xs
xsm
sm
md
lg

"รสนา"จวกรัฐอุ้มกลุ่มทุนพลังงาน เร่งเปิดสัมปทานปิโตรฯรอบ21 ปมความมั่นคงแค่เรื่องลวงโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รสนา” ฉะรัฐบาลรีบร้อนเปิดสัมปทานปิโตรเคมีรอบ 21 คืนความสุขให้กลุ่มทุนพลังงาน จวกไม่เก็บเงินจาก บ.ปิโตรเคมี เข้ากองทุนน้ำมัน แถมเอาเงินกองทุนไปอุ้ม ขณะที่ราคาก๊าซลดลงตามราคาน้ำมันตลาดโลก แทนที่จะลดราคาก๊าซให้ประชาชนแต่กลับจะไปขึ้นค่าก๊าซให้โรงแยกก๊าซ ยันไม่จำเป็นต้องรีบเปิดสัมปทานรอบ 21 พร้อมเตือน “บิ๊กตู่” ไม่ฟังเสียงทักท้วง จะถูกตราหน้าใช้อำนาจรัฐเพื่อถ่ายโอนสมบัติชาติไปให้กลุ่มทุนพลังงานโดยปราศจากความชอบธรรม

วานนี้ (22 ม.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล อธิบายให้เห็นว่าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 คือ การถ่ายโอนสมบัติชาติให้กลุ่มทุนพลังงาน ใช่หรือไม่? และการที่นายกรัฐมนตรีใช้เหตุผลว่าถ้าไม่เปิดสัมปทานรอบ 21 จะขาดความมั่นคงด้านพลังงาน นั้น จริงหรือไม่? ตามข้อความดังนี้

“ปัจจุบันประชาชนไทยต้องใช้ราคาน้ำมัน ก๊าซ ในราคาแพงกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่เรามีทรัพยากรต้นน้ำทั้งก๊าซและน้ำมันดิบ และมีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศที่กลั่นน้ำมันสำเร็จรูปจนเหลือใช้ในประเทศ ต้องส่งออกไปขายทั่วอาเซียนเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของประเทศ แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย น้ำมันเบนซิน 95 ของมาเลเซียมีราคาลิตร 17 บาท ส่วนน้ำมันเบนซิน 97 ที่เอาไว้ขายคนไทย ราคาลิตร 19 บาท โดยประมาณ แม้แต่พม่าที่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทั้ง 100% เบนซิน 92 มีราคาลิตรละ 18.15 บาท เบนซิน 95 ราคาลิตรละ 28 บาท ดีเซลราคาลิตรละ 21.45 บาท และดีเซลพรีเมี่ยมลิตรละ 24.10 บาท แม้พม่านำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทั้ง 100% ราคายังถูกกว่าราคาน้ำมันในไทย

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติของไทยที่อ้างว่าต้องรีบให้สัมปทาน จะได้มีก๊าซราคาถูกมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ถ้าไม่รีบเปิดสัมปทาน ต่อไปค่าไฟจะแพงมาก ลองดูราคาก๊าซในตลาดโลกเปรียบเทียบกับราคาก๊าซไทยภายใต้ระบบสัมปทานดู

ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาด Henry Hub ของสหรัฐอเมริกาในต้นปี 2558 ราคาตกลงเหลือ 2.90 เหรียญ/1 ล้านบีทียู ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 33บาท/1เหรียญสหรัฐ ราคาก๊าซธรรมชาติของสหรัฐคิดเป็นเงินไทยคือ 95.70 บาท/1 ล้านบีทียู

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติของไทยจากการให้สัมปทานเอกชน ต้องซื้อกลับมาในราคา 243 บาท/1 ล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าตลาดสหรัฐฯ 150 เท่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผ่านโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ได้ก๊าซแอลพีจีเพื่อมาใช้เป็นก๊าซหุงต้ม ก๊าซรถยนต์ และวัตถุดิบให้ปิโตรเคมี ก๊าซจากอ่าวไทยรัฐบาลยุคนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (โดยการชงของข้าราชการใน ก.พลังงาน) อนุมัติให้ปิโตรเคมีมาใช้จากโรงแยกก๊าซร่วมกับครัวเรือนได้ก่อนผู้ใช้กลุ่มอื่น ถ้าสองกลุ่มนี้ใช้เหลือค่อยแบ่งให้รถยนต์และอุตสาหกรรมอื่นใช้ ถ้าไม่พอก็ให้นำเข้าโดยเอากองทุนน้ำมันมาชดเชย

