xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สาเหตุ“บิ๊กตู่”เลือกช่วยตลาดกล้วยไม้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สถานการณ์กล้วยไม้ของไทยปัจจุบัน ที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ระบุว่า

“ มีผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออก 46 % ใช้ในประเทศ 54 % ส่วนการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอก เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2557 มีปริมาณ  21,203 ตัน มูลค่า 1,774 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ปริมาณลดลง 3.12 % และมูลค่าลดลง 2.96 %  ขณะที่การส่งออกต้นกล้วยไม้ เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2557 ปริมาณ  35.57 ล้านต้น มูลค่า 710  ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ปริมาณเพิ่มขึ้น 14.43  % และมูลค่าเพิ่มขึ้น 26.17 % ”

มติ ครม.วันนั้น พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ให้มี “การส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้ในประเทศ” เนื่องจาก เห็นว่า การส่งออกกล้วยไม้ประเทศไทยมียอดส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก

แถมในวันที่ 19 มกราคม 2558 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะเป็นประธานในพิธีเปิดตลาดขายกล้วยไม้ ข้างๆทำเนียบรัฐบาล ในบริเวณข้างคลองผดุงกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. โดยจะมีการจัดตลาดกล้วยไม้ขึ้นในทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ เพื่อเพิ่มตลาดการค้ากล้วยไม้ในประเทศ
 
เรื่องนี้ต่อเนื่องมาจากช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำดอกกล้วยไม้สีม่วง ที่นายกรัฐมนตรีชื่นชอบเป็นพิเศษ ย้ำสีม่วง มาตกแต่งทางขึ้นตึกบัญชาการ 1 สร้างความร่วมรื่นและสวยงามอย่างมาก

แถมนายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์กล้วยไม้ของไทย ซึ่งพบว่ากำลังประสบปัญหาเรื่องการตลาดทั้งตลาดภายในและต่างประเทศที่มีอัตราการสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำเข้ากล้วยไม้จากไทยมูลค่ามากที่สุดประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ  ขณะเดียวกัน ราคาที่เกษตรกรขายได้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณกล้วยไม้ออกสู่ตลาดมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

ทำให้ กระทรวงเกษตรฯ โดยนายปีติพงศ์ ได้จัดทำแผนระยะสั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการค้าขายกล้วยไม้มากขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้สนองนโยบายรัฐบาลโดยกำหนดจัดงานตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ 2558 ขึ้น มีการร่วมมือกับสมาชิกสหกรณ์กล้วยไม้ สมาคมกล้วยไม้ตัดดอก ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกกล้วยไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

สรุปว่า จะจัดงานตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ 2558 ในวันเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งยังได้เชิญเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆประจำประเทศไทย สมาคมร้านอาหาร สมาคมโรงแรม ผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ สถานบันเทิงต่างๆ เข้าร่วมงาน เพื่อจัดแสดงแนะนำกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ  รวมทั้งการเจรจาการค้าขายกล้วยไม้ โดยกิจกรรมภายในงานจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมกล้วยไม้ไทย เช่น ประติมากรรมกล้วยไม้พันธุ์ใหม่หลากหลายสีสัน การเพิ่มมูลค่ากล้วยไม้ด้วยการแปรรูปเพื่อส่งออก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจะ มีการจัดจำหน่ายกล้วยไม้และไม้ประดับต่างๆ รวมทั้งกิจกรรม Workshopที่น่าสนใจ เช่น การเลี้ยงและดูแลรักษากล้วยไม้ การนำกล้วยไม้ไปใช้จัดตกแต่งในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิตและผู้ค้ากล้วยไม้ และการสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพได้โดยง่าย ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นในการพัฒนานวัตกรรมกล้วยไม้ไทย และเพิ่มปริมาณความต้องการใช้กล้วยไม้ภายในประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างเครือข่ายการพัฒนากล้วยไม้คุณภาพให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

สำหรับแผนระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ มีแผนจะทำให้ราคากล้วยไม้เกิดเสถียรภาพ มีผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด และมีปริมาณการสั่งซื้อที่มากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดขึ้น เช่น การจัดงานแสดงและประกวดกล้วยไม้ การจัดตลาดนัดกล้วยไม้ขึ้นในจังหวัดที่มีเขตติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการใช้กล้วยไม้ในส่วนภูมิภาคและประเทศใกล้เคียง การประชาสัมพันธ์กล้วยไม้ในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศจีนและลาวในเดือนเมษายน 2558 และที่อินเดียและบรูไนในเดือนสิงหาคม 2558 และที่สำคัญ คือ การตั้งตลาดกล้วยไม้ถาวรที่มีการค้าขายกล้วยไม้อย่างครบวงจรขึ้น ที่ตลาดกล้วยไม้ อตก. ให้เป็นแหล่งซื้อกล้วยไม้เพื่อใช้ในประเทศและเป็นตลาดเจรจาการค้าต่างประเทศอีกด้วย

ย้อนกลับไปปีที่แล้ว นโยบายนี้เกิดขึ้น ภายหลังมีการประชุม “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก”ที่มีการรับรายงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อนเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในด้านมูลค่า ส่งออกดอกกล้วยไม้ไปประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่ามากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาท และในด้านปริมาณ ส่งออกไปประเทศจีนมากที่สุดถึง 3,600 ตันต่อปี กล้วยไม้ที่ผลิตและส่งออกมากที่สุดได้แก่ “กล้วยไม้สกุลหวาย พันธุ์Sonia”

จึงมีการจัดทำแผนงานในปี 2558 ขึ้นเพื่อเน้นเรื่องการส่งเสริมคุณภาพการปลูกกล้วยไม้ส่งออกให้มากขึ้น อาทิ 1. การควบคุมคุณภาพดอกกล้วยไม้ส่งออกตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศที่ต้องการนำเข้า 2. การควบคุมคุณภาพกล้วยไม้ ตั้งแต่มาตรฐานสวนที่ปลูก(GAP) มาตรฐานโรงคัดและบรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานช่อดอกกล้วยไม้เพื่อควบคุมรักษาคุณภาพก่อนการส่งออก

อีกประเด็นคือ การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโลก ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการช่วยส่งเสริมการขายและสร้างภาพลักษณ์ของกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก ในการประชุมครั้งนี้เป็นเวลาอันดีที่ทุกหน่วยงานจะมาร่วมกันกำหนดแผนงานในการจัดแสดงภาพลักษณ์กล้วยไม้ไทยและส่งเสริมการตลาดของกล้วยไม้ไทยในประเทศต่างๆ โดยให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาพบกัน นอกเหนือจากการไปแสดงเรื่องคุณภาพแล้ว ยังเป็นการทำธุรกิจแบบ Business Matching

ส่วนการวางแผนเรื่องนวัตกรรม ได้เล็งเห็นถึงปัญหาเพลี้ยไฟในสวนกล้วยไม้เป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลต่อคุณภาพกล้วยไม้ ได้มอบหมายให้มีการนำร่องทดสอบการปลูกกล้วยไม้ในโรงเรือน เพื่อควบคุมเพลี้ยไฟแล้ว และให้ศึกษาเรื่องคุณภาพกล้วยไม้หลังการบรรจุภัณฑ์ไปแล้ว ว่าสามารถแยกแยะได้ว่ากล้วยไม้ประเภทใดมีคุณภาพและกล้วยไม้ใดเป็นกล้วยไม้โดยทั่วไป เพื่อทำให้ตลาดมีโอกาสในการคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพได้มากขึ้น

“สร้างโอกาสในการนำเข้าไปขายในกลุ่ม AEC เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีโอกาสสูง โดยต้องส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ซึ่งได้กำหนดแผนงานไว้แล้วในปี 2558  โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ เพราะเป็นตลาดที่น่าสนใจ”

