xs
xsm
sm
md
lg

15องค์กรรัฐ-เอกชนรุมจวกคชก.แก้ปัญหาEIAล่าช้า ชง5แนวทางเสนอคสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วสท.ร่วมกับ 15 องค์กร เปิดเวทีเสนอแก้ปัญหา EIA เอกชน -หน่วยงานรัฐรุมจวก คชก.พิจารณาล่าช้าทำเสียหายทางเศรษฐกิจ ชี้ปัญหาใช้ดุลพินิจเกินขอบเขต เกณฑ์ปฏิบัติไม่มีมาตรฐาน เสนอแก้ไขออกคู่มือขอ EIA กระจายอำนาจพิจารณาสู่ท้องถิ่น การทางพิเศษโวยบางโครงการช้าถึง 7 ปี ด้านสผ.เผยเตรียมกระจายอำนาจสู่ กทม.และ 7 จังหวัดหัวเมืองใหญ่

นายไกร ตั้งสง่า ประธานคณะกรรมการสวัสดิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วสท.ร่วมกับ 15 องค์การจัดเสวนา เรื่อง “ใบอนุญาต EIA...การปฏิรูปสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”เพื่อสรุปข้อเสนอแนะแก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการแก้ปัญหาการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIAที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้างและบรรยากาศการลงทุนของประเทศ ภายหลังการรวบรวมข้อเสนอแนะจาก 15 องค์กรแล้ว จะเสนอไปยัง คสช.ภายใน 2 สัปดาห์

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำโครงการต่างๆ ของการทางพิเศษฯ ถือเป็นโครงการที่ช่วยสร้างความเจริญสู่ท้องถิ่น และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในการเดินทาง ใช้เส้นทางคมนาคมและภาคเศรษฐกิจ โดยทั่วไปโครงการของการทางพิเศษจะใช้ระยะเวลาในการขอ EIA นานตั้งแต่ 7 เดือน และบางโครงการนานถึง 7 ปี ซึ่งการพิจารณาอนุมัติ EIA ล่าช้าย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อประชาชนและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และความล่าช้าอาจทำห้โครงการดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณางบประมาณในการก่อสร้างได้

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องการเห็นการพัฒนาเมืองอย่างถูกต้อง ยั่งยืน และพร้อมที่จะดำเนินตามกฎ ข้อบังคับ แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขอ EIA พอสรุปได้ว่า 1 ไม่มีความชัดเจนในด้านการพิสูจน์ถูกผิดเหมือนหลักวิทยาศาสตร์ แต่อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว เปลี่ยนแปลงไปตามคณะกรรมการแต่ละคน แต่ละช่วงเวลา การจัดทำรายงานแม้ว่าจะทำเหมือนเดิม แต่ต่างเวลา ต่างคชก. เกณฑ์การพิจารณาก็จะต่างออกไป ซึ่งควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อลดระยะเวลาในการพิจารณาและแก้ไข

2.ดุลยพินิจของ คชก. จะเกี่ยวเนื่องกับระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งจะมีระยะเวลาเร็วสุด 4 เดือนครึ่งซึ่งมีให้เห็นน้อยมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 6-8 เดือน ไปจนถึง 13 เดือน ซึ่งระยะเวลาที่ช้าออกไปนั้นหมายถึงมีโครงการที่รออนุมัติเพิ่มมากขึ้น โดยปกติจะมีโครงการที่อยู่ระหว่างยื่นหรือเข้าคิวรออนุมัติประมาณ 200 โครงการ 3. ไม่ควรนำประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาพิจารณา หรือพิจารณาเกินขอบเขตของ คชก. เพราะจะทำให้เกิดข้อยุ่งยาก เพิ่มระยะเวลาในการพิจารณา เพราะบางอย่างอยู่ในกฎหมายควบคุมอาคาร การขอใบอนุญาตก่อสร้างอยู่แล้ว

4. บริษัทที่ปรึกษามีจำนวนจำกัด ซึ่งบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญจัดทำรายงานแล้วผ่านการอนุมัติมีเพียงไม่กี่ราย ทำให้ผู้ประกอบการแห่ไปใช้บริการ ทำให้ค่าจ้างในการจัดทำรายงาน EIA ปรับขึ้นสูงมาก จากในอดีตเล่มละ 3 แสนบาท เพิ่มเป็น 6 แสนไปจนถึง 1.3 ล้านบาท สาเหตุมาจากไม่มีการเผยแพร่วิธีการจัดทำรายงานที่ถูกต้อง ตัวอย่างของวิธีจัดการรายงานที่ไม่ผ่านการพิจารณา เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ที่จัดทำรายงานรุ่นหลังจะได้ไม่ผิดตาม