ปิโตรเคมีได้ใช้แอลพีจีจากโรงแยกก๊าซที่เป็นทรัพยากรในอ่าวไทยเกิน 50% ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ทำให้ภาคส่วนอื่นไม่พอใช้แม้แต่ภาคครัวเรือนก็ไม่พอใช้ จึงเป็นข้ออ้างว่าต้องนำเข้าแอลพีจีและต้องใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชย กล่าวหาว่าการมีกองทุนน้ำมันเพราะต้องเอามาอุดหนุนการใช้ก๊าซราคาถูกให้ภาคครัวเรือน แต่ไม่พูดถึงปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซจากโรงแยกมากจนคนอื่นไม่พอใช้ เมื่อมีการทักท้วงขึ้นทำให้มีการเรียกเก็บเงินจากปิโตรเคมีกิโลกรัมละ 1 บาท ตั้งต้นปี 2555

ต้นปีนี้ รมต.พลังงาน ประกาศจะยกเว้นการเก็บเงินจากปิโตรเคมีเข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1 บาท ตั้งแต่ 2 ก.พ 2558 เป็นต้นไป น่าจะเป็นเพราะกองทุนน้ำมันเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันและผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมากถึงกว่า 20,000 ล้านบาทแล้วในขณะนี้ แทนที่จะลดราคาก๊าซหุงต้มให้ประชาชนอย่างน้อย 3 บาท/กก. ซึ่งจะเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง แต่พฤติกรรมของ รมต.พลังงาน ดูจะเน้นคืนความสุขให้บริษัท ปิโตรเคมี (อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติก) เป็นหลัก

การคืนความสุขให้ธุรกิจพลังงานยังไม่จบแค่นั้น รมต.พลังงาน ประกาศปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อคืนความสุขให้กลุ่มทุนพลังงานด้วยการประกาศจะขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีให้โรงแยกก๊าซในวันที่ 2 ก.พ. 2558 จากราคา 333 เหรียญ/ตัน หรือ 10.99 บาท/กก. เป็น 488 เหรียญ/ตัน หรือราคา16.10 บาท/กก. ในขณะที่ราคาแอลพีจีในตลาดอ้างอิงจากซาอุดิอารเบีย ราคา 425 เหรียญ/ตัน หรือราคา 14.03 บาท/กก. เท่านั้น ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดิ่งเหวเหลือไม่ถึง 50 เหรียญ/บาร์เรล ราคาก๊าซลดลงตามราคาน้ำมัน รมต.พลังงาน แทนที่จะลดราคาก๊าซแอลพีจีให้ประชาชน กลับจะไปขึ้นค่าก๊าซแอลพีจีให้โรงแยกก๊าซ ซึ่งเพิ่มให้สูงถึง 46.5% โดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันที่รีดจากคนใช้น้ำมันไปจ่าย

เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงแบบดิ่งเหว ต่ำกว่า 50 เหรียญ/บาร์เรล และจะดิ่งต่ำลงไปเรื่อยๆ ตลอดปีนี้ ตามประกาศของ รมต.กระทรวงน้ำมันของซาอุฯ แต่ รมต.พลังงาน ของไทยนอกจากไม่ลดราคาน้ำมันตามกลไกตลาดโลก (หรือสะท้อนราคาจริงอิงราคาตลาดโลกอย่างที่ชอบอ้าง) ให้ผู้บริโภคแล้ว ยังปล่อยให้โรงกลั่นน้ำมันเพิ่มค่าการกลั่น เพิ่มค่าการตลาดเกินมาตราฐานที่เคยกำหนด เงินส่วนที่ควรลดให้ประชาชนตามกลไกตลาดก็ไม่ลดให้และเอาไปใส่ในกองทุนน้ำมัน หากไม่ลดราคาน้ำมันตามกลไกตลาดให้ประชาชน ควรเก็บเงินส่วนต่างนั้นเป็นภาษีสรรพสามิตเข้ารัฐแทน ซึ่งรัฐบาลสามารถเก็บได้สูงสุดลิตรละ 7 บาท ประชาชนยังพอยอมรับได้ แต่ รมต.พลังงาน กลับปล่อยให้มีการเก็บเงินส่วนต่างนั้นเข้ากองทุนน้ำมันไม่หยุด ทั้งที่ไม่มีภาระต้องชดเชยให้ก๊าซแอลพีจีอย่างที่เคยเอามาเป็นข้ออ้าง ขณะนี้มีเพียงชดเชยให้ E85 วันละประมาณ 10 ล้านบาท แต่กลับเก็บเงินของประชาชนถึงวันละ 300 ล้านบาท เข้ากองทุนน้ำมัน ทั้งที่กองทุนน้ำมันมีเงินมากถึง 20,000 ล้านบาทแล้ว เลยต้องหาทางใช้เงินกองทุนน้ำมันออกไป ด้วยการเอาไปขึ้นราคาให้โรงแยกก๊าซ จะได้คงการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันต่อไปไม่สิ้นสุด

ถ้าประชาชนต้องแบกรับราคาก๊าซธรรมชาติจากทรัพยากรในประเทศจากระบบสัมปทาน ที่อ้างว่าเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ราคาสูงกว่าราคาตลาดในสหรัฐฯถึง 150% จะเรียกว่าเป็นความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างไร?

