ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณีคิตตี้ รีสอร์ท ได้กลับมาเป็นกระแสที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้มีการถกเถียงประเด็นการไปละเมิดลิขสิทธิ์ของทาง “ซานริโอ้” โดยสำนักข่าวอาซาฮี ญี่ปุ่น ได้ส่งนักข่าวลงพื้นที่รายงานข่าวที่ อ.ภูเรือ จ.เลย เพื่อตรวจสอบว่า รีสอร์ทแห่งนี้มีการเลียนแบบตัวการ์ตูนชื่อดังหรือไม่ อย่างไรและละเมิดในลักษณะไหน
และแน่นอนว่า จากการลงพื้นที่ได้พบการเลียนแบบทั้งป้าย KITTY RESORT รูปปั้น รถยนต์ เต้นท์ที่พัก เตียงนอน ห้องอาบน้ำ ไฟ โดยจังหวะที่ทางสำนักข่าวญี่ปุ่นได้ถ่ายทำในห้องพัก ซึ่งมีตุ๊กตาคิตตี้พิงอยู่บนหัวเตียงนอน ในนาทีที่ 1.26 ทางสำนักข่าวญี่ปุ่นถึงกับพูดขึ้นว่า นี่คิตตี้หรอ ? พร้อมทั้งตัดภาพกลับมาที่ KITTY THEME PARK ซึ่งเป็นสวนสนุกของซานริโอ้ในประเทศจีนที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้
จากนั้นได้มีการสอบถามไปยัง นายเบาหวิว มณีแจ่ม อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเจ้าของคิตตี้ รีสอร์ท ภูเรือ จ.เลย โดยนายเบาหวิวได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งใจเอาไว้มาโชว์เฉยๆ ไม่ได้เอามาเป็น เทรดมาร์ก เป็นสัญลักษณ์การค้าเชิงธุรกิจ คนเข้าใจผิดไปเอง และตอนนี้กำลังทำเรื่องขอลิขสิทธิ์อยู่
ทว่า เมื่อสอบถามกลับไปยังซานริโอ้ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็ได้ตอบกลับมาว่า ไม่อนุญาตให้รีสอร์ทแห่งนี้ใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของซานริโอ้ทั้งนั้น และตอนนี้กำลังดำเนินการทางกฎหมายกับรีสอร์ทแห่งนี้อยู่
นั่นหมายความว่า คิตตี้ รีสอร์ท กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของซานริโอ้ ใช่หรือไม่
กล่าวสำหรับคิตตี้รีสอร์ทของนายเบาหวิวนั้น เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 และเปิดให้บริการในวันที่ 27 ธันวาคม 2557โดยก่อนหน้านี้ได้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเว็บไซต์พันทิปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2558 มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยผู้ใช้นามแฝงว่า ลาพิวต้า ตั้งกระทู้ระบุว่า ครอบครัวและญาติรวม 9 คนได้ไปใช้บริการที่พักชื่อว่า คิตตี้ รีสอร์ท ตั้งอยู่ที่ อ.ภูเรือ จ.เลย โดยได้จองเต้นท์ 3 ห้อง ราคาห้องละ 1,500 บาท และบ้านพัก 1 หลัง ราคา 2,500บาท โดยทางรีสอร์ทให้โอนเงินเต็มจำนวนคือ 7,000 บาท และก็ได้โอนไปให้จนครบ
แต่ปรากฏว่าเมื่อนักท่องเที่ยวไปถึง ทางคิตตี้ รีสอร์ท กลับยังทาสีบ้านพักไม่เสร็จ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง พื้นห้องเต็มไปด้วยสีเลอะเทอะ ส่วนห้องน้ำก็ยัง สร้าง ไม่เสร็จ ถังสีและผ้าม่านก็ยังไม่ติดตั้ง จนทำให้นักท่องเที่ยวร้องขอเงินคืนเพื่อเดินทางกลับ แต่ได้ถูกปฏิเสธและให้พักห้องอื่นแทน ทั้งยังบอกอีกว่า คิตตี้ รีสอร์ท ใครๆก็อยากเข้าพักทั้งนั้น
หลังจากเรื่องเงียบหายไป รีสอร์ทดังกล่าวได้ดำเนินกิจการเรื่อยมา และที่ผ่านมาเจ้าของรีสอร์ทเองก็ได้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าคิตตี้ รีสอร์ทไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ใดๆ
“รีสอร์ทแห่งนี้ชื่อ คิตตี้รีสอร์ท ภูเรือ คำว่าลิขสิทธิ์ตามกฎหมายคือ ต้องนำผลิตภัณฑ์สินค้าจากแบรนด์ดังกล่าวไปจำหน่าย ถ้าไม่ดำเนินการตามข้อตกลงจะถือว่ามีความผิด อีกทั้งคิตตี้ยังไม่ได้จดลิขสิทธิ์การทำรีสอร์ท รวมทั้งผมก็ไม่ได้มีจุดประสงค์จะนำรีสอร์ทไปขายจึงไม่น่าจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์”
