xs
xsm
sm
md
lg

"เอ็กโก"จ่อซื้อรงไฟฟ้าอินเดีย-ปินส์ลั่นปีนี้กำไรทะลุ7.66พันล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เอ็กโก กรุ๊ป เจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าต่างประเทศ เพิ่ม2-3 โครงการ ทั้งในฟิลิปปินส์และอินเดีย หลังพบดีมานด์ไฟฟ้าในไทยไม่โต ดันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% ภายใน 5ปีนี้ ลั่นปีนี้กำไร 7.66 พันล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน แม้กำไรจากโรงไฟฟ้าระยองหายไปก็ตาม เล็งขายเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย หลังไม่สามารถต่อยอดโรงไฟฟ้าปากเหมืองได้

นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าจำกัด(มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า จากเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไม่โตขึ้นตามที่คาดหมายไว้ ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเจรจาขอเลื่อนการจ่ายไฟเข้าระบบของโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยจ่ายไฟทำสัญญาแล้ว
ส่งผลให้โอกาสเกิดไฟฟ้าใหม่ของในไทยในอนาคตจะยากขึ้นจนกกว่าเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัวดีขึ้น บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะแสวงหาโอกาสขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าไปยังอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกให้เข้มข้นขึ้น จากปัจจุบันที่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศอยู่แล้วคิดเป็นสัดส่วน 32% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศของเอ็กโก กรุ๊ปจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% ของกำลังการผลิตรวม หากไทยไม่มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2-3 โครงการในต่างประเทศ โดยเจรจาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอค ที่ฟิลิปปินส์จากปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 40.95% เพิ่มขึ้นแล้วไม่เกิน 50% รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศอินเดีย

"ขณะนี้มีผู้เสนอขายพอร์ตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่งรวม 1 พันเมกะวัตต์ที่ประเทศอินเดีย มีโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย แต่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด เพราะอยู่ระหว่างการดูข้อมูลว่าจะเข้าไปลงทุนหรือไม่ โดยคำนึงถึงราคาค่าไฟและค่าถ่านหินส่งไปรวมค่าไฟได้หรือไม่"

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตกำลังผลิตไฟฟ้า 3 แห่งในประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินซานบัวนาเวนทูรา และโรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอค ที่ฟิลิปปินส์ ที่จะเพิ่มอีก 600เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ "สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่" ในประเทศอินโดนีเซีย ที่จะขยายเพิ่มได้จากเดิม227เมกะวัตต์รวมเป็น 400เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทจะอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ หากสามารถสรุปความเป็นไปได้แล้วเสร็จจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

ส่วนการต่อยอดทำโรงไฟฟ้าปากเหมืองที่เหมืองถ่านหิน ประเทศอินโดนีเซีย คงไม่มี ขณะที่ราคาถ่านหินตกต่ำ โดยมีคนเสนอซื้อเหมืองแต่ไม่ขาย เพราะให้ราคาต่ำ ถ้าสถานการณ์ถ่านหินดีขึ้นก็อาจจะขายออกไป เนื่องจากบริษัทไม่ชำนาญในธุรกิจนี้

นายสหัสกล่าวถึงพื้นที่โรงไฟฟ้าระยองที่สิ้นสุดสัญญาจ่ายไฟกับกฟผ.เมื่อปลายปี 2557 ขนาด 400ไร่ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะพัฒนาที่ดินดังกล่าวเป็นสวนอุตสาหกรรมและกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีขนาด 1.6 พันเมกะวัตต์เพื่อขายให้กับกฟผ. และส่วนหนึ่งจ่ายไฟป้อนลูกค้าอุตสาหกรรม แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีนักลงทุนเสนอขอซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีความพร้อมทั้งสายส่งและท่อก๊าซฯสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีได้

ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าระยองนั้น ส่วนหนึ่งจะนำไปติดตั้งในโรงไฟฟ้าที่นิคมฯทวาย ประเทศเมียนมาร์ โดยเบื้องต้นจะตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ก่อนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในเฟส 2 ยอมรับว่า การลงนามสัญญากับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่ออนุมัติสัมปทานตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟในนิคมฯคงต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะลงนามสัญญาได้เดือนมี.ค.นี้ 
เชื่อว่าล่าช้าไม่นาน โครงการโรงไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์เฟสแรกจะใช้เงิน 1.6 พันล้านบาท

นายสหัสกล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนรวม 2.5 หมื่นล้านบาทในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และโครงการที่เตรียมการก่อสร้าง 4 โครงการในไทย ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมชัยภูมิ วินฟาร์ม โครงการเอสพีพี 3 โรง โดยบริษัทไม่ได้ตั้งงบลงทุนสำหรับซื้อกิจการ (M&A) เอาไว้ โดยยอมรับว่ากฟผ.ได้มาเจรจาที่จะขอเลื่อนการรับจ่ายไฟโรงไฟฟ้าเอสพีพีทั้ง 3โรงของบริษัท แต่ปฏิเสธไม่สามารถเลื่อนจ่ายไฟได้ เนื่องจากทุกอย่างพร้อมละได้สรุปการกู้เงินโครงการนี้แล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีกำไรใกล้เคียงปีที่แล้วอยู่ที่ 7.66 พันล้านบาท แม้ว่าปีนี้กำไรจากโรงไฟฟ้าระยองหายไป 400 ล้านบาท แต่ก็จะรับรู้รายได้เต็มปีเพิ่มจากโรงไฟฟ้ามาซินลอคที่ถือหุ้นเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าพลังลมโบโคร็อคฯ ที่ออสเตรเลีย และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสตาร์ฯ ที่อินโดนีเซียเข้ามาทดแทน และเตรียมรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้ระยะสั้น 8 พันล้านบาท เป็นหนี้ระยะยาว เนื่องจากปีที่แล้ว บริษัทได้กู้ยืมหนี้ระยะสั้นค่อนข้างมากเพื่อซื้อกิจการโรงไฟฟ้าหลายโรง
กำลังโหลดความคิดเห็น