xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บางกอก แฟชั่นวีค KEEP WALKING นะจ๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขบวนธุดงค์ธรรมชัย ครั้งที่ 4 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งเรื่องปัญหาการจราจรและการใช้ดอกดาวโรย
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ยังคงสำแดง “ความมีอัตตา” และ “ความยิ่งใหญ่” ของตัวเองอย่างต่อเนื่องสำหรับ “วัดพระธรรมกาย” ของ “พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธมฺมชโย” กับกิจกรรม “ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร ธรรมยาตรา เพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลก” ซึ่งอุตริเดินธุดงค์เข้ามาในเมืองจนสังคมวิพากษ์วิจารณ์และบางรายถึงกับก่นด่าอย่างสาดเสียเทเสีย ทั้งเรื่องรถที่ติดวินาศสันตะโร และความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ธุดงควัตร”

แน่นอน การเดินธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกายไม่ใช่เพิ่งจัดขึ้นครั้งแรก หากแต่จัดต่อเนื่องมาทุกปี โดยในปี 2558 นี้จัดเป็นปีที่ 4 แล้ว และทุกๆ ปีก็จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเกิดคำถามตามมาตลอด

ทำไมการเดินธุดงค์ที่ควรจะเดินอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นกลับฝ่าเข้ามาในเมือง

ทำไมการเดินธุดงค์ที่พระภิกษุสงฆ์ควรเดินด้วยเท้าเปล่าบนผืนดินกลับต้องมีการนำ “ดอกดาวเรือง” มาโปรยให้พระเหยียบย่ำ แถมยังตั้งชื่อเสียใหม่อีก ต่างหากว่า “ดาวรวย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเป้าประสงค์ที่ผิดเพี้ยนไปจากแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

และที่สำคัญคือนอกจากมหาเถรสมาคม(มส.) ไม่เข้าไปตรวจสอบและเข้าไปแก้ไขกิจกรรมดังกล่าวของวัดพระธรรมกายแล้ว ยังให้การสนับสนุนอีกต่างหากนับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ)” แห่งวัดสระเกศ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มาจนถึง “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) แห่งวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน

พุทธศาสนิกชนคนไทยจะปล่อยให้วัดพระธรรมกายจัดธุดงค์ธรรมชัยประหนึ่งเป็น “เทศกาลบางกอกแฟชั่นวีค” โดยมิได้ทำอะไรกันเลยหรือ??

อย่าได้แคร์...ธรรมกายใหญ่จริงๆ นะจ๊ะ

กล่าวสำหรับกิจกรรมธุดงค์ธรรมชัยนั้น เป็นกิจกรรมที่วัดพระธรรมกายจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2558 นี้ถือเป็นการจัดในครั้งที่ 4 โดยปีที่ 1 จัดขึ้นวันที่ 2-25 มกราคม 2555 ปีที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-27 มกราคม 2556 ปีที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-28 มกราคม 2557 ปีที่ 4 วันที่ 2-31 มกราคม พ2558

โดยในปีนี้ ใช้เส้นทางเดินซึ่งเป็นเส้นทางที่ “พระมงคลเทพมุนี” หรือ “หลวงพ่อสด” วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นคิดวิชชาธรรมกาย ออกเดินธุดงค์เพื่อ ปฏิบัติธรรมัสอน ธรรมะ โดยใช้เวลากว่า 1 เดือน เดินผ่าน 7 จังหวัด ได้เเก่ ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร รวม ระยะทางกว่า 485 กิโลเมตร ก่อนที่สิ้นสุดการเดินทางด้วยพิธีล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ กว่า 1,130 รูปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา

กิจกรรมการเดินธุดงค์ครั้งนี้ และถ้าจะว่าไปแล้วทุกครั้งๆ ที่ผ่านมาของวัดพระธรรมกายล้วนแล้วแต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด โดยเฉพาะครั้งแรกในปี 2555 ที่เส้นทางเริ่มจากวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เข้ามาในถนนพหลโยธิน ผ่านดอนเมือง สะพานใหม่ บางเขน สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประตูน้ำ ราชประสงค์ บรรทัดทอง เยาวราช สะพานพระปกเกล้า วง เวียนใหญ่ ตลาดพลูและจบลงที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

ครั้งนั้นกองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ถึงกับต้องประกาศแจ้งปิดการจราจรในเส้นทางธุดงค์ธรรมชัย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น พร้อมกับแนะนำให้วางแผนการเดินทางก่อนออกจากบ้านทุกครั้งในช่วงที่มีการเดินธุดงค์

