xs
xsm
sm
md
lg

ค้านสนช.ตั้งลูก-เมียเป็นผู้ช่วย ประยุทธ์ตะแบง กฎหมายไม่ห้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"มาสเตอร์โพล" เผยผลสำรวจกว่า ร้อยละ 50 ไม่เห็นด้วย สนช. ตั้ง"คนในครอบครัว-คนใกล้ชิด" มาทำงานที่ปรึกษา พอใจภาพรวม ครม. แต่อยากให้ปรับกระทรวงเกษตรฯ มหาดไทย ศึกษาฯ ด้าน"ประยุทธ" ตะแบงกฎหมายไม่ได้ห้ามตั้งลูก-เมีย เป็นผู้ช่วย

รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ มาสเตอร์โพล เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อสารพันปัญหาการเมืองและสังคมกับความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 600 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ.58

ต่อความคิดเห็นประเด็นสำคัญทั้งทางด้านสังคมและการเมืองของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กรณีที่มีข่าวว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วนได้มีการแต่งตั้งคนในครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาช่วยงาน พบว่า ร้อยละ 12.4 ระบุ เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า คิดว่าคนใกล้ชิดน่าจะเข้าใจกันได้ดีกว่า จะได้ทำงานง่ายขึ้น การทำงานต้องการคนที่ไว้ใจได้ ถ้ามีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมก็น่าจะทำได้ การทำงานจะได้คล่องตัวมากขึ้น

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 56.3 ระบุ ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ มาทำงาน อยากให้มีความคิดที่หลากหลายในการทำงาน เป็นการทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อ สนช.เอง ทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดี ควรเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถ จะเกิดข้อครหาได้ถึงแม้จะเจตนาดีแต่ก็ไม่ควรทำอาจจะดูไม่โปร่งใส อาจมีการเอื้อผลกระโยชน์ต่อกัน ส่วนร้อยละ 31.3 ระบุ เฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรื่องนี้

**ห่วงวิกฤติศาสนากลัวคนไม่เชื่อมั่น

เมื่อสอบถามความรู้สึกต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 61.1 ระบุ รู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องนี้ เพราะเป็นสถาบันหลักของชาติ ศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ไม่อยากให้มีการขัดแย้งกัน กลัวศาสนาจะตกต่ำไม่มีคนเชื่อมั่นอีกต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 38.9 ระบุ ไม่รู้สึกวิตกกังวล เพราะ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการได้ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นข่าว การแบ่งแยกเกิดขึ้นนานแล้ว เป็นสัจธรรม เชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าเรื่องอื่น

** ดีใจที่นายกฯเบรกสัมปทานพลังงาน

ประเด็นสำคัญ ที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานพลังงาน โดยคณะผู้วิจัยได้สอบถามความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรี สั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานรอบต่อไป ที่ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 63.0 ระบุ รู้สึกมีความสุข เพราะแสดงว่านายกฯใส่ใจในความคิดเห็นของประชาชน อยากให้มีข้อมูลรายละเอียดที่มากพอ ก่อนที่จะตัดสินใจ ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคมขึ้นมาอีก ในขณะร้อยละ 15.0 ระบุ ไม่มีความสุข เพราะ เกรงว่าจะช้าเกินไป กลัวว่าประเทศจะขาดแคลนพลังงาน และร้อยละ 22.0 ไม่มีความเห็น

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่อยากให้รัฐบาล และ คสช. เร่งดำเนินการในขณะนี้ นั้นพบว่า ร้อยละ 90.5 ระบุ อยากให้เร่งดำเนินการเรื่องการปราบปรามยาเสพติด รองลงมาคือ ร้อยละ 85.8 ระบุ การช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ / การจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชน ร้อยละ 71.3 ระบุการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 70.8 ระบุ การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ร้อยละ 66.5 ระบุ การส่งเสริมตลาดชุมชน นอกจากนี้ร้อยละ 65.7 ระบุการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ร้อยละ 65.3 ระบุ การแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงของไทย ร้อยละ 64.5 ระบุ การเตรียมจัดหาแรงงานที่มีฝีมือเพื่อใช้ภายในประเทศ ร้อยละ 62.2 ระบุ การเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยให้แล้วเสร็จ ร้อยละ 61.8 ระบุ การลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ร้อยละ 60.7 ระบุการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 51.3 การเตรียมการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามลำดับ

**พอใจผลงานนายกฯ - ครม.

ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับครม. และการปรับครม. โดยคณะผู้วิจัยได้เริ่มสอบถามถึงความพึงพอใจ ที่มีต่อผลงานของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และพบว่า ตัวอย่างมากกว่า ร้อยละ 90 พอใจผลงานของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ในระดับค่อนข้างมาก-มากที่สุด โดยให้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.06 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

