xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯเลื่อนถก"ปรองดอง" ใช้ม.44นิรโทษต้องระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ก.พ.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลความคืบหน้า การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูป คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้
สำหรับเรื่องการปรองดอง ถ้าพิจารณาไม่ทันในวันศุกร์ที่ 20 ก.พ.นี้ ก็จะนำไปพิจารณาต่อที่โรงแรมฮอลิเดย์อิน พัทยา ในการประชุมนอกสถานที่ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับระบบการเมืองต่างๆ ด้วย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ข้อเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เดินหน้าสร้างความปรองดองว่า ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนนั้น จะต้องตีโจทย์ให้แตกว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ต้องการจะแก้ไข คืออะไร และวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมควรทำอย่างไร แล้วจะใช้วิธีออกกฎหมายโดยใคร หรือใช้อำนาจพิเศษอะไร ถือเป็นประเด็นรอง
ทั้งนี้ ตนคิดว่าการจะใช้อำนาจในการออกกฏหมาย หรือตัดสินใจอะไร จะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้างก่อน ไม่เช่นนั้นจะย้อนกลับไปสู่สถานการณ์วิกฤติได้อีก เหมือนกรณีที่มีความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนเป็นที่มาของความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าขณะนี้งานบางเรื่อง ในการสร้างความปรองดองสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น กลุ่มใดที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม หรือกลุ่มใดที่เห็นว่า ไม่ควรเอาผิด แต่ยังมีความผิดติดตัวอยู่ สามารถที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ แต่จะต้องระมัดระวังว่า ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง เกรงว่าจะมีคำถามตามมาจากนักศึกษาที่เคลื่อนไหว และถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนกฎอัยการศึก ว่าจะได้รับการนิโทษกรรมหรือไม่ เพราะเป็นการชุมนุมทางการเมืองเช่นกัน ดังนั้นการจะนิรโทษกรรม ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม
"ดังนั้นวันนี้ก่อนที่จะบอกว่า จะใช้มาตรา 44 หรือจะให้ท่านนายกฯ หรือหัวหน้าคสช. ทำอะไร หรือใช้สนช. ออกกฎหมาย จะต้องมีการมาอธิบาย และรับฟังความเห็น มีกระบวนการชัดเจนว่า ต้องการทำอะไร เพื่อแก้ไขปัญหาอะไร ตรงนี้จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะบรรจุเรื่องความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอรอดูข้อเสนอต่าง ๆ ก่อน หากเป็นไปในแนวทางที่มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เห็นว่ามี 3 ประเด็น ที่ต้องพิจารณา คือ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมการคืออะไร ให้ทำเรื่องอะไร กรรมการชุดนี้จะไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งหลังมีรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่า จะไม่มีการดำเนินการอะไรในระหว่างนี้หรือไม่ หากต่อไปนี้การทำงานในเรื่องการปรองดอง ระบุว่า จำเป็นต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือแม้แต่อำนาจตุลาการบ้าง อยากทราบดุลอำนาจตรงนี้ เพราะไม่มั่นใจกับข้อเสนอที่บอกว่า สภาและศาล จะต้องรับฟังคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพราะจะเกิดคำถามถึงความชอบธรรม ของคณะกรรมการชุดนี้ว่ามีที่มาอย่างไร จึงสามารถสั่งศาล หรือสภาได้

**ปชป.ไม่ใช่คู่ขัดแย้งใคร อย่าตั้งโจทย์ผิด

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับพรรคการเมืองใด ในอดีตตอนนายบรรหาร ศิลปอาชา และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แต่ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้โกรธแค้นอะไรกัน เพราะเคารพการทำหน้าที่ของกันและกัน จึงขอจำหลักไว้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัวกับบุคคลหรือพรรคการเมืองใด เหมือนในอดีตที่ไทยต่อสู้กับการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ได้เป็นศัตรูเป็นการส่วนตัวกับชาติที่เป็นคอมมิวนิสต์ ดังนั้นในอนาคต หากมีพรรคการเมือง หรือ กลุ่มการเมืองใดมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เราก็จะคัดค้านอีก นี่คือหลักการของประชาธิปัตย์ แต่การต่อรองหลักการคือ การไม่มีหลักการ สรุปว่า เราคัดค้านหรือขัดแย้งกับการกระทำที่ผิดกฎหมายไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ดังนั้นขอให้ตั้งโจทย์ให้ถูกเพราะหากโจทย์ผิด คำตอบก็ผิด
**ยอมจบ"บิ๊กตู่"ไม่คุย"แม้ว"

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่ได้เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจรจากับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความปรองดองว่า เมื่อรัฐประหารแล้ว ต้องสานงานต่อเรื่องความปรองดอง แต่ไม่ใช่แค่การออกกฎหมาย หรือร้องรำทำเพลง เพราะสิ่งสำคัญคือ ต้องเร่งพูดคุยกับคู่ขัดแย้งที่เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งที่สำคัญ
"สิ่งที่ผมเสนอไปนั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ต้องการทำให้ประเทศเกิดความปรองดอง โดยไม่มีใครมาประสาน หรือมีวาระซ้อนเร้น ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน แต่เกรงว่าหากยังไม่มีการปรองดอง ต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญดีอย่างไร ก็เสียเวลา เสียของ ดังนั้นจึงมองว่า การเจรจาเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่นำไปสู่การปรองดอง โดยการเจราสามารถทำได้ ทั้งทางตรงและทางลับ ถ้าเจรจาแล้วบางเรื่องไม่สามารถทำได้ก็ต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบ ไม่ใช่เจรจาแล้วปิดเป็นความลับ จะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เจรจา ก็ถือว่าจบ ต้องเคารพและไม่ไปก้าวล่วงการตัดสินใจ รวมถึงจะไม่เสนอเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการปรองดองของ สปช. เพราะผมไม่ได้ร่วมคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว แต่หากที่ประชุม สปช. มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย ผมจะลุกขึ้นแสดงจุดยืนของตนเองอย่างแน่นอน"
กำลังโหลดความคิดเห็น