย. และซอติก้า 20-27 เม.ย. โดยเปิดให้เอกชนเซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟรายใหญ่เกิน 100 เมกะวัตต์ลงทะเบียนกับ 3 การไฟฟ้าเพื่อเข้าร่วม DR ซึ่งจะกำหนดอัตราชดเชยค่าไฟ 3 บาท/หน่วย

“ เราตั้งเป้าที่จะมีคนร่วม 500 เมกะวัตต์ แต่จะให้สมัครได้สูงสุด 700 เมกะวัตต์ เบื้องต้น กฟผ.คาดมีลูกค้าเข้าร่วม 70-80 เมกะวัตต์ กฟน. 157 เมกะวัตต์ ส่วน กฟภ.คาดมีลูกค้าเข้าร่วม 200 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพรวมต้นทุนการผลิตไฟจะเพิ่มจากการหยุดซ่อมก๊าซแต่ภาพรวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft งวดใหม่(พ.ค.-ส.ค.58)จะยังลดลงจากราคาก๊าซฯที่ลด “นายวีระพลกล่าว

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่ากฟผ. กล่าวว่า กรณีที่ก๊าซพม่าหยุดจ่ายหากไม่มีโครงการ DR จะทำให้กฟผ.ต้องผลิตไฟจากน้ำมันเตา 130 ล้านลิตร ดีเซล 56 ล้านลิตร เป็นเงิน 4,547 ล้านบาทคิดเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft)งวดพ.ค.-ส.ค. 58 จำนวน 8.35 สตางค์/หน่วยแต่เมื่อมีโครงการ DR และคาดว่าจะลดใช้ไฟได้ 500 เมกะวัตต์คิดเป็นเงิน 48 ล้านบาทหรือคิดเป็นค่าไฟที่ลดได้ 0.08 สตางค์/หน่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น