แต่เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมของเวลาว่า ควรจะมีการปรับครม.ในขณะนี้หรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.2 ระบุ คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว โดยให้เหตุผลว่า บางกระทรวงยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ อยากได้คนที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งมากกว่านี้ การบริหารงานจะได้มีความคล่องตัวมากขึ้น ในขณะที่แกนนำชุมชนประมาณครึ่งหนึ่งหรือ ร้อยละ 54.2 เห็นว่า ยังไม่เหมาะสม เพราะทำงานดีอยู่แล้ว ยังอยากให้โอกาสทำงานต่อไป งานอาจจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง ต้องให้เวลามากกว่านี้พอใจในผลการดำเนินงานแล้ว ถ้าเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เกรงว่าการดำเนินงานจะไม่คืบหน้า ทั้งนี้ ร้อยละ 8.7 ระบุไม่แน่ใจ ไม่มีความเห็น

เมื่อถามว่า ถ้าจะมีการปรับครม. กระทรวงใดบ้างที่เห็นว่าควรมีการปรับนั้น ผลปรากฏว่า ร้อยละ 49.5 ระบุเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้เหตุผลว่า ยังแก้ไขปัญหาการเกษตรไม่ได้ ราคาผลผลิตทางการเกษตรยังไม่ดีขึ้น อยากให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อยากให้มีคนมาลงพื้นที่ดูปัญหาอย่างจริงจังบ้าง รองลงมา คือ ร้อยละ 23.1 ระบุ กระทรวงมหาดไทย เพราะยังไม่เห็นผลงานชัดเจน ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ อยากได้คนที่มีประสบการณ์โดยตรง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ยังไม่เห็นความคืบหน้าด้านการปรับปรุงกฎหมาย ร้อยละ 14.7 ระบุกระทรวง ศึกษาธิการ เพราะ ยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจนของการศึกษาไทย ตอนนี้ระบบการศึกษาของไทยแย่ลงเรื่อยๆ อยากให้เด็กไทยมีคุณภาพมากกว่านี้ ร้อยละ 14.4 ระบุ กระทรวงพาณิชย์ เพราะ การดำเนินงานยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร มี แต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังไม่เห็นทิศทางในระยะยาว ร้อยละ 9.4 ระบุ กระทรวงพลังงาน เพราะข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานยังไม่ชัดเจน อยากให้เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมากกว่านี้ อยากให้จัดระบบราคาพลังงานให้ดีกว่านี้อยากให้โปร่งใสมากกว่านี้ ร้อยละ 7.0 ระบุกระทรวงคมนาคม เพราะเส้นทางการคมนาคมยังลำบาก อยากให้ทำงานเร็วกว่านี้ เพราะประชาชนเดือดร้อนเรื่องการเดินทาง คุณภาพระบบการขนส่งมวลชนยังไม่ดีขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 21.0 ระบุ กระทรวงอื่นๆ อาทิ สาธารณสุข ยุติธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม คลัง และ แรงงาน ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึง ระยะเวลาที่ให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไปนั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ยังคงให้โอกาสในการทำงานต่อไป โดยส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 79.9 ระบุให้โอกาสทำงานจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อย

**ตะแบง กม.ไม่ห้าม สนช.ตั้งลูกเมีย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยว่า เรื่องนี้ไม่มีกฎหมายเขียนระบุไว้ อย่าไปพันกันกับเรื่องสภาผัว - สภาเมีย เพราะมันคนละสมัย ครั้งนั้นก็บอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ซึ่งตนได้กำชับไปว่า ขอให้ระมัดระวัง และไปตรวจสอบด้วยว่าที่ตั้งมาทำงานได้หรือไม่ อย่างไร มีเหตุผลความจำเป็นหรือไม่ หรืออาจจะเขียนกฎหมายในรัฐธรรมนูญ หรือระเบียบเพื่อระบุว่า กลไกเหล่านี้จะต้องไม่มีครอบครัว ซึ่งจะเขียนได้หรือไม่ ตนก็ไม่ทราบ เพราะคำว่าประชาธิปไตย ทุกคนก็ต้องการ แต่ก็ต้องไม่จับถูกจับผิด เพราะทุกคนก็ต้องการประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย เรื่องนี้คงต้องพูดด้วยกฎหมาย แต่ถ้าถามตนว่า ถูกหรือไม่ ตนไม่ขอตอบ

