xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ลงนามร่วมเอกชนผุดนิคมฯ อุดรธานี แห่งที่ 56 ของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กนอ.” ลงนามผุดนิคมฯ อุดรธานี นิคมฯ แห่งที่ 56 ของประเทศพื้นที่ 2,219 ไร่ มูลค่าลงทุน 2,900 ล้านบาท คาดเฟสแรกเริ่มได้ปี 2558 รองรับไทยเข้าสู่ AEC มั่นใจปีนี้ยอดขายพื้นที่ กนอ.จะทะลุ 3,000 ไร่แน่นอน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 พ.ค.) กนอ.ได้ร่วมลงนามในสัญญาดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีกับบริษัทเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ในรูปแบบนิคมฯ ร่วมดำเนินการกับ กนอ. มีพื้นที่ 2,219 ไร่ โดยนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นแห่งที่ 56 ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ 16 ใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงการ 2,900 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 74,000 ล้านบาท การจ้างงานไม่น้อยกว่า 16,900 คน เป็นนิคมฯ ที่รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา คาดว่าจะพัฒนาเฟสแรกได้ภายในปี 2558

“นับเป็นนิคมฯ ที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 ซึ่งพื้นที่ จ.อุดรฯ จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี โดยนิคมฯ นี้เป็น 1 ใน 3 นิคมฯ ที่ กนอ.ได้เปิดให้เอกชนเสนอยื่นตั้งนิคมฯ และได้รับคัดเลือกในเชิงพื้นที่และคลัสเตอร์ โดยอีก 2 นิคมฯ คือ บ.นาคา คลีนเพาเวอร์ จ.หนองคาย และ บ.สวนอุตสาหกรรมพลังงาน จ.นครราชสีมา จะได้ลงนามต่อไป” นายวีรพงศ์กล่าว

สำหรับยอดขายพื้นที่นิคมฯ ของ กนอ. 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. 56-มี.ค. 57) มียอดขายพื้นที่แล้ว 1,770 ไร่ โดยขณะนี้ยอดขายพื้นที่เริ่มดีขึ้น ประกอบกับมั่นใจว่าสถานการณ์การเมืองจะดีขึ้น ดังนั้นยอดการขายพื้นที่ของ กนอ.ทั้งปีงบประมาณจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3,000 ไร่อย่างแน่นอน “ไตรมาสแรกยอดขายพื้นที่นิคมฯ ของ กนอ.ได้เพียง 990ไร่ พอไตรมาส 2 ก็ดีขึ้นมาก และคิดว่าโครงการค้างท่อลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่ภาพรวมคงน้อยกว่าปีที่แล้วที่ยอดขายอยู่ที่ 5,600 ไร่ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ดีมากเพราะมีการกลับมาลงทุนมากจากภาวะน้ำท่วม” นายวีรพงศ์กล่าว

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี กล่าวว่า จะแบ่งการพัฒนาเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรก 990 ไร่ ซึ่งมีแผนที่จะได้รับการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอให้เสร็จภายใน พ.ย.นี้ โดยล่าสุดมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีนเข้ามาติดต่อขอดูพื้นที่บ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองมองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการในระยะยาว เพราะโครงการมีศักยภาพด้านลอจิสติกส์เพราะใกล้สนามบิน จึงกันพื้นที่ไว้ 300-400 ไร่เป็นพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น