xs
xsm
sm
md
lg

"ประยุทธ์"เสียใจ สหรัฐฯแทรกแซงไทย เรียก"ปึ้ง"ตบปากหลังยุแยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"บิ๊กตู่"เสียใจท่าทีสหรัฐฯ แทรกแซงไทย แต่ยืนยันความสัมพันธ์ยังดี เผยถอดถอน "ปู" ไม่เกี่ยวไล่ล่าตระกูลไหน ผิดโดนหมด ส่วนการจะไปนอก ให้ถามศาลก่อน สั่ง คสช. เรียก "ปึ้ง" ปรับทัศนคติ หลังออกมายุแยง ลั่นใครยังฝ่าฝืนจะใช้อำนาจเด็ดขาด "บัวแก้ว"เรียกอุปทูตสหรัฐฯ ทำความเข้าใจ จวกไร้วุฒิภาวะใช้เวทีการศึกษาวิจารณ์การเมืองไทย ด้าน "สุรพงษ์" พร้อมเข้าค่ายทหาร หากมีหนังสือเรียก ลูกหาบตอกนายกฯ ต้องเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นกันบ้าง "หมอวรงค์"ขออโหสิกรรม "ยิ่งลักษณ์-บุญทรง" ก่อนบวช

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ทางการสหรัฐฯ ยังคงโจมตีประเทศไทยในเรื่องกฎอัยการศึก และการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้ง ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ตนได้บอกผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศไปแล้วว่าเราเองก็มีความเสียใจที่การพูดจาของผู้แทนสหรัฐฯ เป็นไปในทางที่ไม่เข้าใจการทำงานของเรา ก็รู้สึกเสียใจ เพราะสหรัฐฯ เป็นมิตรประเทศกับเรามายาวนานร้อยกว่าปี ถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุด และที่ผ่านมา เราก็ไม่เคยไปตอบโต้อะไรเขาเลย ดังนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องชี้แจ้งให้เขาเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาของไทยมีขั้นตอน

** ยันถอดถอน"ปู" ไม่เกี่ยวไล่ล่า

พล.อประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องคดีความหรือเรื่องการถอดถอนที่มีการดำเนินการของ สนช. นั้น ก็เป็นวิธีการตามปกติ ไม่ได้ไล่ล่าตระกูลใคร

"การดำเนินการในเรื่องการถอดถอน ไม่ใช่เป็นการไล่ล่าตระกูลโน้น ตระกูลนี้ ถ้ามีประเด็นแห่งความผิด ทุกตระกูลก็ต้องโดนทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ว่าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วหรือไม่"

ทั้งนี้ ได้สั่งการไป ให้เอาคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายๆ คดี ที่มีความสำคัญเอาเข้ามา เช่น คดีการทุจริตในทุกๆ เรื่อง ทั้งสหกรณ์ และเรื่องต่างๆ จะเห็นได้ว่าวันนี้พยายามทำทุกอย่างให้เคลียร์ให้ได้ และให้เกิดความเข้าใจว่าเรานำทุกเรื่องเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งในวันนี้ ก็เหมือนกับกระบวนการปกติ ขอร้องว่าให้เอาเหตุและผลมาหักล้างกัน วันนี้พยายามนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วหากมีความผิดทางอาญา ก็ไปสู้กันในชั้นศาล โดยเอาหลักฐานมาต่อสู้กัน ซึ่งตนไม่สามารถไปก้าวล่วงการตัดสินดังกล่าวได้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลว เพียงแต่วันนี้ เราอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่บังเอิญว่าคนทำผิดมันโยงใยกันไปมา เลยดูเหมือนว่าเป็นการดำเนินการเพียงข้างเดียว แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่ อย่าไปมองเช่นนั้น ไม่เช่นนั้น ทำปฏิวัติมา ก็เสียของเปล่า

**ให้"ปู"ไปนอกหรือไม่อยู่ที่ศาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าพร้อมที่จะดำเนินการกับทั้งสองฝ่าย ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องถามว่า วันนี้เรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า