ด้านราคาของกล้วยไม้นั้น ปกติประเทศไทยได้มีการส่งออกดอกกล้วยไม้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยมีการปลูกกล้วยไม้สกุลหวาย พันธุ์Sonia ค่อนข้างมาก ประกอบกับในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน มีปริมาณผลผลิตกล้วยไม้ออกมามาก อาจทำราคาค่อนข้างตกลงไป แต่อย่างไรก็ตามในการคัดคุณภาพที่ส่งออกไปยังประเทศที่ต้องการคุณภาพกล้วยไม้และสามารถแยกแยะได้ ยังมีโอกาสที่จะทำตลาดต่อไปได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีศักยภาพ มีโอกาสในการแข่งขันสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่สิ่งที่จำเป็นในขณะนี้คือ ต้องแยกความต้องการของประเทศปลายทางให้ชัดเจน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ประเทศปลายทางได้กำหนดเอาไว้ เช่น ขนาด คุณภาพ วิธีการในการเก็บรักษา วิธีการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีความสำคัญในการหารือในครั้งนี้ด้วย

พบว่า ตลาดหลักๆในการส่งออกกล้วยไม้ของไทยคือ ประเทศจีน มีปริมาณการส่งออกปีละเกือบ 30% ซึ่งไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานGAP และมาตรฐานโรงเรือน(GMP) ในบางพื้นที่ของจีนยังมีการควบคุมเรื่องแมลง จึงจำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตหรือใบรับรองการปลอดแมลงจากด่านที่ส่งออกด้วย ช่องทางการส่งออกในปัจจุบันมีการส่งทางรถยนต์เป็นหลัก ผ่านทางเชียงของ ไปประเทศลาว เข้าสู่ทางตอนใต้ของจีน ไปถึงตลาดคุนหมิง โอกาสที่จะพัฒนาในตลาดจีนให้มากขึ้นต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนากล้วยไม้ให้มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพให้เหมือนกัน ส่วนกล้วยไม้ที่มีคุณภาพต่ำจำเป็นต้องแยกแยะออกจากตลาดหลักโดยทั่วไปเพื่อทำให้กลไกของราคาเป็นไปตามคุณภาพของราคาสินค้า”

ขณะที่ “กรมส่งเสริมการเกษตร” ได้สนองนโยบายนายกรัฐมนตรี ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้กล้วยไม้ในช่วงเทศกาลและงานสำคัญต่าง ๆ ขึ้น เช่น ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ใช้กล้วยไม้จัดตกแต่งเพื่อรับนักท่องเที่ยวและงานครบรอบ 8 ปีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมสนับสนุนสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย ซึ่งเป็นสหกรณ์กล้วยไม้แห่งเดียวในขณะนี้ ให้มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินธุรกิจส่งออกกล้วยไม้อย่างยั่งยืน

มีแผนงานการจัดแสดงและประกวดกล้วยไม้ในรูปแบบของการใช้จัดตกแต่ง ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ในระหว่างวันที่ 3 - 6 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้มีการใช้ต้นกล้วยไม้และดอกกล้วยไม้ในรูปแบบต่าง ๆ และสนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดเชียงใหม่ จัดประกวดกล้วยไม้ในงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ ครั้งที่ 9 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้อีกด้วย

พร้อมทั้งจัดตลาดนัดกล้วยไม้ในจังหวัด ที่มีเขตติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการใช้กล้วยไม้ในส่วนภูมิภาคและประเทศใกล้เคียง โดยจะจัดงานที่ประเทศจีนและลาวในเดือนเมษายน 2558 ที่อินเดียและบรูไนในเดือนสิงหาคม 2558 และนำผู้แทนสหกรณ์ สมาคม และคลัสเตอร์กล้วยไม้ร่วมเดินทางไปด้วย

ขณะที่ยังมีแผนการแก้ปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้และที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มนั้น “สำนักงานเกษตรจังหวัด” ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับคำสั่งให้ไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางลดผลกระทบจากน้ำเค็ม เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ณ สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

ถือเป็นนโยบายแรก ๆในปี 2558 ที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือการส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้ในประเทศ ทั้งระบบ.


กำลังโหลดความคิดเห็น