xs
xsm
sm
md
lg

คิดผิด ทำผิด และดื้อแพ่ง : เหตุเกิดลัทธิแฝง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ศรัทธาหรือความเชื่อในบุคคลหรือวัตถุ เมื่อจำนวนผู้เชื่อมีมากขึ้น และเป็นเหตุเกิดแห่งลาภสักการะ บุคคลหรือวัตถุนั้นก็กลายเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธา และเป็นที่มาของลัทธิ ทั้งที่ดำรงอยู่เป็นเอกเทศและที่แฝงอยู่ในศาสนา

ลัทธิกับศาสนาต่างกันอย่างไร และลัทธิแฝงหมายถึงลัทธิประเภทไหน?

ศาสนาโดยนัยแห่งคำนิยามตามหลักวิชาศาสตร์มาเปรียบ ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีองค์ประกอบ 5 ประการคือ

1. มีศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนา เช่น ศาสนาพุทธมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น

2. มีพระคัมภีร์จารึกคำสอนไว้เป็นหลักฐาน และเป็นที่ยอมรับของศาสนิกแห่งศาสนานั้นๆ เช่น ศาสนาพุทธมีพระไตรปิฎก เป็นต้น

3. มีพิธีกรรมคือกิจกรรมทางศาสนาซึ่งองค์ศาสดาได้สอนไว้ เช่น ศาสนาพุทธมีการอุปสมบทให้กุลบุตรผู้เลื่อมใสศรัทธา และปรารถนาจะบวช เป็นต้น

4. มีสถานที่ประกอบพิธีกรรม เช่น ศาสนาพุทธมีพระอุโบสถ เป็นต้น

5. มีสาวกผู้สืบทอดคำสอน และเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

ส่วนลัทธิมีองค์ไม่ครบ และส่วนไหนจะขาดข้อที่ 1 ด้วยเหตุนี้นักปรัชญาทางศาสนาบางท่านได้กล่าว พราหมณ์เป็นเพียงลัทธิเนื่องจากไม่ปรากฏว่าใครเป็นศาสดา ผู้ก่อตั้ง แต่เป็นความเชื่อสืบต่อกันมา แต่องค์ประกอบอื่นมีอยู่ครบ

สำหรับลัทธิแฝงนั้น ผู้เขียนบัญญัติขึ้นมาเองโดยอาศัยปัจจัยแวดล้อมทั้งในอดีต และในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากกรณีที่นำเอาคำสอนของศาสดาบางช่วงบางตอนมาตีความ ทำให้ผิดแผกไปจากคำสอนเดิม และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติเฉพาะตน และเมื่อมีผู้ศรัทธานับถือมากเข้า ก็ตั้งตนเป็นเจ้าสำนักระดับเกจิอาจารย์ และแสวงหาลาภสักการะจากผู้นับถืออย่างที่สุด เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เรื่องของพระเทวทัตซึ่งตั้งตนเป็นเจ้าสำนักโดยการนำเอาพระวินัย และธรรมะบางข้อมาและบิดเบือนด้วยคิดเห็นของตน และชักชวนให้ภิกษุอื่นที่มีความเห็นเช่นเดียวกันรวมกันเพื่อทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์ ดังปรากฏในคัมภีร์พระวินัยปิฎกโดยย่อดังต่อไปนี้

พระเทวทัตคิดหวังในลาภสักการะ จึงได้สำแดงเดชให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสด้วยการแปลงกายเป็นเด็กน้อยไปนั่งบนตักของอชาตศัตรูกุมาร เพื่อทำให้เกิดความเลื่อมใสมีลาภสักการะเกิดขึ้น และคิดจะปกครองสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า

เมื่อได้โอกาสพระเทวทัตจึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ขอให้สละสงฆ์ให้แก่ตน ตนจะบริหารเอง โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงมีอายุมากแล้วขอให้ทรงขวนขวายน้อย

พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธถึง 3 ครั้ง และในครั้งที่ 3 ทรงตรัสว่า แม้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพระองค์ยังไม่ทรงมอบให้ไฉนเลยจะมอบให้แก่พระเทวทัต ทำให้พระเทวทัตโกรธและผูกอาฆาตในพระพุทธเจ้า