"ผมเห็นว่าทั้ง 28 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เข้ามามอบตัวทั้งหมดแล้ว อีกฝ่ายก็เข้ามามอบตัวบ้างสิ ถ้าคิดว่าตัวเองถูก ก็เข้ามามอบตัวเรื่องมันก็จบ หนีกันไปทำไม ถ้าเข้ามาต่อสู้กันในกระบวนยุติธรรม ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน แล้วก็ประกันตัวกันออกไป แล้วก็สู้คดีกัน มาประเทศเราต้องเป็นแบบนี้"

เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่หนีไปต่างประเทศ คือ พวกที่ไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แล้วสื่อจะไปช่วยประชาสัมพันธ์ให้เขาทำไม ในเมื่อมันมีความผิด ไม่เช่นนั้นอีกหน่อยคนทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา หรือคดีอื่นๆ ก็คงหนีไปต่างประเทศกันหมด แล้วก็กลับมาด่าประเทศตัวเอง อยากถามว่า แล้วประเทศไทยจะอยู่อย่างไร แล้วคนเหล่านี้จะไม่กลับมาประเทศไทยอีกแล้วหรือ ถ้าไม่กลับ ก็ไม่ต้องกลับ

อย่างไรก็ตาม คนที่หลบหนีไปนั้น ก็อยู่ระหว่างการติดตามตัว ตามขั้นตอนของกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายกฎหมาย ถ้าประเทศใดที่กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็อยู่ที่ว่าประเทศนั้น จะพิจารณาส่งหรือไม่ส่ง แต่ปัญหาวันนี้ คือ มีการไปสร้างความรับรู้ และความเข้าใจที่ผิดๆ ว่ามีการไปทำร้าย ละเมิดสิทธิ ยืนยันว่า ไม่มีการไปดำเนินการเช่นนั้น

"มีการไประบุว่า มีการไปนำตัวมาแล้วไปซ้อม คนอย่างผมจะทำหรือไม่ทำ มีแต่สั่งว่า อย่าไปทำอะไรเขานะ เรียกมาพูดคุย หาอาหารให้กินกันดีๆ ระดับผู้ใหญ่ อดีตนายกฯ ขอห้องแอร์ ผมก็หาห้องแอร์ให้นอน นี่แหละคือผม แล้วไปพูดอะไรกันคนละเรื่อง หาว่าเอาถุงดำครอบหัว โธ่ นั่นมันในหนัง ประเทศเราใครจะไปทำ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องคดีอาญา คสช. จะยอมปล่อยออกนอกประเทศเหมือนในอดีตหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องการยอมปล่อย หรือไม่ยอมปล่อย แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจาณาของศาลว่าจะอนุญาตให้ออกนอกประเทศได้หรือไม่ ซึ่งวันนี้ตนก็ได้สั่งให้ คสช.ไปพิจารณาและศึกษาดูว่าหากมีคดี หรือศาลตัดสินคดีแล้ว จะสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะวันนี้การเดินทางเข้าออกนอกประเทศโดย คสช. มีการเสนอขึ้นมาโดยผ่านการกลั่นกรองว่าจะไปที่ไหนบ้าง ไปกี่วัน มีกี่ประเทศ มีตั๋วเดินทางมีอย่างชัดเจน ตนก็อนุมัติ แต่ถ้าศาลระบุว่า เมื่อตัดสินเป็นอย่างนี้แล้ว ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ก็จะไม่ให้ออก

เมื่อถามว่า วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ติดต่อมาเพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีการติดต่อเข้ามา ยังไม่มีการขออนุญาต ถ้ามีการขอมา ตนก็จะส่งเรื่องไปถามศาลว่าจะให้ไปหรือเปล่า ถ้าศาลบอกว่าไปได้ก็ไปได้