แต่ดูเหมือนวัดพระธรรมกายจะมิได้สนใจใยดีกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์โลกเลยแม้แต่น้อย และยังคงเดินหน้าจัดติดต่อกันเรื่อยมา เพราะนี่คือการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกายและหลวงพ่อธมฺมชโยให้เป็นที่ปรากฏ

ทั้งนี้ นอกจากการเผยแพร่ผ่านสื่อในสังกัดของทางวัดทั้งทางเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม dmc แล้ว วัดพระธรรมกายยังได้มีการซื้อโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์อื่นๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 258 ที่มีการซื้อโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ได้ออกอากาศโฆษณาโครงการธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 4 ของวัดพระธรรมกาย เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมาในรายการเส้นทางนักขาย ซึ่งมีบริษัท สำเร็จด็อทคอม จำกัด และมี พ.ต.ธนพงษ์ จันทร์ทอง เป็นผู้ผลิตรายการ

โดยเนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 24-25 ม.ค. ที่ผ่านมา พระธุดงค์ 1,130 รูป จากทั่วประเทศ ในโครงการธุดงค์ธรรมชัย ปีที่ 4 ธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลก เดินธรรมยาตราผ่าน จ.สมุทรสาคร จาริกจาก อบต.คลองมะเดื่อ ไปยัง อบต.ท่าทราย และมหาวิทยาลัยธนบุรี ตลอดเส้นทางมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวพม่า มาโปรยกลีบดอกดาวเรือง ต้อนรับพระธุดงค์กันอย่างเนืองแน่น

นอกจากนั้น วัดพระธรรมกายยังมีการตอบโต้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำให้รถติดอีกต่างหาก โดยพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดพระธรรมกายกล่าวว่า “ปกติในเมืองหลวง การจราจรก็ติดขัดอยู่ปกติเเล้ว ในวันที่มีการเดิน ธุดงค์ ได้ประสาน ไปยัง บก.จร.แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่า ประชาชนศรัทธา เดินทางมาร่วมบุญ จำเป็นต้องใช้รถ อาจทำให้วันนั้นมีปริมาณมาก”

พระสนิทวงศ์อธิบายด้วยว่า “พระธุดงค์ที่เข้าไปในป่าเป็นไปเพื่อปลีกวิเวกปลีกตนเอง ส่วนพระธุดงค์ที่เข้าไปในเมือง เพื่อเป็นการฝึกตนเองและโปรดญาติโยม เป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเชิงรุก ซึ่งเราเข้าใจในการเดินธุดงค์ในกรุงเทพมหานครเป็นสาเหตุที่ทำให้รถติดมาก เราก็ยอมรับกับการถูกตำหนิ แต่อยากให้มองไปถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อญาติโยมที่เห็นพระธุดงค์เดินเป็นระเบียบเรียบร้อยและสง่างาม ก็จะมีแรงใจที่อยากที่จะสวดมนต์ ภาวนาจิต จนเกิดสมาธิ เกิดปัญญาที่จะดำเนินชีวิตเพื่อความสงบสุข โดยพระธุดงค์ไม่ได้เทศน์สอนอะไรเลย เพียงแค่เดินธุดงค์ ด้วยความสงบ มีสมาธิ ด้วยอิริยาบถการเดิน เพียงเท่านี้ก็ให้ญาติโยมทั้งหลายเกิดความศรัทธา จนเป็นแรงบันดาลใจ ที่จะรักษาศีล เพื่อการดำเนินชีวิตต่อไป”

ตามต่อด้วย เพจที่มีชื่อว่า “สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย” ได้จัดทำภาพการทำภาพ 3 ภาพเปรียบเทียบกัน คือภาพแรกคือภาพขบวนแห่ทีมชาติไทย หลังกลับจากการคว้าแชมป์ ซูซูกิ คัพ ภาพที่สองเป็นงานเทศกาล และภาพที่สาม-ภาพใหญ่ เป็นภาพการธุดงค์ของวัดพระธรรมกาย โดยมีบรรยายใต้ภาพว่า “ธรรมกาย ทำอะไรก็ผิด”

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวได้ถูกลบออกจากเพจไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากมีประชาชนเข้าไปถล่มยับ

แถมเสียงวิพากษ์วิจารณ์กับการเดินครั้งแรกในวันที่ 31 มกราคม 2558 ยังมิทันจางหาย วัดพระธรรมกายก็จัดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 โดยเส้นทางเริ่มจากวัดเขมาภิตราราม และแวะหยุดพักที่กระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะออกเดินทางไปยังวัดหูช้าง-วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง จ.นนทบุรี

แฟนเพจชื่อ “พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ” ซึ่งเป็นของพระมหาสมชาย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ชี้แจงเอาไว้ว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการอัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนทฺ สโร) ไปประดิษฐาน ณ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

