ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th/th/
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th/th/
ถ้าใครได้เล่นโซเชียลในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาคงจะไม่พลาดกับประเด็นร้อนแรงระดับโลกเรื่อง #TheDress ใช่ไหมคะ พูดไปใครจะเชื่อว่าแค่รูปภาพรูปเดียวที่โพสต์ในโซเชียลกับคำถามที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรว่า “ช่วยดูให้ทีว่าเดรสนี้สีอะไรกันแน่ระหว่าง น้ำเงิน-ดำ หรือ ขาว-ทอง?” จะเป็นตัวจุดชนวนให้คนจากทั่วโลกแบ่งความเห็นออกเป็นสองฝ่าย ทีมน้ำเงิน-ดำ และ ทีมขาว-ทอง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็แสดงจุดยืนตัวเลือกของตนอย่างแข็งกร้าวและหนักแน่นชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร ซึ่ง ณ ตอนนี้ข้อถกเถียงก็เป็นอันยุติไปแล้วโดยการชี้ขาดจาก Roman Originals บริษัทผู้ผลิตเดรสตัวนี้ที่ยกมือให้ชัยชนะเป็นของทีมน้ำเงิน-ดำ เนื่องจากเดรสรุ่นนี้ไม่เคยผลิตสีขาว-ทองมาก่อน (แต่ทางบริษัทมีแผนจะเริ่มผลิตสีขาว-ทองแล้วภายหลังเหตุการณ์อภิมหาไวรัลนี้)
สำหรับผู้อ่านทีมสีขาว-ทองที่ยังคงงุนงงไม่เข้าใจว่ามันเป็นสีน้ำเงิน-ดำไปได้อย่างไร ลองดูในรูปภาพที่ 2 นะคะว่ากว่าเดรสสีน้ำเงิน-ดำตัวนี้จะผ่านขั้นตอนมาเป็นภาพดิจิทัลที่ส่งต่อกันในโซเชียล และ กว่าภาพในโซเชียลนั้นจะถูกเปิดขึ้นบนจอมือถือ/คอมพิวเตอร์ของแต่ละคน กว่าจะผ่านดวงตา และ กว่าจะถูกแปลผลโดยสมองออกมาเป็นการรับรู้สีได้นั้นมันต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างก็ล้วนแต่สามารถส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการมองเห็นสีได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ขั้นตอนส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นกับแสงเนื่องจากมนุษย์เรามองเห็นสีมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยการสะท้อนของแสงจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ดวงตานั่นเอง
ปัจจัยเบอร์ 1 – 3 ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถส่งผลให้ภาพต้นเรื่องมีสีที่ผิดเพี้ยนไปได้เมื่อถูกถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลนั้น ก็มีทั้งเรื่องสีของแสงในห้อง ที่ถ้าไม่ใช่แสงสีขาวก็สามารถส่งผลให้สีของวัตถุเพี้ยนไปตามสีของแสงในห้องได้, เรื่องของตัววัสดุที่ใช้ทำเดรสเอง ที่อาจมีคุณสมบัติการดูดแสงหรือสะท้อนแสงบางประการ ที่ทำให้สีที่กล้องมองเห็นผิดเพี้ยนไป, หรือ แม้แต่เรื่องของโหมดอัจฉริยะต่าง ๆ ของกล้องดิจิทัลรุ่นใหม่ที่มักช่วยปรับสีปรับแสงของภาพให้เป็นกลางมากที่สุดตามเงื่อนไขที่ถูกโปรแกรมล่วงหน้ามา โดยในกรณีนี้ชุดเดรสสีน้ำเงินที่กินบริเวณกว้างในเฟรมภาพอาจทำให้กล้องดิจิทัลเข้าใจผิดไปได้ว่าภาพนี้สีเพี้ยนติดสีน้ำเงินมากเกินไป จึงช่วยทำการชดเชยสีเหลืองอันเป็นคู่สีตรงข้ามเข้ามา ทำให้เกิดภาพดิจิทัลที่มีสีผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง
แม้ว่าปัจจัยเบอร์ 1 – 3 นี้จะเป็นต้นตอส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนของสีในรูปภาพดิจิทัลที่แชร์กัน แต่ประเด็นสำคัญของไวรัลนี้อยู่ที่ขั้นตอนภายหลังจากนั้นมากกว่า ว่าต่อให้ภาพดิจิทัลถ่ายมาสีเพี้ยนยังไง แต่ทำไมภาพเดียวกันแท้ ๆ คนถึงมองเห็นเป็นคนละสีกันไปได้ ซึ่งในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยเบอร์ 4 – 6 ในรูปที่ 2 ค่ะ ในส่วนของปัจจัยเบอร์ 4 ที่ว่าหน้าจอต่างกันมักมีการแสดงสีไม่เหมือนกันนั้น กรณี #TheDress นี้สามารถตัดทิ้งออกได้เลย เนื่องจากมีการทดลองมาแล้วว่าต่อให้ทุกคนเห็นภาพจากหน้าจอเดียวกันแต่ผลที่ได้ก็ยังคงเหมือนเดิม ดังนั้นประเด็นที่น่าสนใจก็คือปัจจัยเบอร์ 5 และ 6 นี่ล่ะค่ะ ซึ่งทั้งสองยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการต่างประเทศว่าปรากฏการณ์ #TheDress นี้เกิดเพราะปัจจัยไหนกันแน่
ปัจจัยเบอร์ 5 นั้นจะเกี่ยวข้องกับวิชาชีววิทยา (Biology) ในเรื่องของเซลล์รับแสงที่อยู่ด้านในจอตาของมนุษย์ซึ่งแบ่งออกเป็น เซลล์รูปแท่ง (Rod cells) และเซลล์รูปกรวย (Cone cells) โดยเซลล์รูปกรวยนี้เองที่สามารถแบ่งย่อยออกได้อีกสามชนิด แต่ละชนิดมีความไวต่อแสงคนละสี ได้แก่ สีแดง สีเขียว และ สีน้ำเงิน ประเด็นของเรื่อง #TheDress นั้นอยู่ที่เซลล์รูปกรวยชนิดแสงสีน้ำเงินนี้ล่ะค่ะ โดยรองศาสตราจารย์ Duje Tadin แห่ง University of Rochester ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า [1] “โดยปกติแล้วมนุษย์เรามีจำนวนเซลล์รูปกรวยที่ใช้รับแสงสีน้ำเงินน้อยที่สุดในบรรดาเซลล์รูปกรวยทั้งหมด ถ้าใครคนไหนที่มีจำนวนเซลล์รูปกรวยชนิดนี้น้อยก็อาจเห็นเดรสนี้เป็นสีขาว ในขณะที่คนที่มีจำนวนเซลล์รูปกรวยชนิดนี้มากหน่อยก็อาจเห็นเดรสเป็นสีน้ำเงิน” อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานนี้ถูกโต้แย้งโดยนักวิชาการทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) และจิตวิทยา (Psychology) เช่น ศาสตราจารย์ Steven Pinker จาก Harvard University [2] ที่ให้ความเห็นแย้งว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเซลล์รูปกรวยเลย แต่เป็นภาพลวงตาที่เกิดจากการทำงานของสมองมนุษย์ หรือ ก็คือปัจจัยที่ 6 ที่เขียนในรูปภาพที่ 2 นั่นเอง
