ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผมบังเอิญได้ไปร่วมงานที่พิษณุโลกว่าด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับอุษาคเนย์(หรืออาเซียนนั่นแหละ) เมื่อธันวาคมปีก่อน และมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ของอาเซียน ทำให้ต้องสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปบ้าง และพบข้อมูลจาก “ASEAN Community in Figures 2013” ที่น่าสนใจ (ตามรูป) ว่าประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มอาเซียนมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างน้อยถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับบางประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย
กอปรกับในปัจจุบัน ด้วยได้รับมอบหมายให้ดูแลห้องสมุด จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการเผยแพร่หรือคือการจำหน่ายวารสารของต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ไม่พิมพ์เป็นเล่ม ๆ เหมือนก่อนแล้ว หรือหากมีก็คงน้อยลงมาก แต่จะจำหน่ายในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์แทน อธิบายง่าย ๆ คือเราจ่ายเงินแล้วสามารถเข้าไปอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารได้โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ในส่วนของหนังสือและตำรา รวมทั้งสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ก็กำลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่คนทั่วไปคงจะทราบกันดี เช่น ความสะดวกรวดเร็ว ต้นทุนที่ต่ำลง การเข้าถึงได้ง่าย การเก็บรักษา เป็นต้น อาจารย์ของผมเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนหากเราส่งผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ เมื่อได้รับการตอบรับและมีการตีพิมพ์บทความของเราในฉบับใด ทางสำนักพิมพ์ก็จะส่งวารสารฉบับนั้นมาให้เราหนึ่งหรือสองฉบับเพื่อเป็นที่ระลึก แต่ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว ผมเองมีโอกาสสองสามครั้งในการได้รับการตีพิมพ์ แต่ไม่เคยได้รับวารสารเป็นฉบับ ๆ มาเป็นที่ระลึกแต่อย่างใด กลับได้เป็นแฟ้มข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ส่งมาทางอีเมลล์แทน และส่งมาเฉพาะเรื่องของเราเสียด้วย หากจะดูทั้งฉบับต้องเสียเงินซื้อเองซะอีก
แน่นอนว่าประชาชนส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนใหญ่หากต้องการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองแต่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หรือแม้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แต่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ก็คงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปสนับสนุน หากมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ การทำให้เป็นเมืองแห่งการอ่าน ตามที่โฆษณากันเป็นที่เอิกเกริก แนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้และเป็นแนวทางที่ประเทศอื่นๆ ใช้และประสบความสำเร็จมาแล้ว คือการมีห้องสมุดประชาชนที่ทันสมัยครอบคลุมในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามชุมชน และให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่กำกับดูแแลห้องสมุดประชาชนเหล่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเข้าถึงข้อมูลหรือสารสนเทศ และเมื่อประชาชนเป็นสมาชิกของห้องสมุดก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรของห้องสมุดที่จำกัดให้เฉพาะสมาชิกได้ ในประเทศที่เจริญแล้วจะมีห้องสมุดประชาชนที่เรียกว่า public library อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ เป็นห้องสมุดที่ทันสมัย มีบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ประจำ มีทรัพยากรมากมายและหลากหลายรวมทั้งเหมาะสมกับชุมชน เช่น ที่ชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ห้องสมุดประชาชนในย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากหรือที่เรียกกันว่า ไชน่าทาวน์ ก็จะมีหนังสือหรือดีวีดีภาพยนตร์ที่เป็นภาษาจีนให้อ่านและยืมด้วย ยังไม่นับการมี wifi ให้ใช้ฟรี ๆ โดยไม่จำกัดเวลาตราบใดที่คุณอยู่ในห้องสมุดอีกด้วย
บางท่านอาจมีคำถามว่า แล้วประเทศอื่นใน AEC เค้าเป็นอย่างไร จำนวนห้องสมุดที่เรามีมันแตกต่างอย่างไรกับประเทศเพื่อนบ้าน เอาเฉพาะที่มีศักยภาพและเป็นที่รับรู้ว่าเจริญแล้วหรือกำลังมาแรงก็แล้วกัน เริ่มที่สิงคโปร์* ตั้ง National Library Board เป็นผู้กำกับ ดูแล และพัฒนาห้องสมุดประชาชน 26 แห่ง เรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติกันเลยทีเดียว และดำเนินการอย่างจริงจังจนได้รับรางวัลคุณภาพระดับชาติมาแล้วด้วย สำหรับมาเลเซียมีห้องสมุดประชาชน 12,831 แห่ง** ขณะที่ในเวียดนาม ประชาชนสามารถใช้บริการห้องสมุดได้จาก 28,718 จุดบริการ** ในขณะที่บ้านเรา จากการสืบค้นของผมเอง นับไปนับมา รวมห้องสมุดที่ไม่ใช่ห้องสมุดประชาชนด้วย มีประมาณ 1,000 แห่งเท่านั้น***
แล้วเราจะเป็นเมืองแห่งการอ่าน เราจะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพสูง ก็คงจะเป็นคำพูดที่สวยหรูแต่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงเท่านั้น เราคงต้องมาช่วยกันเพิ่มจำนวนห้องสมุดประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนดังว่าแล้ว หากมองในมิติอื่น สมมติว่าเราเพิ่มจำนวนให้ได้ 10,000 แห่ง แต่ละแห่งต้องมีบรรณารักษ์ อย่างน้อย 1 คน และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอีกอย่างน้อย 1 คน สำหรับบรรณารักษ์ อาจวางแผนให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กในชุมชนเพื่อไปศึกษาแล้วกลับไปทำงานในชุมชนของตนเองหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ สถาบันอุดมศึกษาก็คงจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน ส่วนเจ้าหน้าที่อาจรับคนในชุมชนหรืออาสาสมัครก็ได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความผูกพันกับท้องถิ่นและชุมชนมากยิ่งขึ้น และที่แน่ ๆ คือจะเพิ่มตำแหน่งงานอีกเกือบ 20,000 ตำแหน่ง ให้สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังได้ ส่วนเรื่องทรัพยากรสารสนเทศและเงินทุนนอกจากการสนับสนุนโดยภาครัฐแล้ว ยังสามารถขอความร่วมมือจากภาคเอกชน (เช่นในสิงคโปร์) และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นได้ด้วย
มาช่วยกันเตรียมประเทศไทยให้พร้อมในการเข้าสู่ AEC กันเถอะ!
***************
*จาก http://www.nlb.gov.sg สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2558
**จาก N.L. Choh, Libraries in Southeast Asia : A Force in Social Development, appeared in IFLA WLIC 2013.
***จำนวนห้องสมุดที่น่าสนใจ ๕๘ แห่ง จาก http://www.lib.ru.ac.th/libthai.html
จำนวนห้องสมุดประชาชน ๙๐๕ แห่ง จาก https://sites.google.com/site/thaaneiybhxngsmudprachachn/home
ห้องสมุดและฐานข้อมูล ๕๖ แห่ง จาก http://dir.sanook.com/การศึกษา/ห้องสมุด_และฐานข้อมูล/6/
สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2558
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น สำนักบรรณสารการพัฒนาและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกัน