“หม่อมกร” วอนรัฐบาลตรวจรายชื่อคณะกรรมการร่วมพลังงานภาคประชาชน เผย “น.ต.ประสงค์ - ปานเทพ” ชื่อตกหล่น ไม่ได้รับจดหมายเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ หวั่นทำให้การประชุมต้องเลื่อนออกไป คาดผิดพลาดทางเทคนิค พร้อมขอบคุณนายกฯที่เลื่อนเปิดสัมปทาน เชื่อปฏิรูปพลังงานเดินมาถูกทางแล้ว พร้อมจี้กำหนดให้ชัดมีคณะกรรมการฝ่ายละกี่คน เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
วันนี้ (25 ก.พ.) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เบื้องต้นได้ส่งรายชื่อไป ได้แก่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าทีม น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. ด้านพลังงาน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และตนเอง รวมทั้งหมด 4 รายชื่อ ตามที่ตกลงเบื้องต้นกับรัฐบาล ทั้งนี้ ในส่วนของตนเอง และของ น.ส.รสนา ได้จดหมายตอบรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ปรากฏว่า ในส่วนของ น.ต.ประสงค์ และ นายปานเทพ ยังไม่ได้รับจดหมายยืนยันจากทางรัฐบาลในการเข้าร่วมประชุมนัดแรกของคณะทำงานร่วมชุดนี้จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.พ. ที่จะถึงนี้ โดย นายปานเทพ ได้สอบถามและตรวจสอบรายชื่อไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ปรากฏว่า ไม่มีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการร่วมชุดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตนได้เพิ่มรายชื่อของ น.ต.ประสงค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีม และนายปานเทพ เพิ่มไปในจดหมายเทียบเชิญของตนเองแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นคิดว่าอาจเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค จึงอยากให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการให้ทางทั้งสองคนอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่า น.ต.ประสงค์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคนหนึ่ง จึงอยากให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีตรวจสอบเรื่องนี้และทำอย่างถูกต้องครบถ้วน
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า อยากขอบคุณทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้มีการเลื่อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปก่อน และเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานร่วมด้านพลังงานขึ้นมา ซึ่งตนเห็นว่ากำลังทุกอย่างเดินไปในทิศทางที่ดี เพราะปัญหาด้านพลังงานส่งผลกระทบต่อของประชาชน ดังนั้น ถ้ารายชื่อดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนอาจส่งผลกระทบกับการประชุมนัดแรกของคณะทำงานร่วมชุดนี้จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.พ. ที่จะถึงนี้ และอาจจะต้องเลื่อนการประชุมออกไปอีก
ขณะเดียวกัน สัดส่วนของคณะทำงานก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีกี่ฝ่ายและกี่คน อยากให้ทางรัฐบาลกำหนดให้ชัดไปเลยว่า นักวิชาการหรือนักกฏหมายควรจะเป็นของฝ่ายใด เนื่องจากเห็นว่านักวิชาการอาจจะมีการเอียนเองได้ ซึ่งในขณะนี้ทางฝั่งภาคประชาชนก็ยังไม่ทราบสัดส่วนที่แน่ชัดว่าฝ่ายกระทรวงพลังงานจะมีทั้งหมดกี่คน ฝ่ายภาคประชาชนจะได้จัดจำนวนคนให้ได้อย่างเท่าเทียมกันซึ่งเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ส่วนที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายจะสรุปรายชื่อฝ่ายละ 6 คน เข้ามาเป็นคณะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายละ 6 คนเป็นเพียงข้อมูลจากฝั่งรัฐบาล ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน และยังติดปัญหาทางด้านจดหมายเทียบเชิญอย่างเป็นทางการที่ตนได้ระบุไป จึงอยากให้รัฐบาลจัดการเรื่องนี้ให้อย่างเป็นธรรม