xs
xsm
sm
md
lg

เผย 3 เดือน “ครม.ประยุทธ์” ประชุม 8 ครั้ง อนุมัติงบไปแล้วกว่า 3.8 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีไทย (แฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการ - ผลงาน 3 เดือน “ครม.ประยุทธ์ 1” ประชุม 8 ครั้ง ไฟเขียวงบวงเงินรวมกว่า 379,779 ล้านบาท กว่า 20 โครงการ เน้น ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยภาคเกษตร (ข้าว-ยางพารา) ภาคอุตสาหกรรม งบจัดกีฬาเอเชียนบีช อัดระบบดิจิตอลให้ อสมท เพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ-ขึ้นเงินช่วยคนพิการ

เป็นที่ชัดเจนแล้วหลังจาก พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำทีมรองนายกรัฐมนตรีแถลงผลการดำเนินงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือน ในเวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

หากจำกันได้ 4 กันยายน 2557 เป็นวันที่ “ครม.ประยุทธ์ 1” ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่วันที่ 16 กันยายน 2557 เป็นการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนัดแรก โดยในวันที่ 4 ธันวาคม 2557 นี้ก็จะเป็นการทำงานครบ 3 เดือนของรัฐบาล

ASTVผู้จัดการ ได้รวบรวมมติคณะรัฐมนตรี เฉพาะการอนุมัติงบประมาณให้กับหน่วยราชการ เพื่อนำไปบริหารประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล เฉพาะปรากฏในเว็บไซต์ Thaigov.go.th โดยสรุปดังนี้

• ประชุม ครม. 1 ตุลาคม 2557

ครม.ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือน คือ เดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2557 ใช้งบประมาณรวม 364,465.4 ล้านบาท โดยแยกเป็นมาตรการสร้างงาน 324,465.4 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือชาวนา เรื่องต้นทุนการผลิต 40,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจภาพรวมกระเตื้องขึ้น ซึ่งจะใช้งบประมาณคงค้างของปี57 และปี58

เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอของบประมาณรายจ่ายให้ ธ.ก.ส.เพื่อชำระดอกเบี้ยคืนแหล่งเงินกู้ในช่วงการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการยางพาราออกไป โดยเห็นควรให้ ธ.ก.ส.ใช้เงินทุน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวเบื้องต้นก่อน และให้ ธ.ก.ส.เสนอ ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

เห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง อยู่ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนดให้ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล เป้าหมาย 700 แห่ง เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อผลผลิตยางจากเกษตรกรนำไปจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อรอจำหน่าย วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท และผู้แทนเกษตรกรได้เสนอขอให้ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมให้ครอบคลุมเป้าหมายที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรวิสาหกิจอื่นที่ทำธุรกิจยางพารา

อนุมัติขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาเกษตรกร ศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อพัฒนาเสถียรภาพราคายางและเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายาง โดยจะเกี่ยวข้องกับการขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการ

โครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 56 ที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการนี้ยังมียางในสต๊อกและยังไม่ได้เคยออกไปจำนวน 208,076 ตัน จึงทำให้ต้องขยายเวลา เพราะมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษายางพารา จึงขอต่อขยายเวลาไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 57 โดย ครม.ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดเก็บรักษายางพารา 145 ล้านบาท

เห็นชอบการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2557 ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 14-23 พฤศจิกายน2557 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ส่วนกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าวให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ เห็นชอบงบประมาณในส่วนอุปกรณ์จัดการแข่งขันของสมาคมกีฬา ในวงเงิน 31,689,047 บาท ส่วนงบประมาณในส่วนการจัดสร้างสนามแข่งขันสนามฝึกซ้อม ในวงเงิน 144,050,220 บาท

อนุมัติให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้กับโรงเรียนโยธินบูรณะ จำนวน 105,654,700 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของครุภัณฑ์ระบบสาธารณูปโภค และการก่อสร้างโรงอาหารชั่วคราวของโรงเรียน โดยใช้จ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2556 ของ สผ.

• ประชุม ครม.14 ตุลาคม 2557

เห็นชอบและอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจและงบกลางปี 2,401ล้านบาท ต่อมาตรการเสริมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558จะดำเนินการโดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 และขอสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2558

การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง 3,574 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงปลา 2,702 ราย (ราบละ 2,250 ราย) และกบ 872 ราย (รายละ 2,900 ราย) การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงเป็ด 4,407 ราย (รายละ 4,000 บาท และไก่ 8,982 ราย (รายละ 4,000 บาท)

การฝึกอาชีพในภาคเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรฝึกอาชีพเกษตรกร จำนวน 17,804 ราย แบ่งเป็น 9 หลักสูตร ได้แก่ ปุ๋ยหมัก (รายละ 800 บาท) สารชีวินทรีย์ (รายละ 800 บาท) ถั่วงอก (รายละ 500 บาท) เพาะเห็ด (รายละ 800 บาท) ขยายพันธุ์ไม้ผล (รายละ 500 บาท) ผึ้ง (รายละ 2,950 บาท) แมลงเศรษฐกิจ (รายละ 1,200 บาทป ซ่อมเครื่องจักรกล (รายละ 3,000 บาท) และการแปรรูป/ถนอมอาหาร (รายละ 1,000 บาท) สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จำนวน 150,000 ไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือถั่วลิสง แก่เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกพืชตระกูลถั่ว

การฝึกอาชีพนอกภาคเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 1,385 ราย แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย์และบริหาร ความคิดสร้างสรรค์ และเฉพาะทาง (รายละ 900 บาท)

อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาชุดพร้อมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออีโบลา สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กระจายไปยังพื้นที่งวดแรกแล้วในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 5,000 ชุด และจัดซื้อเพิ่มเติมจากงบกลาง จำนวน 29,640 ชุด พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เป็นเงิน 11,463,832.40 บาท ซึ่งจะพร้อมส่งมอบได้ในเดือนตุลาคม 2557

เห็นชอบให้ใช้งบกลางในการจัดส่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไปให้ความช่วยเหลือในแอฟริกาตะวันตก โดยให้ สธ.เป็นผู้ดำเนินการหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

• ประชุม ครม. 21 ตุลาคม 2557

เห็นชอบในหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 21 โครงการ ในวงเงินไม่เกิน 199,732,200 บาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 งบกลาง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยแบ่งเป็นรายการค่าใช้จ่าย 2 รายการ ดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีวงเงินเหลืออยู่ จำนวน 8 โครงการ

2. ค่าใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมวงเงินไม่เกิน 127,779,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 13 โครงการ

เห็นชอบการแก้ไขปัญหายางพารา ตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการตลอดระยะเวลาโครงการรวม จำนวน 10,806.46 ล้านบาท

อนุมัติงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,229.46 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับดำเนินการในปีแรก ทั้งนี้การเบิกจ่ายให้เป็นไปตามภาระที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินกรอบวงเงินที่กำหนด

เห็นชอบโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. สำหรับจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรซึ่งมีพื้นที่สวนยางเปิดกรีดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ รวมทั้งเอกสารสิทธิ 46 รายการตามหนังสือของกรมป่าไม้ ที่ ทส 1602.5/5527 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป้าหมาย 850,000 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน วงเงินที่รัฐรับภาระรวม 8,453.99 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินจ่ายชดเชยเกษตรกร 8,200 ล้านบาท (ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.และ ธ.ก.ส.คิดต้นทุนในอัตรา FDR+1 และให้ ธ.ก.ส.จัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อชำระคืนต้นเงินจากการดำเนินงานตามโครงการ) และค่าชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. และค่าบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบจำนวน 253.99 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายปีแรก จำนวน 253.99 ล้านบาท

โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตรหรือเกี่ยวเนื่องการเกษตร ตามศักยภาพของตนเองและตามสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มรายได้ วงเงินสินเชื่อเป็นไปตามแผนการผลิตของเกษตรกร ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยละ 2 ต่อปี เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน

• ประชุม ครม. 28 ตุลาคม 2557

เห็นชอบยกเลิกโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ (กองทุนตั้งตัวได้) วงเงิน 1,300,000,000 บาท และนำงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินการตามกรอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558-2559

อนุมัติเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 จำนวน 26 จังหวัด รวม 10 ภัย ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย อัคคีภัย ภัยอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชระบาด ภัยหนาว ภัยฝนทิ้งช่วง ภัยพายุและคลื่นลมแรง และปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำ เกษตรกรจำนวน 12,860 ราย วงเงินขอรับความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 154,823,741 บาท (ด้านพืช เกษตรกรจำนวน 12,794 ราย วงเงิน 152,085,121 บาท ด้านประมง เกษตรกรจำนวน 66 ราย วงเงิน 2,738,620 บาท)

• ประชุม ครม. 4 พฤศจิกายน 2557

อนุมัติวงเงินในการดำเนินการตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกปี 2557 เพื่อชดเชยดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บสต๊อกข้าวเปลือกเพิ่มอีกจำนวน 4 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินจำนวน 612 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

อนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้สมาชิกสหกรณ์ที่พักหนี้หรือลดหนี้ในปีที่ 2 จำนวน 1,355 แห่ง วงเงิน 699.9 ล้านบาท สมาชิกได้รับการชดเชยจำนวน 2.5 แสนราย

• ประชุม ครม. 12 พฤศจิกายน 2557

การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป. ลาว

• ประชุม ครม.18 พฤศจิกายน 2557

เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับ ..) พ.ศ. ….

โดยให้ระเบียบมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป และมีการปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงจาก 12,285 บาท เป็น 13,285 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากอัตราเดือนละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท และกรณีที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบกับแนวทางตามที่สำนัก ก.พ. เสนอ จำนวนข้าราชการ 400,000 คน ใช้งบประมาณรวมกว่า

ให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยจัดสรรเงินชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อชดเชยให้กับผู้ประกอบการยางและเป็นผู้ดำเนินการตั้งค่าใช้จ่ายในการชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 300 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ (สงป.)

ให้ สงป. ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ จำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อก. จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กระทรวงการคลัง (กค.) ได้อนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกำกับการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้

• ประชุม ครม. 25 พฤศจิกายน 2557

อนุมัติในหลักการให้เพิ่มอัตราเบี้ยความพิการให้แก่คนพิการ จากเดิมรายละ 500 บาท เป็นรายละ 800 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป

อนุมัติในหลักการงบลงทุนโครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ. อสมท) จำนวน 1,480.000 ล้านบาท ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ ประกอบด้วยงบลงทุน จำนวน 2 โครงการ ดังนี้

1. โครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล วงเงิน 752 ล้านบาท

2. โครงการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ วงเงิน 728 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พบว่า มติ ครม. ทั้ง 8 ครั้ง ตลอด 3 เดือนของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ส่วนใหญ่จะเห็นชอบกฎมายและกฎกระทรวงต่างๆ เพื่อเป็นการบังคับใช้เป็นจำนวนมาก ก่อนที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติกว่า 100 ฉบับ ขณะที่ได้รวบรวมตัวเลขจากงบประมาณกว่า 20 โครงการ ที่รวบรวมมาได้จากเว็บไซต์ของรัฐบาลที่เห็นชอบข้างต้นรวมแล้วกว่า 379,779 ล้านบาท


คณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น