** สั่งคสช.เรียก"ปึ้ง"มาตบปาก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้สั่งการให้ คสช. เรียกคนที่ออกมาพูดในลักษณะข่มขู่ว่า เดี๋ยวจะเกิดความรุนแรงเหมือนกับภาคใต้มาชี้แจง เพราะจะพูดเช่นนี้ไม่ได้ การออกมาขู่รัฐบาลเช่นนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย เดี๋ยวให้เรียกมาเพื่อพูดคุยกัน และถ้ายังพูดอีกต่อไป ตนก็จะใช้อำนาจของตนระงับการเดินทางและห้ามออกนอกประเทศ และจะต้องมีการตรวจสอบบัญชีการใช้จ่ายเงินทองต่างๆ เรื่องนี้มีมาตรการจากเบา ไปหาหนัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ออกมาแสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองของไทย จะดำเนินการอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวผมจะให้ คสช.เรียกมา ผมพูดไปแล้ว ไม่ว่าใครออกมาพูด ก็จะเรียกมาให้หมดทุกคน วันนี้ขอร้องว่า ถ้ามองผมเป็นความหวังที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ก็ขอร้องว่า อย่าทำลายความหวังของท่านตรงนี้ ถ้าเห็นว่าผมเป็นความหวังเดียว เพราะที่ผ่านมามันไม่มีใครทำ และที่ผมมีอารมณ์โมโห ก็เป็นแบบนี้ คนสูงวัยและผมก็ถอดหินสีออกไปแล้ว และได้บอกกับลูกสาว ซึ่งเขาก็เข้าใจดี ซึ่งเขารู้ว่าอะไรก็เอาไม่อยู่ อย่างไรก็ตาม ปกติผมเป็นคนอารมณ์ดี เป็นคนโรแมนติกอยู่เหมือนกัน

เมื่อถามว่า คิดว่าจะฝ่ากลุ่มที่พยายามดิสเครดิต และต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องฝ่าไปได้ แต่ต้องทำได้ด้วยการสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจ แม้แต่การเรียกตัวมา ก็จะใช้ความเข้าใจพูดกับเขาดีๆ เขาก็เงียบ และเข้าใจ แต่เขาก็บอกว่าเขาจำเป็นต้องแสดงความเห็นทางการเมือง แต่วันนี้มันไม่ใช่เวลาตรงนั้น ก็ขอว่าอย่าไปพูดอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ

"ใครพูดบ้างล่ะ สำหรับคุณยิ่งลักษณ์ ผมให้เกียรติเขาตลอดมา ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

** "เสียใจ"กับท่าทีของมะกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่สหรัฐฯ ไม่เข้าใจไทย จะส่งผลกระทบอะไร หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า จะมีผลกระทบในเรื่องอะไร เพราะขณะนี้ความสัมพันธ์ก็ยังดีอยู่ การค้าขาย การลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และธุรกิจต่างๆ ก็มีการค้าขายกันอยู่ ผู้แทนทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ก็ยังมีความมั่นใจในการทำงานของรัฐบาล ที่ได้มีการแถลงยุทธศาสตร์ไปแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับเขามากกว่าภาวะปกติด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าทีของสหรัฐฯ ในวันนี้ ตนไม่ขอวิจารณ์ และยังมั่นใจว่า สหรัฐฯ สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือเรื่องการเมือง และอะไรคือเรื่อง การค้า เศรษฐกิจ ซึ่งการเมืองสหรัฐฯ ก็เหมือนการเมืองบ้านเรา ก็คงไม่สามารถที่จะพูดอย่างอื่นได้ เขาก็คิดถึงประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่าควรเป็นแบบนั้น แต่อย่าลืมว่าคนของเรา วิถีชีวิตของเรา หรือผู้นำทางการเมืองของเรา ในอดีตมันไม่เหมือนของเขา นี่คือความแตกต่าง ซึ่งทางสหรัฐฯ ต้องฟังบริบทเหล่านี้ด้วย และที่ผ่านมา เมื่อผู้แทนเขาต้องการฟังอีกทางหนึ่ง เราก็ให้อิสระ โดยไม่ห้าม แต่เขาต้องมาถามว่า สิ่งที่ฟังมานั้นใช่หรือไม่ จะไปฟังความข้างเดียวไม่ได้ แต่สุดท้ายต้องมองว่า รัฐบาลเดินหน้าประเทศอย่างไร การปราบปรามการทุจริต การดำเนินคดีเราทำทุกเรื่องเพื่อคนไทยทุกคน

เมื่อถามว่า การที่สหรัฐฯ มีท่าทีเช่นนี้ จะทำให้การเป็นแหล่งหลบหนีของผู้กระทำผิด นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่า วันนี้มีการหลบหนีเข้าไปหรือยัง สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกันอธิบายว่าไม่ใช่ทุกเรื่องจะเป็นคดีทางการเมืองทั้งหมด ยืนยันว่า ตนในฐานะนายกฯ จะไม่ยอมให้ประเทศใดเข้ามาแทรกแซงบ้านเรา ทุกประเทศมีศักดิ์ศรี ประเทศไทยก็ต้องมีศักดิ์ศรี ประเทศไทยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราให้เกียรติกับทุกๆ ประเทศ ตนไม่เคยไปต่อต้านใคร