พร้อมให้เหตุผลที่ต้องเป็นวัดโบสถ์บนเอาไว้ว่า “ในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 พุทธศักราช 2460 พรรษาที่ 12 พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อค้นหาทางสายกลางภายใน ณ แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี คืนนั้นเองท่านได้รู้เห็นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วท่านจึงได้เข้าใจว่า พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้เป็นไม่เห็นเด็ดขาด โดยท่านกล่าวสรุปเป็นประโยคสั้น ๆ ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ”

ก็จะไม่ให้ใหญ่อย่างไรไหว เพราะยุทธจักรดงขมิ้นรู้ดีว่า “ผู้เป็นใหญ่ในองค์กรสงฆ์” ในยุคนี้นั้นมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับวัดพระธรรมกายแค่ไหน

แถมในการจัดธุดงค์แต่ละครั้งก็มีหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยวัดพระธรรมกายระบุชัดว่า “เป็นการจัดที่คณะสงฆ์ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกายร่วมกับองค์กรภาคีกว่า 40 องค์กร”

แม้แต่มหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยยังให้การสนับสนุนดังที่ พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวว่า การเดินธุดงค์มีมานานแล้ว เป็นกิจของพระสงฆ์ที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งในกรณีของธุดงค์ธรรมชัยนั้น เห็นว่า แต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน หากมองเป็นเรื่องที่ดี ก็เป็นการที่พระสงฆ์ถึง 1,130 รูป ได้เดินมาให้บุญถึงหน้าบ้านของประชาชน แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นการมองไปที่ผู้จัดงาน ซึ่งมีทั้งผู้ที่เลื่อมใส และไม่เห็นด้วย ขณะที่หากเป็นหน่วยงานอื่นๆ จัด ก็อาจจะไม่มีปัญหา หรือการร้องเรียนเช่นนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทาง มส.ยืนยันว่า ได้รับฟังข้อมูลต่างๆ เพื่อดูแลพระพุทธศาสนา ไม่ให้เสียหาย

...เพราะฉะนั้นจงอย่าแปลกใจว่าทำไมวัดพระธรรมกายถึงไม่แคร์กับเสียงนกเสียงกาจากภายนอก และทำไมถึงจัดได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ครั้งแรก

....เพราะฉะนั้นอย่าได้ไปสนใจว่าความหมายที่แท้จริงของการธุดงค์คืออะไร

เพียงแต่อยากให้รับรู้กันไว้ว่า ธุดงควัตร 13 ประการตามพระไตรปิฏกประกอบไปด้วย 1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร 3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร 5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร 6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร 7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร 8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร 9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร 10. ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร 11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร 12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร 13. ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร

…ไม่ทราบว่าธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกายเข้าเกณฑ์ข้อไหนบ้าง...นะจ๊ะ

KEEP WALKING
จากดอกกุหลาบสู่ดอกดาวรวย

นอกจากเรื่องเส้นทางการเดินและความหมายที่แท้จริงของการธุดงค์แล้ว สิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์วัดพระธรรมกายอย่างหนักก็คือรูปแบบของการจัดที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นำเอา “ลัทธิทุนนิยม” ที่มีความโดดเด่นทางการตลาดมาผสมผสานกับการจัดกิจกรรมอย่างลงตัว

ทำไมการเดินธุดงค์ถึงต้องระดมพระสงฆ์จากทั่วทุกสารทิศมาเข้าร่วมจำนวนมากนับพันรูป ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นกลยุทธ์การตลาดของวัดพระธรรมกาย โดยใช้พระจำนวนมากเพื่อเรียกความสนใจจากประชาชน ประหนึ่งเป็นการโชว์ตัวเพื่อสร้างภาพอย่างไรอย่างนั้น

คำถามถัดมาวัดพระธรรมกายไปกะเกณฑ์พระสงฆ์มาจากไหนมากมาย ?

จากการตรวจสอบข้อมูลชัดเจนว่า พระที่เข้าร่วมกิจกรรม KEEP WALKING มิได้มาจากวัดพระธรรมกายเพียงวัดเดียว หากแต่มีการกะเกณฑ์มาจากต่างจังหวัด

ทั้งนี้ พระที่มาจากต่างจังหวัดเมื่อมาถึงจะต้องมีการไป “ลงทะเบียน” ก่อน เพื่อรับ “ผ้าไตรจีวร 1 ไตร” และให้เปลี่ยนทันที เพื่อให้พระที่มาจากต่างจังหวัดได้ห่มจีวรที่มีสีเหมือนกัน จากนั้นก็นิมนต์ไปนั่งตามจุดที่ทางวัดกำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้มีระเบียบ ถ่ายรูปออกมาแล้วสวยงาม อันจะนำไปสู่การเกิดแรงศรัทธาต่อผู้ที่ได้พบเห็น