เมื่อถามว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ สนช. ที่ตั้งเครือญาติมาทำงานเป็นผู้ช่วย หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขามีความผิดอะไรถึงต้องตั้งกรรมการ อย่างไรก็ตาม คงต้องให้สนช. ดำเนินการตรวจสอบกันเอง ตนได้มอบหมายให้ประธานสนช. เป็นผู้รับผิดชอบ อย่าเอากระแสมาทำ เพราะจะทะเลาะกันไปใหญ่ หากมีร้องเรียนว่ามีการทำผิด หรือทุจริต ก็ต้องสอบสวน อย่าเอาความรู้สึกเข้ามา

ส่วนกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็แต่งตั้งภรรยาเป็นผู้ช่วยเช่นกันนั้น ขอให้ไปถามนายพรเพชร ดูเอง แต่สำหรับตนขอบอกว่า กฎหมายห้ามมีหรือไม่ ก็ไม่มี และเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ขอให้ไปถามเจ้าตัวเอง ว่าทำไมถึงแต่งตั้ง

**เชื่อมั่นนายกฯ ต้องเชื่อมั่น ครม.ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึง ผลโพลที่ออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเชื่อมั่นในตัวนายกฯ แต่ไม่เชื่อมั่นในครม. หรือรัฐมนตรี ว่า

"ผมไม่สบายใจ เพราะนั่นคือทีมงานของผม และทำงานร่วมกันมา เพราะทั้งหมดต้องทำงานในกรอบของรัฐบาล ทำในนามของ ครม. ทุกอย่างทำตามนโยบาย ถ้าผมไม่สั่ง เขาก็ต้องคิด และเสนอมาให้ผมเป็นคนอนุมัติ ครม.อนุมัติตามระเบียบไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ไม่ใช่ว่าคนนี้ทำเก่ง ทำสำเร็จ คนนี้ทำไม่เก่ง ไม่สำเร็จ ไม่เหมือนที่ผ่านมา ที่ไม่ใช่แบบนี้ ต่างคนต่างทำของตัวเองกันไป ทำให้มองเห็นความแตกต่างว่า บางคนทำมากทำน้อย จึงมีคนชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง แต่ตอนนี้รัฐบาลทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 70 ล้านคน ไม่ได้ทำให้คนส่วนหนึ่ง ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะคนไทยทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็ง ให้กับภาคเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น ผมถึงต้องพูดทุกวัน ซึ่งผมก็เหนื่อยที่จะพูด แต่ผมก็ต้องพูด เหมือนที่ผมต้องพูดทุกวันศุกร์ หรืออยากจะไม่ได้รับรู้อะไรเลยเหมือนที่ผ่านมา ให้เขาทำอะไรก็ได้ ก็ทำไป ถึงเวลาก็ไปเลือกตั้งกัน ต้องการอย่างนั้นหรือ"

"ผมทำงานทุกวัน รัฐมนตรีทุกคนก็ทำงาน รมว.การต่างประเทศ ก็เพิ่งกลับมาจากอินเดีย ผมสั่งให้ไปหาตลาด ก็มีแนวโน้มที่ดี ไปฟิลิปปินส์ เพื่อขายข้าว ขายสินค้าอื่นๆ รัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็ทำงานมีรายงานกลับมา ทุกอย่างเดินหน้า ทุกคนมีความก้าวหน้า ผมจะบอกให้ว่าไม่ได้แก้ปัญหากันง่ายๆ รัฐบาลนี้ทำงานมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีโพลล์ออกมา ซึ่งผมอ่านแล้วผมก็ต้องปลง เพราะเวลาทำโพลล์ คำถามก็ควรถามแล้วไม่ให้เกิดความขัดแย้ง อย่าถามในคำถามที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน มันไม่เกิดประโยชน์ ผมเคยบอกแล้วว่าใครชมผม ผมก็ยินดี ถ้าติผมในเรื่องที่ผมยังไม่ได้ทำไม่ได้คิด ผมก็ไม่ติดใจไม่โกรธ ไม่ได้หงุดหงิด แต่ถ้ามาติในสิ่งที่ผมทำอยู่ แล้วมาบอกว่าไม่ทำ เช่น รัฐบาลนี้ไม่เคยคิดทำโครงการอะไรใหม่ๆ เลย ก็ต้องถามหน่อยว่ามีหรือไม่ ที่พูดทุกวันมาตลอด 8 เดือนแล้ว ผมก็ขอถามหน่อย ว่าที่ผ่านมาเขาเคยพูด เคยแถลงอะไรหรือไม่ ไม่มี สื่อก็ไม่เคยรู้อะไร แต่รัฐบาลผมทำทุกอย่าง แต่กลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งผมอยากบอกว่า ถ้าใน อดีตดีอยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องเข้ามา ผมขอพูดอีกครั้งว่า ผมยินดีรับคำตำหนิทุกอัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น