xs
xsm
sm
md
lg

ถกด่วน"สัมปทาน21"วันนี้ ภาคปชช.หวังแก้กม.เพื่อปท.ชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ม.ล.ปนัดดา” ออกหนังสือด่วนที่สุด เชิญตัวแทนภาคประชาชน - นักวิชาการ 10 คน อาทิ “ประสงค์ - ธีระชัย - รสนา - ม.ล.กรฯ - ปานเทพ - อิฐบูรณ์” เข้าหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสนอความคิดเห็นต่อการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้(6 มี.ค.)

วานนี้ (5 มี.ค.) เมื่อเวลา 16.25 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 ได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์”ว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือเชิญประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพิจารณานำเสนอข้อมูล และความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้เชิญบุคคล 10 คน ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ 1. น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ 2. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล 3. น.ส.รสนา โตสิตระกูล 4. รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร 5. ดร.นพ สัตยาศัย 6.นายคมสัน โพธิ์คง 7. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี 8. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 9. นายรุ่งชัย จันทสิงห์ 10. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา

วาระการประชุม คือ วาระที่ 1 เรื่องที่แจ้งให้ที่ประชุมทราบ วาระที่ 2 เรื่องที่พิจารณา การจัดทำและนำเสนอข้อมูลหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อรัฐบาล วาระที่ 3 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

อนึ่ง หนังสือดังกล่าว ม.ล.ปนัดดา ได้ลงนามในวันนี้ (5 มี.ค.) พร้อมประทับตราด่วนที่สุด

ด้าน ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำหนดวัน เวลาที่ชัดเจนแล้ว โดยนัดแรกจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ห้อง 101 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ภาคประชาชน 10 คน ฝ่ายผู้แทนกระทรวงพลงงาน และผู้เชี่ยวชาญในจำนวนที่ไล่เลี่ยกัน โดยการหารือจะเน้นหนักไปเรื่องการเสนอแนวทางเพื่อการแก้ไขข้อกฎหมาย

“ในการประชุมครั้งนี้ตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการการประชุม ดังนั้น จึงอยากเห็นบรรยากาศของการระดมความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทาง ไม่ใช่การโต้แย้งหรือสร้างความขัดแย้งระหว่างกัน”

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน(คปพ.) กล่าวว่า การหารือในวันนี้ต้องการให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมใน 3 คณะอนุกรรมการระหว่างภาคเอกชนและราชการคือ คณะอนุกรรมการว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม 2.คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน อาทิ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีปิโตรเลียม และ 3.คณะอนุกรรมการ เพื่อบริหารจัดการปิโตรเลียมของประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างสร้างสรรค์

“เราก็หวังว่า การทำงานที่จะเน้นการแก้ไขกฏหมาย เพื่อที่จะทำให้ประเทศเกิดทางเลือกในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนนั้นไม่มีโอกาสไหนเหมาะสมเท่ากับโอกาสนี้แล้ว และรัฐบาลนี้เองก็ถือว่าได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในการที่จะร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นภายใน 3 เดือนนี้ก็น่าจะเห็นความชัดเจนของกฎหมายด้านปิโตรเลียมที่จะมีการปรับปรุงออกมา”นายอิฐบูรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปมีความต้องการโดยจะเห็นว่ามีการยื่นข้อเสนอผ่านทางคปพ.เข้ามาถึงการที่ต้องการเห็นถึงผลประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในประเทศจะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรมและประชาชนเข้าถึงโดยเฉพาะส่วนใหญ่เสนอให้เมื่อมีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม รัฐควรจะกำหนดโครงสร้างราคาที่จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่ค้นพบในประเทศมีราคาต่ำกว่าการนำเข้าซึ่งหากได้ศึกษารูปแบบต่างๆ ในต่างประเทศก็พบว่ามีหลายแนวทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น