หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เตือนข้อเสนอเดินหน้าปรองดองต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะแก้อะไร และต้องให้สังคมวงกว้างยอมรับก่อน หวั่นย้อนกลับไปสู่วิกฤต ชี้บางเรื่องทำได้ทันทีแต่ต้องระวังกลุ่มป่วนขอใช้สิทธิ แนะอธิบายและรับฟังความคิดเห็น ย้ำ กก.ปรองดองแห่งชาติตาม รธน.ใหม่ ขอบเขตอำนาจต้องชัดกันถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม ด้าน “นิพิฏฐ์” ยัน ปชป.ไม่ใช่คู่ขัดแย้งใคร เตือนอย่าตั้งโจทย์ผิด
วันนี้ (18 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 เดินหน้าสร้างความปรองดองว่า ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนนั้นจะต้องตีโจทย์ให้แตกว่าปัญหาความขัดแย้งที่ต้องการจะแก้ไขคืออะไร และวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมควรทำอย่างไร แล้วจะใช้วิธีออกกฎหมายโดยใคร หรือใช้อำนาจพิเศษอะไร ถือเป็นประเด็นรอง ทั้งนี้คิดว่าการจะใช้อำนาจในการออกกฏหมายหรือตัดสินใจอะไร จะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้างก่อน ไม่เช่นนั้นจะย้อนกลับไปสู่สถานการณ์วิกฤติได้อีก เหมือนกรณีที่มีความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จนเป็นที่มาของความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าขณะนี้งานบางเรื่องในการสร้างความปรองดองสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น กลุ่มใดที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม หรือกลุ่มใดที่เห็นว่าไม่ควรเอาผิด แต่ยังมีความผิดติดตัวอยู่ สามารถที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ แต่จะต้องระมัดระวังว่าขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง เกรงว่าจะมีคำถามตามมาจากนักศึกษาที่เคลื่อนไหวและถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนกฎอัยการศึกว่าจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะเป็นการชุมนุมทางการเมืองเช่นกัน ดังนั้นการจะนิรโทษกรรมต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม
“ดังนั้นวันนี้ก่อนที่จะบอกว่าจะใช้มาตรา 44 หรือจะให้ท่านนายกฯ หรือหัวหน้า คสช.ทำอะไร หรือใช้ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ออกกฎหมาย จะต้องมีการมาอธิบายและรับฟังความเห็น มีกระบวนการชัดเจนว่าต้องการทำอะไร เพื่อแก้ไขปัญหาอะไร ตรงนี้จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะบรรจุเรื่องความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอรอดูข้อเสนอต่างๆ ก่อน หากเป็นไปในแนวทางที่มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เห็นว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมการคืออะไร ให้ทำเรื่องอะไร กรรมการชุดนี้จะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งหลังมีรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าจะไม่มีการดำเนินการอะไรในระหว่างนี้หรือไม่ หากต่อไปนี้การทำงานในเรื่องการปรองดองระบุว่าจำเป็นต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือแม้แต่อำนาจตุลาการบ้าง อยากทราบดุลอำนาจตรงนี้ เพราะไม่มั่นใจกับข้อเสนอที่บอกว่าสภาและศาลจะต้องรับฟังคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพราะจะเกิดคำถามถึงความชอบธรรมของคณะกรรมการชุดนี้ว่ามีที่มาอย่างไร จึงสามารถสั่งศาลหรือสภาได้
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับพรรคการเมืองใด ในอดีตตอนนายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แต่ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้โกรธแค้นอะไรกัน เพราะเคารพการทำหน้าที่ของกันและกัน จึงขอจำหลักไว้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัวกับบุคคลหรือพรรคการเมืองใด เหมือนในอดีตที่ไทยต่อสู้กับการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ได้เป็นศัตรูเป็นการส่วนตัวกับชาติที่เป็นคอมมิวนิสต์ ดังนั้นในอนาคต หากมีพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใดมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เราก็จะคัดค้านอีก นี่คือหลักการของประชาธิปัตย์ แต่การต่อรองหลักการคือ การไม่มีหลักการ สรุปว่าเราคัดค้านหรือขัดแย้งกับการกระทำที่ผิดกฎหมายไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ดังนั้นขอให้ตั้งโจทย์ให้ถูกเพราะหากโจทย์ผิด คำตอบก็ผิด