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า แต่ละปีมีโครงการอาคารสูง โดยเฉพาะ คอนโดมิเนียมและโรงแรม ที่ต้องขออีไอเอจำนวนมากเฉลี่ยปีละ 500-600 โครงการ ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณา EIA ซึ่งต้องการให้ อย่างไรก็ตามต้องการให้ สผ. กำหนดกฎระเบียบ รายละเอียดการพิจารณา ให้ชัดเจน และระยะเวลาการพิจารณาที่เหมาะสม รวมทั้งต้องการให้กำหนดมาตรฐานและความสม่ำเสมอในการพิจาณา เพราะปัจจุบันคณะกรรมการผู้ชำนาญการใช้ดุลพินิจแต่ละท่านในการพิจารณา ไม่เกิดมาตรฐานและไม่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ คชก. ควรให้ความคิดเห็นเฉพาะด้านที่ตนมีความชำนาญ นอกจากปัญหาในการจัดทำอีไอเอแล้ว ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาภายหลังจากผ่าน EIA หรือ อาฟเตอร์ อีไอเอ เอฟเฟค ตามมา กล่าวคือ ปัญหาจากชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ร้องเรียน ฟ้องร้อง ซึ่งคชก. ให้ทั้งสองฝ่ายไปเจรจาและหาข้อยุติกันเอง เป็นการเปิดช่องให้เกิดความไม่พอดีและเหมาะสมเกิดการเรียกร้องสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการ เพราะหากชุมชนไม่ยินยอมก็จะไม่สามารถก่อสร้างได้

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การกระจายอำนาจการพิจารณา EIA สู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ดี เพราะจำทำให้การพิจารณาเร็วขึ้น แต่ควรป้องกันการพิจารณาโครงการแบบหละหลวม หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของท้องถิ่น ดังนั้นจึงควรจัดทำคู้มือ กฎระเบียบข้อปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางประกอบกานพิจารณาให้แก่ท้องถิ่น หรือมีการอบรมเพื่อให้มีความรู้ความสามารถก่อนกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณา

ชงคสช. 5 แนวทางแก้ EIA อย่างยั่งยืน

สำหรับข้อเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จาก 15 องค์กร ดังนี้ 1.แก้ปัญหาความล่าช้า ปกติการพิจารณาใบอนุญาต EIA ใช้เวลา 6 เดือน ความล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากต้นทุนและราคาวัสดุที่สูงขึ้น หรือภาวะตลาดผู้ซื้อเปลี่ยนไปแล้ว บางโครงการสาธารณูปโภค เช่น รถไฟสายบางซื่อ-มักกะสันใช้เวลาพิจารณาถึง 2 -3 ปี บางโครงการยาวไปถึง 5 ปี

2. คุณภาพของบุคลากร และมาตรฐานการพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากขั้นตอนการพิจารณา, ขาดความรู้ในโครงการและขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการพิจารณาโครงการที่มีลักษณะที่ต่างกัน ควรแยกกลุ่มบุคคลากรที่พิจารณา EIA อาคารชุด ออกจากโครงการสาธารณูปโภค, มีการเปลี่ยนบุคคลากรทำให้การพิจารณาโครงการขาดความต่อเนื่อง

3. รัฐต้องเร่งทบทวนการทำงานของหน่วยงานที่พิจารณาอนุมัติโครงการให้ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด สาเหตุหลักก็คือ การเลือกปฏิบัติ และขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง
4. ต้องแก้ไขระเบียบเงื่อนไขกฎหมาย เพื่อการทำ EIA ที่สมบูรณ์

5. ภาครัฐต้องทบทวนทำความเข้าใจต่อหลักสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน รัฐต้องคำนึงถึงหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 66 และ 67 ที่กำหนดว่า ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลย์และยั่งยืน

สผ.เล็งกระจายอำนาจสู่กทม.และ7จังหวัดใหญ่
นางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกระจายอำนาจการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยังท้องถิ่น ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและกำหนดระเบียบการสรรหาคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ของท้องถิ่นว่าหลักเกณฑ์และระเบียบเป็นอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2558 นี้ การกระจายอำนาจการพิจารณา EIA ไปยังท้องถิ่นจะแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม การรับพิจารณา EIA ขึ้นอยู่กับความพร้อมของท้องถิ่นด้วย ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการหลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบเมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่จะมีการกระจายอำนาจการพิจารณาไปยังกรุงเทพมหานคร และอีก 7 จังหวัด คือ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี

"สำหรับกรุงเทพมหานครจะกระจายอำนาจการพิจารณา EIA ครอบคลุมทุกกลุ่มอาคารที่เข้าข่ายต้องจัดทำ EIA ตั้งแต่อาคารที่มีขนาด 80 ห้องขึ้นไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักสิ่งแวดล้อม ส่วนอีก 7 จังหวัดจะกระจายอำนาจเฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 1 หมื่นตารางเมตร" นางปิยนันท์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น