บัวแก้วย้ำคำพูด “ผช.รมต.ต่างประเทศมะกัน” เป็นฟางเส้นสุดท้าย ถึงขั้น “เป็นบาดแผลในหัวใจของคนไทย” เรียกรักษาการเอกอัครราชทูตมะกันปรับความเข้าใจกระบวนการถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” - ข้อเสนอเลิกกฎอัยการศึกแต่เช้า จวกใช้เวทีการศึกษาเลือกพูดการเมืองในไทย หวังผลอะไร ยันไทยไม่ได้เมินเฉยสหรัฐฯ “แต่เรากำลังก้าวย่างอย่างมีศักดิ์ศรี”
เช้าวันนี้ (28 ม.ค.) เวลา 08.00 น. นายดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี อุปทูต รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางมายังกระทรวงการต่างประเทศ ตามคำเชิญของทางการไทย เพื่อเข้าชี้แจงข้อข้องใจ และความไม่สบายใจของฝ่ายไทย
หลังพูดคุยกว่า 2 ชั่วโมง นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยอธิบายและปรับความเข้าใจกับรักษาการเอกอัครราชทูตฯ เข้าใจกับสถานการณ์ในประเทศไทย ภายหลังนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 25-26 ม.ค.ที่ผ่านมา
“ตามที่เป็นข่าวว่า พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ ได้พูดคุยกับนายแดเนียล รัสเซล เมื่อวันที่ 26 ม.ค.และมีข้อเสนอจากสหรัฐฯ ให้ยกเลิกกฏอัยการศึกในประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้อธิบายว่า หากมีการยกเลิกกฎอัยการศึกษา หรือเพื่อตามใจใคร และหากเกิดปัญหารัฐบาลลดการใช้กฎอัยการศึก แล้วเกิดปัญหาในพื้นที่ต่างๆ หรือเป็นในสหรัฐฯ แล้วจะทำอย่างไร เพราะการไปเยือนประเทศใดของสหรัฐฯ ก็ถือเป็นสิทธิและเป็นเวทีเปิด”
นายดอนกล่าวว่า สาเหตุที่เราเชิญอุปทูตมารับทราบ จากกรณีที่นายแดเนียล รัสเซล ไปเลือกปาฐกถาพาดพิงการเมืองในไทย ถือว่าเป็นการใช้เวทีการศึกษาพูดต่อหน้าเยาวชนไทย (ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร) เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา
“การพูดวันนั้นเริ่มต้นดี แต่ช่วงท้ายๆ เป็นการสื่อสารต่อหน้าเยาวชนไทย ถือเป็นการมากระตุ้นเยาวชนที่จะออกมาทำงานเพื่อความสัมพันธ์กับสองประเทศในอนาคต แต่ผู้มาเยือนกลับเลือกที่จะพูดเรื่องการเมือง ไม่เลือกพูดเรื่องที่ทำให้เยาวชนไทยรู้สึกตื่นตัว ประเด็นนี้เราถือว่าสำคัญ แต่ถ้าผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ พูดแล้วก็อาจจะเกิดปัญหา อย่างนี้เห็นกันอยู่ว่ามีคนพยายามชักใย จะเห็นได้จากตามหัวข่าวต่างๆ ที่ออกมา ท่านควรจะพูดเพื่อกระตุ้นเยาวชนในเรื่องต้นๆ ที่ถือว่าเป็นความสัมพันธ์อันดี แต่กลับพูดเช่นนี้ บางคนเขาถือว่าเป็นบาดแผลในหัวใจ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
นายดอนกล่าวต่อว่า ได้ชี้แจงกับอุปทูตว่า กระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายล้วนๆ ที่ดำเนินการต่อนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต แต่การที่ผู้มาเยือนกลับนำเรื่องการเมืองในไทย ถือว่าผู้เตรียมข้อมูลให้ท่านพูดไม่เข้าใจการเมืองของไทย เราแจ้งกับเขาว่าเป็นการปฏิบัติต่อคนที่ดำเนินการผิดพลาดจากนโยบาย
ต่อข้อถามที่ว่า รัฐบาลไทยกำลังเมินเฉยต่อคำเตือนของสหรัฐฯ หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เราไม่ได้เมินเฉย “แต่เรากำลังก้าวย่างอย่างมีศักดิ์ศรี” และก้าวย่างไปตามรูปแบบ 11 ด้านที่เกี่ยวโยงกับภารกิจของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสมากขึ้น และเกิดความผาสุกอย่างยั่งยืน
“เราไม่ได้เมินเฉย เรารับทราบสถานการณ์ต่างประเทศภายหลังเหตุการณ์ 22 พ.ค. 2557 ทุกๆ ประเทศ แต่เรามีเส้นทางเดินเพื่อประชาชนของเรา ทั้งนี้เชื่อว่าอุปทูตสหรัฐฯ เขาจะไปขยายความเพื่อรายงานหรือไปแปลงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเขาเอง เพราะวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกัน”
ต่อคำถามที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับลดความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย นายดอน กล่าวว่า กว่า 128 ปีต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศในวันนี้ไม่ถือว่าเป็นการปรับลดความสัมพันธ์ต่อกัน เพราะเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค. 57 ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งประชาชนสหรัฐฯ นักธุรกิจสหรัฐฯ คนในสหรัฐน หรือในสถานทูตสหรัฐฯ
“แต่สหรัฐฯ เขาเดือดร้อนในเรื่องของหลังการ เป็นการขัดหลักการของเขาที่รับทราบกันในระดับนานาชาติ แต่ตรงกันข้ามกับความสงบและความปลอดภัยในประเทศไทย”
“การไปพูดที่จุฬาฯ วันนั้น เป็นความรู้สึกของคนไทยโดยทั่วไป ถ้าเป็นเราไปพูดในประเทศไหนที่กำลังเกิดความขัดแย้ง หรือในสหรัฐฯ เราคงจะไม่พูดเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประทศไหนก็ตาม เรามีโอกาสเลือกว่าจะพูดหรือไม่พูด” นายดอนกล่าวสรุปในที่สุด
อย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อเวลา 15.50 น.พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองไทย และขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ของนายแดเนียล รัสเชล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นไปโดยวิถีของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะให้เขาพูดเออออห่อหมกไปกับเราคงไม่ใช่ แต่ถือว่านายแดเนียลเองเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ภาพรัฐบาลโดยรวมจึงไม่ได้วิตกกังวลอะไร กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องทำหน้าที่ชี้แจงอธิบายความถึงสิ่งที่นายแดเนียลไปปาฐกถา เพื่อให้ความเข้าใจดีต่อกัน นายกฯก็ตอบเคลียร์แล้วทุกอย่างว่า ต้องยึดเอาความสงบสุขของประชาชนบ้านเมืองเราเป็นที่ตั้ง เลือกดินทางนี้แล้วทิศทางดีขึ้น จะไปตอบรับสหรัฐฯทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่างที่ ต่างเวลา เขาไม่เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมา