xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เมื่อตะวันออกพบกับตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: ดร.อนุมงคล ศิริเวทิน

ดร. อนุมงคล ศิริเวทิน
อดีตอาจารย์ประจำ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/


เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ผมได้ไปร่วมงานกาลาดินเนอร์เลี้ยงฉลองครบรอบยี่สิบปีของการก่อตั้ง ISAT (International Schools Association of Thailand – สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย) ในฐานะประธานกรรมการโรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep งานนี้นอกจากมีการเลี้ยงอาหารค่ำแล้วก็ยังมีการกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “Educational Trend in the 21th Century: East Meets West” ซึ่งผมเห็นว่าผู้พูดเป็นนักพูดที่เก่งและมีความรู้ในเรื่องที่บรรยายดีมาก อีกทั้งยังเป็นหัวข้อที่มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงขอนำมาเรียบเรียงและสรุปไว้ในที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะครับ

ผู้พูดเป็นชาวจีนโดยกำเนิด เติบโต เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีแล้วทำงานสอนภาษาอังกฤษที่มณฑลเสฉวนอยู่หกปี ก่อนจะไปทำงานและเรียนต่อในอเมริกาจนจบปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ หลังจากนั้นก็เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ปัจจุบัน Professor Dr Yong Zhao เป็นผู้มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา (เขียนหนังสือกว่า 20 เล่มและบทความทางวิชาการอีกกว่า 100 เรื่อง) และดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน
รูปประกอบ 1 ศาสตราจารย์จ้าว แสดงปาฐกถา
ศ. จ้าว เกริ่นนำด้วยการกล่าวว่าคนเราเกิดมามีความสามารถหลากหลาย แต่ความสามารถนั้นๆ จะมีคุณค่าหรือไม่เพียงไรขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นอยู่ที่ใดและทำอะไร เช่นตัวเขาเองถ้ายังอยู่ที่บ้านเกิดก็จะมีคุณค่าน้อยมากเพราะเขาเลี้ยงควายขี่ควายไม่เก่ง แต่โลกทุกวันนี้เจริญทำให้ระยะทางหมดความสำคัญลง (ดูรูปประกอบ 2) ถ้าความสามารถที่มีเป็นที่ต้องการไม่ว่าจะ ณ ที่ใด คนนั้นก็สามารถย้ายไปอยู่ที่นั้นเพื่อจะทำงานที่ได้ผลตอบแทนสูงได้ เช่นพวกนักฟุตบอล นักร้องและนักแสดง เป็นต้นหรือบางทีงานก็จะวิ่งมาหาถึงที่ เช่นงานเขียนซอฟท์แวร์ งาน call center ฯลฯ
รูปประกอบ 2 โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ตลอดเวลาที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาก็เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะทำงานหาเลี้ยงชีพได้ แต่เขาก็นำเสนอข่าวจากสื่อต่างๆ ว่าแนวโน้มในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ผู้จบมหาวิทยาลัยทั่วโลกหางานทำไม่ได้มากขึ้น พร้อมกับอธิบายว่าโลกได้เปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีและเครื่องมือสมัยใหม่แย่งงานคนไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (เช่น งานประกอบรถ/เครื่องบิน งานพิมพ์ งานคิดคำนวณ งานทำแบบละเอียด รวมทั้งงานผลิตชิปและผังวงจร ฯลฯ) ข้อมูลและสารสนเทศหาได้ง่าย การบริโภคของคนก็เปลี่ยนไปเพราะรวยขึ้น ทำงานน้อยลง ว่างมากขึ้น จึงบริโภค “สิ่งที่อยาก” มากกว่า “สิ่งที่จำเป็น” (ยกตัวอย่างสบู่และแชมพูในซูเปอร์มาร์เก็ตมีเป็นร้อยชนิด แต่ที่บ้านเกิดเขามีสบู่ขายยี่ห้อเดียวเท่านั้น) งานบริการมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเทียบกับงานผลิต ฯลฯ (ดูรูปประกอบ 3)
รูปประกอบ 3 สัดส่วนงานประเภทต่างๆ ในอนาคต  (ภาพถ่ายจากสไลด์ของศาสตราจารย์จ้าวและนำมาใส่คำอธิบายเพิ่มเติมอาจจะไม่ชัดเจนมากนัก)
ในด้านการกระจายของความสามารถนั้น ถ้าดูผลการสอบที่เป็นมาตรฐานอย่าง PISA (Program for International Student Assessment – เป็นการทดสอบมาตรฐานนานาชาติทางด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนอายุ 15 ปี) ในระยะสามสี่ปีที่ผ่านมา จะพบว่าชาติเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ จีนไต้หวัน ฮ่องกง มีผลการสอบดีกว่าประเทศตะวันตกอย่างชัดเจน (อาจจะยกเว้นฟินแลนด์ แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ชาวฟินน์ไม่นิยมและไม่ประสบความสำเร็จในด้านวิทยาศาสตร์ – ทั้งๆ ที่ผลการสอบดี) โดยเฉพาะอเมริกันผลการสอบแย่มาก ที่พูดกันว่าระบบการศึกษาของอเมริกากำลังถดถอยกำลังเสื่อมนั้นไม่ถูกต้อง ที่จริงแล้วระบบการศึกษาของอเมริกา “ใช้ไม่ได้” มานานแล้ว ที่ยังอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะคนอเมริกันมี “ความมั่นใจในตนเอง” สูงมาก มีงานวิจัยที่แสดงว่าเด็กนักเรียนอเมริกันมีความมั่นใจในผลการสอบสูงเสมอทั้งๆ ที่ผลการสอบจริงออกมาต่ำ (เสมอ) (โปรดอย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงค่าเฉลี่ยอยู่นะครับ คนอเมริกันที่เก่งระดับหลุดโลกมีอยู่มากมาย แต่ค่าเฉลี่ยก็เป็นอย่างที่ดร.จ้าวพูดมานี่แหละครับ – อนุมงคล)

สรุปเบื้องต้นได้ว่า เครื่องมือสมัยใหม่เก่งขึ้นทุกวัน แต่คุณลักษณะของคนที่เครื่องยังทำไม่ได้ดีเท่าก็คือ “ความคิดริเริ่ม” นอกจากนี้ความมั่นใจก็เป็นคุณลักษณะสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ (entrepreneur) ประสบความสำเร็จ (โปรดดูรูปประกอบ 4 ที่สรุปคำบรรยายของ ดร.จ้าวในประเด็นนี้) ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาบอกว่าการที่เด็กเอเชียตอบคำถามยากๆ ในการสอบได้ก็เป็นเรื่องดี และอาจจะพอเพียงที่จะเป็นลูกจ้างที่ดีได้ แต่ถ้าต้องการจะเป็นนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้น ความสามารถที่จะตั้งคำถามที่ดีสำคัญกว่ามาก
รูปประกอบ 4 คุณลักษณะของผู้ประกอบการ
ที่น่าตกใจก็คือมีข้อมูลจากการวิจัยที่แสดงว่าเด็กแรกเกิด มีสัญชาติญาณของการอยู่รอดคือความสนใจใคร่รู้แ(inquisitiveness) สูงในระดับอัจฉริยะร้อยละกว่า 95 แต่พ่อแม่และโรงเรียนทำลายคุณลักษณะที่ดีนี้เสียแทบหมดสิ้น (นพ.ประเวศ วะสี เคยพูดว่า “การศึกษาของไทยนั้น ยิ่งเรียนยิ่งโง่” แต่ความจริงแล้วเป็นจริงทั่วโลก เพียงแต่ระบบเราอาจทำลายมากกว่าเขา) ซึ่งเป็นการเสียเปล่าอย่างยิ่ง เพราะการอยากรู้อยากเห็นทำให้เกิด “การตั้งคำถาม” ซึ่งทำให้เกิด “ความคิดริเริ่ม” อีกต่อหนึ่ง) ที่เป็นความรู้ใหม่ของผมคือหลังเกษียณ ความคิดริเริ่มกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง!!! (โปรดดูรูปประกอบ 5) ณ จุดนี้ ดร.จ้าวบอกว่าไม่เชื่อก็ลองดูอดีตประธานาธิบดีบุชก็ได้ ตอนนี้หันมาหัดวาดรูปแล้ว (ซึ่งมุขนี้ก็เรียกเสียงฮาได้ครืนใหญ่)
รูปประกอบ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างความสนใจใคร่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ กับอายุ
สรุปก็คือ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับการศึกษา(และมนุษยชาติ) ก็คือการหาให้ได้ว่า นอกจากคุณลักษณะของผู้ประกอบการที่ดีและเก่งดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างแล้ว อะไรอีกบ้างที่น่าจะเป็นคุณลักษณะที่ต้องการของประชากรที่เข้าสู่วัยทำงานในอนาคต และเราจะฝึกจะสอนลูกหลานของเราอย่างไร ให้เขามีทักษะ ความรู้และความสามารถที่เหมาะสมกับอนาคตที่กำลังมาถึงได้ (และไม่ไปทำร้ายเขาอย่างที่แล้วๆ มาอีก)

ฟังแล้วหันกลับมามองบ้านเราก็ได้แต่ทอดถอนใจ “เฮ้อ !!” ออกมาดังๆ เพราะจนปัญญาไม่รู้ว่าจะผลักจะเข็นอย่างไรอีก ทั้งพูดทั้งเขียนจนปากเปียกปากแฉะก็ไม่เห็นขยับเขยื้อนไปเท่าไรเลย ก็คงได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำในส่วนที่ตัวผมรับผิดชอบอยู่คือโรงเรียนของเราให้ดีที่สุดครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น