ต่อมาพระพุทธเจ้าตรัสเรียกประชุมสงฆ์เพื่อขอนุมัติประกาศไม่รับรองการกระทำใดๆ ทั้งด้วยกายและวาจาของพระเทวทัตถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และให้สงฆ์สวดประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นผู้ชี้แจงแก่ชาวกรุงราชคฤห์

พระเทวทัตจึงได้เข้าเฝ้าอชาตศัตรูกุมาร ยุยงให้ฆ่าพระราชบิดาคือพระเจ้าพิมพิสารเพื่อชิงราชสมบัติ ส่วนตนเองจะฆ่าพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง แต่พระราชกุมารทำไม่สำเร็จ

แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบเรื่องว่า พระราชกุมารอยากได้ราชสมบัติ ก็ทรงมอบให้ก็มีอำนาจมากขึ้น

พระเทวทัตจึงขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูเพื่อฆ่าพระพุทธเจ้า แต่ก็ล้มเหลวนับจากนั้นได้พยายามอีก 2 ครั้งแต่ทุกครั้งก็ล้มเหลว เมื่อการวางแผนฆ่าล้มเหลว พระเทวทัตจึงได้คิดอุบายโดยการชวนภิกษุซึ่งเป็นของตนมีพระโกกาลิกะ เป็นต้น เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วเสนอข้อปฏิบัติ 5 ประการเพื่อให้เห็นว่าตนเองเคร่งครัด อันได้แก่

1. ภิกษุทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าสู่บ้านมีโทษ

2. ให้ถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ

3. ให้ถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต รับจีวรที่เขาถวายมีโทษ

4. ให้อยู่โคนไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ

5. ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ฉันมีโทษ

พระพุทธเจ้าปฏิเสธ 4 ข้อแรก (โดยคงให้เป็นเพียงข้ออนุญาตทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้) สำหรับข้อที่ 5 ทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์ โดยเงื่อนไข 3 ประการคือ 1. ไม่ได้เห็น 2. ไม่ได้ฟัง 3. ไม่ได้นึกรังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อตน

พระเทวทัตได้ทีจึงเที่ยวประกาศว่า ตนเองเคร่งกว่าพระพุทธเจ้า

พระเทวทัตคือตัวอย่างของการเกิดลัทธิแฝง โดยการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาบิดเบือน และเสริมแต่งด้วยความคิดของตน ตั้งตัวเป็นเจ้าสำนักโดยอาศัยบารมีของราชอาณาจักรเกื้อหนุนตนเอง

ในเวลานี้หลายสำนักในประเทศไทย ได้นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาบิดเบือนและเสริมแต่ง ด้วยวาทกรรมของตนเองเพื่อปลูกฝังศรัทธา เพื่อหวังให้เกิดลาภสักการะโดยที่ทางฝ่ายสงฆ์จัดการอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ทำผิดวินัยและพระสงฆ์ปี 2505 ในหมวด 4 อย่างชัดเจน แต่อยู่ได้อย่างท้าทายจะด้วยมีสาวกหรือผู้ศรัทธาในเจ้าสำนักอันเป็นปัจเจกหรือจะด้วยมีบุคคลในวงราชการให้การเกื้อหนุน ทั้งๆ ที่การสอนในบางข้อบางประเด็นขัดแย้งกับพระธรรมและวินัย และหมิ่นเหม่ต่อการต้องอาบัติปราชิกข้อ 4 ที่ว่าด้วยการอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตนเพื่อหวังให้เกิดลาภสักการะอย่างชัดเจน แต่ก็ลอยนวลอยู่ได้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ทางฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายบ้านเมืองจะได้ร่วมมือกันทำสังคายนาพระธรรมวินัย และแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ให้มีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนพระธรรมวินัย จงใจเพิกเฉยต่อกฎหมายด้วยการดื้อแพ่งอยู่ให้พ้นไปจากวงการพระพุทธศาสนาเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น