ปัจจัยเบอร์ 6 นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากที่สุดในบรรดาปัจจัยทั้งหมดเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะการแปลผลสีของสมองมนุษย์นั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนการใช้อุปกรณ์ดูดสี (Eyedropper) ในโปรแกรมวาดรูปที่ไม่ว่าจะจิ้มลงไปตรงไหนก็จะวัดได้ค่าสีของตรงนั้นออกมาอย่างแม่นยำ แต่สมองมนุษย์ประมวลผลโดยการพิจารณาเชิงเปรียบเทียบกับบริบทของภาพที่ล้อมรอบจุดที่สนใจนั้น ๆ ดังตัวอย่างภาพลวงตาอันโด่งดังในรูปภาพที่ 3 ซึ่งสมองลวงตาเราว่าช่อง A นั้นเข้มกว่าช่อง B ทั้งที่จริง ๆ แล้วทั้งสองช่องต่างเป็นสีเทาที่มีระดับความเข้มเท่ากัน แตกต่างกันเพียงบริบทของสีที่ล้อมรอบแต่ละช่องเท่านั้น
ในกรณีของ #TheDress ที่เกี่ยวกับปัจจัยเบอร์ 6 นี้ นักวิชาการต่างประเทศหลายท่านได้ขยายความไว้ใกล้เคียงกันว่าเกิดจากความสามารถเฉพาะของสมองมนุษย์ที่สามารถทำการคำนวณหักลบสีและแสงในสิ่งแวดล้อม (Ambient light) ที่ตกกระทบลงบนวัตถุให้เราได้โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น วัตถุสีขาวที่อยู่ในห้องที่ใช้แสงสีเหลือง ซึ่งหากว่าตามหลักการการดูดซับและสะท้อนแสงแล้วเราก็ควรจะเห็นวัตถุนี้เป็นสีเหลืองตามสีของแสงในห้องด้วย แต่เพราะกระบวนการอัตโนมัติของสมองนี่เองที่ช่วยคำนวณหักกลบแสงสีเหลืองนี้ออกและส่งสัญญาณบอกเราว่าวัตถุนี้เป็นสีขาวในท้ายที่สุด ซึ่งตรงนี้เองหากสังเกตรูป #TheDress ดี ๆ จะเห็นว่ารูปนี้ไม่มีวัตถุอะไรที่พอจะใช้เป็นตัวอ้างอิงให้สมองสามารถทราบถึงรูปแบบของแสงในสิ่งแวดล้อมได้เลยว่าเป็นห้องแสงจ้ามากหรือเป็นห้องมืด ๆ ว่าเป็นห้องที่ใช้แสงสีขาวหรือแสงสีอื่นกันแน่ ในสถานการณ์ที่สมองมีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการประมวลผลนี้เอง การตีความจึงแตกต่างกันไปในสองทีม
รวม ๆ แล้วก็จะเห็นนะคะว่าความคลาดเคลื่อนของสีมีโอกาสเกิดได้จากหลายปัจจัย เรื่องของภาพดิจิทัลสีเพี้ยนจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคนี้ แต่กรณีของ #TheDress นี้คงต้องยกให้เป็นที่สุดของความบังเอิญชนิดที่ใครก็คาดไม่ถึงจริง ๆ ว่าสีที่เพี้ยนไปโดยไม่ได้ตั้งใจนี้จะบังเอิญเป็นสีที่อยู่ระหว่างเส้นบาง ๆ ที่สามารถแบ่งการรับรู้ของคนในโลกให้ออกเป็นสองกลุ่มก้อนใหญ่ ๆ ได้ หลังจากปรากกฏการณ์ไวรัลนี้ เราคงต้องมีการอัพเดตสุภาษิตไทยบทหนึ่งให้เท่าทันยุคดิจิทัลกันขึ้นแล้วล่ะค่ะว่า “สิบปากว่าหรือจะเท่าตาเห็น สิบภาพดิจิทัลหรือจะสู้หนึ่งเห็นของจริง”
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] Jonathan Mahler (2015, February 27). The White and Gold (No, Blue and Black!) Dress That Melted the Internet. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/02/28/business/a-simple-question-about-a-dress-and-the-world-weighs-in.html
[2] Matthew Herper (2015, February 28). Rock Star Psychologist Steven Pinker Explains Why #TheDress Looked White, Not Blue. Retrieved from http://www.forbes.com/sites/matthewherper/2015/02/28/psychologist-and-author-stephen-pinker-explains-thedress/