xs
xsm
sm
md
lg

จับตารธน.เลี่ยง"เซ็นเซอร์สื่อ" ใช้มาตรการห้ามเผยแพร่แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(5ก.พ.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหมเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ไปแก้ไขเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ ว่า ไม่ได้มีการแก้ แต่เป็นเพียงการสอบถามเข้ามา และปรากฏอยู่ในร่างฯ ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะตั้งข้อสังเกต เหมือนกับที่กรรมการสิทธิฯ ตั้งข้อสังเกตของเขา ซึ่งตรงนี้ก็มีการมองว่า การที่เขียนไว้อย่างนี้ พอถึงวิกฤตชนิดที่ยังไม่เกิดสงคราม ซึ่ง สงคราม มันไม่ได้ประกาศกันง่ายๆ ขนาดสู้กันตามชายแดน ยังไม่ถึงขนาดสงคราม แต่ถ้าต้องรอถึงขนาดสงคราม มันก็ไม่ใช่ และคำถามคือ มันจะทำได้จะมีวิธีไหนหรือไม่ หรือใช้มาตราการใดก่อนที่จะไปถึงการประกาศสงคราม แต่จำเป็นต้องทำ ซึ่งไม่ใช่ว่า รัฐบาลนี้จะทำ รัฐบาลไหนอีกสิบปี ยี่สิบปี ก็ลองให้เขาไปคิดดูเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า มาตราการนี้จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องถือว่า เป็นการลิดรอน แต่คำถามคือ ทำไมถึงยอม มันมีข้อยกเลิกเวลาเกิดสงคราม ซึ่งสงครามหากเซ็นเซอร์สื่อ ก็ถือเป็นการลิดรอนเหมือนกัน แสดงว่า มันต้องมีอะไรสักอย่างที่เราเรียกว่า วิกฤต ปัญหาว่าจำเป็นต้องวิกฤต ถึงขั้นสงครามหรือไม่ ถ้าคิดว่าจำเป็นที่จะต้องคิดว่าเป็นสงคราม ก็แล้วไป ก็ปล่อยไปตามนั้น แต่ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสงคราม ก็ต้องไปคิดดูว่า จะมีมาตราการอื่นไหม ซึ่งผมเข้าใจว่า คำตอบคงพอมีอยู่แล้วว่า สำหรับการเซ็นเซอร์ คงต้องเก็บเอาไว้ในช่วงที่มีสงคราม แต่อย่างอื่นไม่ต้องมีสงคราม รัฐก็ใช้มาตรการได้ เช่น เมื่อรัฐไปตรวจข่าวไม่ได้ รัฐก็ให้จัดพิมพ์ แต่สั่งห้ามเผยแพร่ แค่นี้มันก็จบอยู่ตรงนั้นได้ ซึ่งการห้ามเผยแพร่นั้น ไม่จำเป็นต้องรอสงครามอยู่ ถ้าคิดว่าเหตุผลตรงนี้เพียงพอ ก็ไม่ต้องแก้ก็จบอยู่แค่นี้
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ข้อเสนอดังกล่าว มีสิทธิออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องให้กรรมาธิการยกร่างฯ คิด แต่วันนี้คำตอบก็คงจะรู้แล้วว่า กรรมาธิการยกร่างฯ บอกว่า มาตรการที่จะใช้กับกรณีของสื่อแรงที่สุดคือ การเซ็นเซอร์ คือการตรวจก่อนที่จะเผยแพร่ แต่ความจริงถ้าไม่ให้ไปตรวจสอบ ก็ทำได้ แต่เราห้ามได้อยู่แล้วที่จะไม่ให้เผยแพร่ แค่ประกาศกฎอัยการศึก ก็ห้ามเผยแพร่ได้อยู่แล้ว ก็แปลว่า ไม่ต้องไปตรวจ แต่คุณแค่ขายไม่ได้
เมื่อถามว่า การห้ามเซ็นเซอร์ในภาวะเหตุการณ์ไม่สงบ หมายความว่าอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ห้ามอยู่แล้ว ไม่ต้องถึงกับประกาศกฎอัยการศึก แค่ประกาศภาวะฉุกเฉินก็ห้ามได้ เวลานี้กรรมาธิการก็ใช้เหตุผลนี้อยู่ เพราะฉะนั้นสำหรับโทษที่รุนแรงที่สุดในเวลานี้ หรือการเซ็นเซอร์ก็คงเก็บไว้สำหรับสงคราม แต่สำหรับวิกฤตอื่นก็ใช้มาตรการอื่น เพราะฉะนั้นที่จะไปแก้ว่า ไม่ต้องมีสงครามก็ผ่อนลงมา เพราะมันอาจจะไม่คุ้มกัน ซึ่งเคยมีการอธิบายกันมา แล้ว ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ก็เขียนกันแบบนี้ว่า การตรวจสอบก่อนเผยแพร่ให้ทำได้ เฉพาะกรณีสงครามก็เขียนมาตลอดทุกฉบับ ส่วนสมาคมสื่อมวลชนจะไปโต้แย้งอะไร ก็สามารถทำได้ในชั้นกรรมาธิการยกร่างฯ ถ้ากรรมาธิการฯ เห็นว่าไม่ต้อง และหยุดไว้ตามที่ปรากฏในร่าง รัฐบาลก็ไม่ได้ว่าอะไร และก็เห็นว่าไม่มีใครพูดอะไร และการตั้งข้อสังเกตก็ทำได้ แม้กระทั่งถ้อยคำ "กับ แก่ แต่ ต่อ หรือ และ" แม้กระทั่งการตั้งข้อสังเกต คำว่า "ศึกษาอบรม" ให้ตัดคำว่าอบรม ออกก็เคยมีการตั้งข้อสังเกตมาแล้ว แต่จะทำไม่ทำ ก็เรื่องของกรรมาธิการฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น