"ผมเสียใจในการแสดงความคิดเห็นบางอย่างที่มันไม่ใช่ ไปฟังข้างนี้แล้วออกมาพูดแบบนี้ มันไม่ใช่ ผมก็เสียใจที่เราเป็นมิตรกันมายาวนาน แต่ผมไม่ใช่ศัตรูของเขา อนาคตวันหน้าเราก็ต้องเดินหน้าต่อไป และบางครั้งที่ผมไม่พูดอะไรก็เพราะ อาย ส่วนอีกฝ่ายที่พยายามพูด สื่อก็ต้องไปตำหนิว่าไม่ถูกต้องและต้องให้ความรู้กับประชาชน การทำงานของรัฐบาลถ้าทำไม่ดีก็ให้ว่ามา แต่ถ้าอะไรดี ก็ช่วยไปขยายความให้ประชาชนเข้าใจไม่ใช่ให้ประชาชนมาตี"

**เรียกอุปทูตสหรัฐฯมาทำความเข้าใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี อุปทูต รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางมายังกระทรวงการต่างประเทศ ตามคำเชิญของทางการไทย เพื่อเข้าชี้แจงข้อข้องใจ และความไม่สบายใจของฝ่ายไทย

หลังพูดคุยกว่า 2 ชั่วโมง นายดอน ปรมัตวินัย รมช.ต่างประเทศ แถลงว่า ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย อธิบายและปรับความเข้าใจกับรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เพื่อให้เข้าใจกับสถานการณ์ในประเทศไทย ภายหลังนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 25-26 ม.ค.ที่ผ่านมา

“ตามที่เป็นข่าวว่า พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ ได้พูดคุยกับ นายแดเนียล รัสเซล เมื่อวันที่ 26 ม.ค. และมีข้อเสนอจากสหรัฐฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้อธิบายว่า หากมีการยกเลิกกฎอัยการศึก หรือเพื่อตามใจใคร และหากเกิดปัญหา รัฐบาลลดการใช้กฎอัยการศึกแล้วเกิดปัญหาในพื้นที่ต่างๆ หรือเป็นในสหรัฐฯ แล้วจะทำอย่างไร เพราะการไปเยือนประเทศใดของสหรัฐฯ ก็ถือเป็นสิทธิ และเป็นเวทีเปิด"

** "มะกัน"สร้างบาดแผลในหัวใจของคนไทย

นายดอนกล่าวว่า สาเหตุที่เราเชิญอุปทูตมารับทราบ จากกรณีที่ นายแดเนียล รัสเซล ไปเลือกปาฐกถาพาดพิงการเมืองในไทย ถือว่าเป็นการใช้เวทีการศึกษาพูดต่อหน้าเยาวชนไทย (ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ) เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา

"การพูดวันนั้นเริ่มต้นดี แต่ช่วงท้ายๆ เป็นการสื่อสารต่อหน้าเยาวชนไทย ถือเป็นการมากระตุ้นเยาวชนที่จะออกมาทำงานเพื่อความสัมพันธ์กับสองประเทศในอนาคต แต่ผู้มาเยือน กลับเลือกที่จะพูดเรื่องการเมือง ไม่เลือกพูดเรื่องที่ทำให้เยาวชนไทยรู้สึกตื่นตัว ประเด็นนี้เราถือว่าสำคัญ แต่ถ้าผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ พูดแล้วก็อาจจะเกิดปัญหา อย่างนี้เห็นกันอยู่ว่ามีคนพยายามชักใย จะเห็นได้จากตามหัวข่าวต่างๆ ที่ออกมา ท่านควรจะพูดเพื่อกระตุ้นเยาวชนในเรื่องต้นๆ ที่ถือว่าเป็นความสัมพันธ์อันดี แต่กลับพูดเช่นนี้ บางคนเขาถือว่าเป็นบาดแผลในหัวใจ” รมช.ต่างประเทศ กล่าว