นายเบาหวิว มณีแจ่ม เจ้าของคิดตี้ รีสอร์ท ภูเรือ จ.เลย ได้แจกแจงและยืนยันว่าคิตตี้ รีสอร์ทไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.58 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คิตตี้ รีสอร์ทถือเป็นรีสอร์ทที่มีขนาดใหญ่โตและกว้างขวาง จนเป็นแลนด์มาร์คของ ภูเรือ จ.เลย ก็ว่าได้ และเมื่อฟังจากคำพูดเจ้าของรีสอร์ทว่าไม่ได้ทำเพื่อเอาไปขาย ไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ดูจะเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นและทำเอาประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ ที่การดำเนินธุรกิจแสวงหาผลประโยชน์ ไม่สนใจว่าเป็นการเลียนแบบละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยแก่ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ต่อกรณีดังกล่าวว่า คิตตี้ รีสอร์ทที่สร้างขึ้นเป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง เพื่อประโยชน์ทางการค้า โดย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537ได้ระบุชัดเจน ห้ามมีการทำซ้ำ ดัดแปลง ซึ่งจากที่เห็นตั้งแต่ป้าย คิตตี้รีสอร์ท ก็เห็นแล้วว่าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการนำไปขายเหมือนที่กล่าวอ้าง ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537
“นอกจากจะผิดต่อพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537แล้วเรายังเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศกำหนดออกมา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2539 โดยประไทยได้เป็นภาคี รวมถึงญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นมันจึงมีการตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกร่วมกัน ที่จะแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ซึ่งเป็นการคุ้มครองที่ว่า จะช่วยกันไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น
“และเมื่อทางซานริโอได้บอกกำลังดำเนินการทางกฎหมายอยู่ เรื่องของความเสียหายลิขสิทธิ์มันมีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งเขาสามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนแพ่งได้ด้วย เพราะการที่เอาลิขสิทธิ์ของเขามาใช้เป็นความเสียหาย ที่สามารถคิดออกมาว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เขาก็มีสิทธิ์จะฟ้องทางแพ่ง และสั่งห้ามละเมิดอีก”
ถ้าไม่ใช่งานสร้างสรรค์ของเราผมว่าเราควรติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนที่เราจะเอาลิขสิทธิ์ของเขามาใช้ ถ้าเราสร้างสรรค์เอง ไม่เป็นไร แต่อันนี้ไม่ใช่การสร้างสรรค์เองแน่ มองปุ๊บก็เหมือนกับงานซานริโอเขา ถ้าจะทำ และคิดว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ควรติดต่อ เจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง”เฉลิมพงษ์อธิบาย
กล่าวสำหรับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้บัญญัติบทกำหนดโทษไว้ชัดเจน โดยมาตรา 69 ระบุว่า ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
และหากฝ่าฝืนการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
ดังนั้น กรณีคิตตี้ รีสอร์ท ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่ง ที่จะเตือนถึงผู้ประกอบการธุรกิจยุคใหม่ ที่ต้องคำนึงด้วยว่า ไม่ใช่แค่แสวงหาแต่ผลประโยชน์เท่านั้น แต่ควรดำเนินการขอลิขสิทธิ์จากเจ้าของด้วย เพราะทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่ว่าจะคิดสร้างสรรค์กันได้ง่ายๆ