หลังจากที่กิจกรรมจบลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการถวายจตุปัจจัยเป็นค่าพาหนะในการเดินทางกลับประมาณ 1,000-1,500 บาท

ดังนั้น พระที่มาเดินธุดงค์กับวัดพระธรรมกายจึงเป็นพระจากต่างจังหวัดที่นิมนต์มา ขณะที่พระสังกัดวัดพระธรรมกายเองจริงๆ เข้าร่วมขบวนในลักษณะของการควบคุมอีกชั้นหนึ่ง แถมเวลาฉันเพลยังไม่ฉันรวมกับพระต่างจังหวัดอีกต่างหาก อย่างเช่นในการเดินธุดงค์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า พระวัดพระธรรมกายเข้าไปฉันเพลกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง

คำถามถัดมาก็คือทำไมการเดินธุดงค์ถึงต้องเชิญชวนให้มีการนำดอกไม้มาโรยให้พระเดินเหยียบย่ำ

หากยังจำกันได้ ในครั้งแรก วัดพระธรรมกายมิได้ใช้ “ดอกดาวเรือง” โปรยเพื่อให้พระเดินเหยียบย่ำ หากแต่ใช้ “ดอกกุหลาบ”

ทว่า ต่อมาในครั้งที่ 2 และครั้งต่อๆ มาได้เปลี่ยนมาเป็นดอกดาวเรืองหรือที่มีการเรียกเสียใหม่ว่า “ดาวรวย” แทน

เว็บไซต์ www.dmc.tv ได้อธิบายถึงที่มาของการใช้ดอกดาวเรืองเอาไว้ว่า “ดอกไม้ที่นำมาโปรยต้อนรับพระธุดงค์ก็คือ ดอกดาวเรืองซึ่งเป็นดอกไม้มงคลที่มีชื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง และมีสีสันเหลืองอร่ามงดงามประดุจทองคำล้ำค่า ดาวเรืองจึงเป็นดอกไม้ที่ควรค่าแก่การรองรับก้าวย่างอันเป็นมงคลของพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กำลังเดินธุดงค์เพื่อประกาศพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เปรียบดั่งเส้นทางที่เป็นเส้นทางสายทองคำ สำหรับชื่อดาวรวยนั้น มาจากชื่อเต็มว่า ดอกดาวรวย พันธุ์ทองชฎิลเศรษฐี ซึ่งพระเทพญาณมหามุนี เป็นผู้ตั้งให้ใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลและความรุ่งเรือง ร่ำรวยแก่ผู้โปรย

การเปลี่ยนชื่อจากดอกดาวเรืองเป็นดอกดาวรวย และคำอธิบายจากทางวัดพระธรรมกายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มิอาจมองเป็นอย่างอื่นได้ว่า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องการทำให้คนยึดติดกับทุนนิยม ทำบุญเพื่อหวังผลในเรื่องของความร่ำรวย มิได้ทำบุญเพื่อมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งเป็นแก่นแท้ของ พระพุทธศาสนา

แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว การเปลี่ยนชื่อเป็นดอกดาวรวยก็เป็นไปแนวทางตามคำสั่งสอนของวัดพระธรรมกายซึ่งเน้นในเรื่องของวัตถุเป็นสำคัญ ทำบุญมากก็ได้มาก โปรยมากจะได้รวยมาก

จริงอยู่...ลูกศิษย์หลายคนของวัดพระธรรมกายนั้นเข้าขั้นมหาเศรษฐีของเมืองไทย

แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันว่า ศิษย์เอกระดับอัครสาวกของวัดพระธรรมกายจำนวนไม่น้อยก็มีพฤติกรรมฉาวโฉ่ ในปัจจุบันที่เห็นกันชัดก็ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นด้วยมูลค่าสูงลิบลิ่วถึงระดับหมื่นล้านบาท

...ก็อยากรู้เหมือนกันว่า คำสั่งสอนของวัดพระธรรมกายนั้นได้เข้าไปถึงจิตใจของผู้นับถือมากน้อยเพียงใด

...แหมธุดงค์ธรรมชัย ธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลกทำไมถึงได้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาอัครสาวกตัวเอ้เช่นนี้....นะจ๊ะ



เทวรถของวัดพระธรรมกายหรือที่ผู้คนเรียกกันว่า รถจานบิน หรือยานแม
คำอธิบายเรื่องดอกดาวโรยของวัดพระธรรมกาย
การตอบโต้จาก  “สื่อสารองค์กร ธรรมกาย” เรื่องขบวนธุดงค์ธรรมชัยทำให้เกิดปัญหาการจราจรปัจจุบันถูกลบไปเรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น