เรกูเลเตอร์เปิดเอกชนร่วมมือลดการใช้ไฟ (Demand Response) หรือ DR จูงใจชดเชย 3 บาท/หน่วยช่วงก๊าซพม่าหยุดซ่อมบำรุง ตั้งเป้าลด 500 เมกะวัตต์ หวังช่วยลดค่าไฟไม่ให้พุ่งขึ้นถึง 8.35 สต./หน่วย แย้มแม้ว่าต้นทุนค่าไฟโดยรวมจะสูงจากกรณีก๊าซฯ พม่าหยุดจ่าย แต่ภาพรวมค่าไฟงวดหน้าจะลดลงจากราคาก๊าซฯ ที่ลด
วันนี้ (16 มี.ค.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงเข้าร่วมเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) หรือ DR ครั้งที่ 1/2558
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า ก๊าซฯ ยาดานา จากสหภาพพม่าจะหยุดซ่อมบำรุงระหว่าง 10-19 เม.ย. 58 ทำให้ก๊าซฯ หายไป 930 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โรงไฟฟ้าหยุดผลิต 5,500 เมกะวัตต์ และช่วงแหล่งซอติก้าหยุดซ่อมบำรุงวันที่ 20-27 เมษายน 2558 ประมาณ 450 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 2,500 เมกะวัตต์ ดังนั้นเรกูเลเตอร์จึงจะเปิดให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟรายใหญ่เกิน 100 เมกะวัตต์ลงทะเบียนกับ 3 การไฟฟ้าเพื่อเข้าร่วม DR ซึ่งจะกำหนดอัตราชดเชยค่าไฟ 3 บาท/หน่วย
“เราตั้งเป้าที่จะมีคนร่วม 500 เมกะวัตต์ แต่จะให้สมัครได้สูงสุด 700 เมกะวัตต์ เบื้องต้น กฟผ.คาดมีลูกค้าเข้าร่วม 70-80 เมกะวัตต์ จากลูกค้า 320 เมกะวัตต์ ส่วน กฟน.คาดมีลูกค้าเข้าร่วม 157 เมกะวัตต์ ส่วน กฟภ.คาดมีลูกค้าเข้าร่วม 200 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมต้นทุนการผลิตไฟจะเพิ่มจากการหยุดซ่อมก๊าซและแม้ว่าจะมีการประหยัดแล้ว แต่ภาพรวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 58) จะยังลดลงจากราคาก๊าซฯ ที่ลด” นายวีระพลกล่าว
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า คาบเวลาที่กำหนดให้มีการดำเนินมาตรการ DR ในโครงการครั้งนี้ คือเวลา 10.00-12.00 น. 14.00-17.00 น. และ 19.00-22.00 น. ในวันที่ 10, 17, 18 และ 20 ของเดือนเมษายน 2558 รวม 12 คาบเวลา โดยที่ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า ประเภท 3 กิจการขนาดกลาง ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง ที่มีมิเตอร์บันทึกการใช้ไฟฟ้าได้ทุก 15 นาที เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 31 วัน และต้องเสนอลดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละคาบเวลาไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถกรอกใบสมัครและยื่นข้อเสนอลดกำลังการใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่ผู้สมัครเป็นลูกค้า (กฟผ. กฟภ. หรือ กฟน.) ตั้งแต่วันที่ 23-31 มีนาคมนี้
นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กรณีที่ก๊าซพม่าหยุดจ่ายหากไม่มีโครงการ DR จะทำให้ กฟผ.ต้องผลิตไฟจากน้ำมันเตา 130 ล้านลิตร ดีเซล 56 ล้านลิตร เป็นเงิน 4,547 ล้านบาท คิดเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. 58 จำนวน 8.35 สตางค์/หน่วย แต่เมื่อมีโครงการ DR และคาดว่าจะลดใช้ไฟได้ 500 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 48 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าไฟที่ลดได้ 0.08 สตางค์/หน่วย