xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” อ้างกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อใช้เฉพาะสงคราม แต่เปรยกฎอัยการศึกก็ห้ามได้อยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรี อ้างออกกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อ เพื่อใช้ในภาวะสงคราม ยอมรับลิดรอนสิทธิสื่อจริง แต่แค่ประกาศกฎอัยการศึกก็ห้ามได้อยู่แล้ว เผยที่ผ่านมารัฐตรวจข่าวก่อนตีพิมพ์ทำได้เฉพาะกรณีสงคราม โยนสมาคมสื่อโต้แย้งไปที่กรรมาธิการ

วันนี้ (5 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ไปแก้ไขเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ ว่า ไม่ได้มีการแก้ แต่เป็นเพียงการสอบถามเข้ามาและปรากฏอยู่ในร่าง ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะตั้งข้อสังเกตเหมือนกับที่กรรมการสิทธิฯตั้งข้อสังเกตของเขา ซึ่งตรงนี้ก็มีการว่าการที่เขียนไว้อย่างนี้พอถึงวิกฤตชนิดที่ยังไม่เกิดสงคราม ซึ่งสงครามมันไม่ได้ประกาศกันง่ายๆ ขนาดสู้กันตามชายแดนยังไม่ถึงขนาดสงคราม แต่ถ้าต้องรอถึงขนาดสงครามมันก็ไม่ใช่ และคำถามคือมันจะทำได้จะมีวิธีไหนหรือไม่หรือใช้มาตรการใดก่อนที่จะไปถึงการประกาศสงคราม แต่จำเป็นต้องทำ ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้จะทำรัฐบาลไหนอีกสิบปียี่สิบปีก็ลองให้เขาไปคิดดูเท่านั้นเอง

เมื่อถามว่า มาตรการนี้จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการลิดรอน แต่คำถามคือทำไมถึงยอม มันมีข้อยกเลิกเวลาเกิดสงคราม ซึ่งสงครามหากเซ็นเซอร์สื่อก็ถือเป็นการิดรอนเหมือนกัน แสดงว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างที่เราเรียกว่าวิกฤต ปัญหาว่าจำเป็นต้องวิกฤตถึงขั้นสงครามหรือไม่ ถ้าคิดว่าจำเป็นที่จะต้องคิดว่าเป็นสงครามก็แล้วไป ก็ปล่อยไปตามนั้น แต่ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสงครามก็ต้องไปคิดดูว่าจะมีมาตรการอื่นไหม ซึ่งผมเข้าใจว่าคำตอบคงพอมีอยู่แล้วว่าสำหรับการเซ็นเซอร์คงต้องเก็บเอาไว้ในช่วงที่มีสงครามแต่อย่างอื่นไม่ต้องมีสงครามรัฐก็ใช้มาตรการได้ เช่น เมื่อรัฐไปตรวจข่าวไม่ได้รัฐก็ให้จัดพิมพ์แต่สั่งห้ามเผยแพร่แค่นี้มันก็จบอยู่ตรงนั้นได้ ซึ่งการห้ามเผยแพร่นั้นไม่จำเป็นต้องรอสงครามอยู่ถ้าคิดว่าเหตุผลตรงนี้เพียงพอก็ไม่ต้องแก้ก็จบอยู่แค่นี้

ถามต่อว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีสิทธิออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องให้กรรมาธิการยกร่างฯ คิดแต่วันนี้คำตอบก็คงจะรู้แล้วว่ากรรมาธิการยกร่างฯ บอกว่ามาตรการที่จะใช้กับกรณีของสื่อแรงที่สุดคือการเซ็นเซอร์คือการตรวจก่อนที่จะเผยแพร่แต่ความจริงถ้าไม่ให้ไปตรวจสอบก็ทำได้ แต่เราห้ามได้อยู่แล้วที่จะไม่ให้เผยแพร่ แค่ประกาศกฎอัยการศึกก็ห้ามเผยแพร่ได้อยู่แล้ว ก็แปลว่าไม่ต้องไปตรวจแต่คุณแค่ขายไม่ได้

เมื่อถามว่า การห้ามเซ็นเซอร์ในภาวะเหตุการณ์ไม่สงบหมายความว่าอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ห้ามอยู่แล้ว ไม่ต้องถึงกับประกาศกฎอัยการศึก แค่ประกาศภาวะฉุกเฉินก็ห้ามได้ เวลานี้กรรมาธิการก็ใช้เหตุผลนี้อยู่ เพราะฉะนั้นสำหรับโทษที่รุนแรงที่สุดในเวลานี้หรือการเซ็นเซอร์ก็คงเก็บไว้สำหรับสงคราม แต่สำหรับวิกฤตอื่นก็ใช้มาตรการอื่น เพราะฉะนั้นที่จะไปแก้ว่าไม่ต้องมีสงครามก็ผ่อนลงมา เพราะมันอาจจะไม่คุ้มกัน ซึ่งเคยมีการอธิบายกันมาแล้ว ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาก็เขียนกันแบบนี้ว่าการตรวจสอบก่อนเผยแพร่ให้ทำได้เฉพาะกรณีสงครามก็เขียนมาตลอดทุกฉบับ ส่วนสมาคมสื่อมวลชนจะไปโต้แย้งอะไรก็สามารถทำได้ในชั้นกรรมาธิการยกร่างฯ ถ้ากรรมาธิการฯ เห็นว่าไม่ต้องและหยุดไว้ตามที่ปรากฏในร่าง รัฐบาลก็ไม่ได้ว่าอะไรและก็เห็นว่าไม่มีใครพูดอะไรและการตั้งข้อสังเกตก็ทำได้ แม้กระทั่งถ้อยคำ “กับ แก่ แต่ ต่อ หรือ และ” แม้กระทั่งการตั้งข้อสังเกตคำว่า “ศึกษาอบรม” ให้ตัดคำว่าอบรมออกก็เคยมีการตั้งข้อเกตมาแล้ว แต่จะทำไม่ทำก็เรื่องของกรรมาธิการ


กำลังโหลดความคิดเห็น