นายดอนกล่าวต่อว่า ได้ชี้แจงกับอุปทูตว่า กระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายล้วนๆ ที่ดำเนินการต่อนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต แต่การที่ผู้มาเยือนกลับนำเรื่องการเมืองในไทย ถือว่าผู้เตรียมข้อมูลให้ท่านพูดไม่เข้าใจการเมืองของไทย เราแจ้งกับเขาว่า เป็นการปฏิบัติต่อคนที่ดำเนินการผิดพลาดจากนโยบาย

ต่อข้อถามที่ว่า รัฐบาลไทยกำลังเมินเฉยต่อคำเตือนของสหรัฐฯ หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า เราไม่ได้เมินเฉย แต่เรากำลังก้าวย่างอย่างมีศักดิ์ศรี และก้าวย่างไปตามรูปแบบ 11 ด้าน ที่เกี่ยวโยงกับภารกิจของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสมากขึ้น และเกิดความผาสุกอย่างยั่งยืน

"เราไม่ได้เมินเฉย เรารับทราบสถานการณ์ต่างประเทศภายหลังเหตุการณ์ 22 พ.ค.2557 จากทุกๆ ประเทศ แต่เรามีเส้นทางเดินเพื่อประชาชนของเรา ทั้งนี้ เชื่อว่าอุปทูตสหรัฐฯ เขาจะไปขยายความเพื่อรายงานหรือไปแปลงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเขาเอง เพราะวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกัน”

ต่อคำถามที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับลดความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย นายดอน กล่าวว่า กว่า 128 ปี ต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศในวันนี้ไม่ถือว่าเป็นการปรับลดความสัมพันธ์ต่อกัน เพราะเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.2557 ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งประชาชนสหรัฐฯ นักธุรกิจสหรัฐฯ คนในสหรัฐฯ หรือในสถานทูตสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ เขาเดือดร้อนในเรื่องของหลักการ เป็นการขัดหลักการของเขาที่รับทราบกันในระดับนานาชาติ แต่ตรงกันข้ามกับความสงบและความปลอดภัยในประเทศไทย

“การไปพูดที่จุฬาฯ วันนั้น เป็นความรู้สึกของคนไทยโดยทั่วไป ถ้าเป็นเราไปพูดในประเทศไหนที่กำลังเกิดความขัดแย้ง หรือในสหรัฐฯ เราคงจะไม่พูดเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประทศไหนก็ตาม เรามีโอกาสเลือกว่าจะพูดหรือไม่พูด”นายดอนกล่าว

** ทหารเตรียมเชิญตัวมาพูดคุย

พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้คสช. เชิญ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ เข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจ ว่า ขณะนี้ตนได้รับทราบคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว สำหรับรายละเอียดจะเชิญมาพูดคุยวันใดนั้น ตนไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยจะมีทีมเจ้าหน้าที่ทหารของ กกล.รส. เป็นผู้พูดคุย ส่วนจะถึงขั้นต้องนำเข้าค่ายทหาร เพื่อปรับทัศนคติหลายวันหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือ ถ้าให้ความร่วมมือ ก็ให้กลับบ้านได้ หากไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะมีขั้นตอนต่อไป คือ การตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน

***"ปึ้ง"บอกยังไม่ได้รับหนังสือเชิญ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนได้ทราบจากข่าวบ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นหนังสือเชิญ จึงไม่อยากแสดงความเห็นอะไรในขณะนี้ แต่หากมีหนังสือมาเมื่อใด ก็พร้อมไปพบเมื่อนั้น เพราะสิ่งที่ตนพูด เป็นการอธิบายในสิ่งที่ นายแดเนียล รัสเซล รู้สึกกับประเทศไทยเท่านั้น

ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี กล่าวว่า ไม่อยากให้นายกฯ เป็นคนออกมาพูดเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง เพราะเชื่อว่านายกฯ เป็นผู้ใหญ่ และไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมือง จึงต้องรอบคอบในการพูดอะไรออกมา และการเชิญใครไปพูดคุยนั้น อยากให้หน่วยงานความมั่นคง เป็นผู้ดำเนินการ เช่น กรณีนายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่ถูกกองทัพภาคที่ 1 เชิญเข้าพูดคุย ส่วนที่มีกระแสข่าวเรื่อง การเชิญบุคคลต่างๆ เข้าพูดคุยปรับทัศนคตินั้น ตนไม่ได้รู้สึกกังวล แต่อยากให้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นบ้าง และเท่าที่ทราบ นายสุรพงษ์ พูดในลักษณะท้วงติงธรรมดา ไม่ได้กระทบต่อรัฐบาลแต่อย่างใด และข่าวดังกล่าว คงไม่กระทบต่อการปรองดอง ขณะนี้ยังมีเวลาที่จะดำเนินการ อยากให้รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหา และบ้านเมืองก็มีปัญหาอยู่ปกติ อยากให้นายกฯ ใจเย็นๆ

"เวลานี้ไม่อยากให้มีการพูดว่า ทหารเป็นฝ่ายไล่ล่า เพียงฝ่ายเดียว ขอให้ทุกคนอดทน รอดูการทำงานตามโรดแมปที่ได้สัญญาไว้ ถ้าไม่ทำตามสัญญา ก็ค่อยว่าอีกที ยังไม่สายเกินไป" นายสมคิดกล่าว

** "หมอวรงค์"ขออโหสิกรรม"ยิ่งลักษณ์"

วานนี้ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้โฟสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความระบุว่า กระผมขอกราบลาอุปสมบท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลงของพวกเรา ในวันที่ 31 ม.ค.2558 นี้ ที่วัดสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ กรรมอันใดที่กระผมได้ล่วงเกินท่าน ทั้งทางกาย วาจา ใจ โดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ทั้งที่รู้ หรือไม่รู้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยประมาทพลาดพลั้งต่อท่าน โดยเฉพาะคุณยิ่งลักษณ์ คุณบุญทรงและคณะ ขอได้โปรดอโหสิกรรมและให้อภัยกระผมด้วย เนื่องจากกระผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตน มีแต่ประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง และด้วยอานิสงส์แห่งอภัยทานนี้ ขอให้ท่านได้รับผลบุญจากการอุปสมบทในครั้งนี้ด้วยครับ

ทั้งนี้ นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจที่จะบวชอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง หรือประเด็นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พระสุเทพ ปภากโร หรือ หลวงลุง ซึ่งท่านได้ชักชวนให้มาบวชที่วัดสวนโมกข์ และตนขออโหสิกรรมกับทุกคน รวมถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะ ไม่ได้ตั้งใจจะประชดอะไร แต่เพราะเห็นว่าเราไม่มีอะไรหมาดหมาง หรือมีความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัว เป็นการบวชแผ่บุญแผ่กุศลซึ่งกันและกันด้วย และส่วนหนึ่งก็อยากจะศึกษาพระธรรมวินัย เพราะคิดว่าอย่างน้อยจะได้เอาธรรมะมาใช้ในการทำงานทางการเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในครั้งนี้จะมี นายชินวรณ์ บุญเกียรติ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ อดีต ส.ส.สุโขทัย ร่วมบวชด้วย

***โพลย้ำถอดถอน"ปู"ไม่กระทบปรองดอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “อนาคตพรรคเพื่อไทย อนาคตประชานิยม หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกถอดถอน” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 959 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 45.7 มีความเห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกถอดถอนมากที่สุด คือ การปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว รองลงมาร้อยละ 24.5 คิดว่า เป็นเกมการเมืองของฝ่ายตรงข้าม และร้อยละ 15.8 คิดว่า เกิดจากดำเนินโครงการขาดทุน ทำให้ประเทศเป็นหนี้ ที่เหลือร้อยละ 14.0 ไม่แน่ใจ

ด้านความเห็นต่อการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ พบว่า จะส่งผลต่อแผนการสร้างความปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลอย่างไร ประชาชนร้อยละ 46.5 ระบุว่าไม่ส่งผล เพราะการถอดถอนไม่เกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง แต่เป็นเพราะการคอร์รัปชั่น รองลงมาร้อยละ 26.0 ระบุว่าอาจจะส่งผลบ้าง และร้อยละ 19.0 ระบุว่าส่งผลอย่างมาก โดยคาดว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นช้าไปอีก ที่เหลือร้อยละ 8.5 ไม่แน่ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น