การรีบร้อนเปิดสัมปทานรอบ 21 โดยอำพรางว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานนั้น แท้จริงแล้วเป็นการตอบสนองความมั่นคงให้กลุ่มทุนพลังงานมากกว่า ใช่หรือไม่! และต้องการก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยเพื่อป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตามที่นักวิชาการในค่ายทุนพลังงานเคยกล่าวในที่สาธารณะหลายครั้งว่า “ก๊าซในอ่าวไทยมีคุณค่าเหมือนไม้สัก ไม่ควรเอาไปเผาทิ้ง ควรเอามาผลิตเม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะดีกว่า เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 20 เท่า ถ้าเอาแอลพีจีไปเป็นเชื้อเพลิง มีมูลค่าเพิ่มเพียง 2 - 3 เท่า”

การอ้างว่าต้องการก๊าซอ่าวไทยไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าจึงเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะแท้ที่จริงแล้วเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รัฐบาลที่แล้วได้เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG จากประเทศการ์ต้าเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาที่มีระยะยาวที่สุดฉบับแรกของประเทศไทย ใช่หรือไม่ ?

ประชาชนคนไทยถูกผลักให้ไปใช้ก๊าซ LNG ราคานำเข้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในกิจการไฟฟ้าเป็นหลัก เพราะก๊าซ LNG หรือก๊าซจากพม่า ไม่สามารถเอามาทำเป็นวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีเพียงก๊าซจากอ่าวไทยเท่านั้นที่สามารถทำได้

ข้ออ้างเรื่องต้องรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เป็นความมั่นคงพลังงานของประชาชนควรเรียกว่าเป็นคำลวงโลกหรือไม่?

สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่ลดต่ำลงจากสงครามน้ำมันของประเทศมหาอำนาจในขณะนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะกินเวลาไปตลอดปี 2558 หรืออาจนานกว่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบร้อน ลุกลี้ลุกลนให้สัมปทานเอกชนต่างชาติเพื่อรักษาหน้าตาของประเทศ ตามคำกล่าวอ้างของข้าราชการในกระทรวงพลังงานก่อนที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุดเสียก่อน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถเดินหน้าสำรวจปิโตรเลียมโดยการจ้างบริษัทสำรวจ (ซึ่งลงทุนน้อยมากอาจน้อยกว่าที่รัฐต้องหักคืนให้บริษัทสัมปทานเสียอีก) ก่อนแก้กฎหมายปรับเข้าสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

ถ้านายกรัฐมนตรีหลงเชื่อข้อเสนอของกลไกระบบราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงาน และรีบร้อนเปิดสัมปทาน โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงรอบข้างจากผู้ใหญ่ทั้งหลายในบ้านเมือง ที่เป็นอดีตข้าราชการชั้นสูงทั้งทหารและพลเรือน นักบริหารมืออาชีพ รวมทั้งจากนักวิชาการที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และประชาชนทุกภูมิภาค ท่านอาจถูกมองไปได้ว่ากำลังใช้อำนาจรัฐประหารเพื่อถ่ายโอนทรัพยากรที่ควรจะบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนไทยทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของ ไปให้กับกลุ่มทุนพลังงานโดยปราศจากความชอบธรรม เพราะที่ผ่านมาประชาชนผู้ใช้ก๊าซและน้ำมัน ต้องแบกรับอุ้มราคาพลังงานและกองทุนน้ำมันรวมทั้งค่าการตลาดของบริษัทพลังงานอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ในที่นี้ ต้องขอพูดความจริงว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายประชานิยมพลังงานให้แก่ประชาชน แต่ประชาชนต่างหากที่อุ้มธุรกิจพลังงานด้วยค่าใช้จ่ายเกินจริงของตนเอง ตามนโยบายประชานิยมอุ้มกลุ่มทุนพลังงานของรัฐบาล นับตั้งแต่แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยอย่างไร้ธรรมาภิบาลเป็นต้นมา”
กำลังโหลดความคิดเห็น