รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
Email: pongpiajun@gmail.com
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
Email: pongpiajun@gmail.com
ความเดิมตอนที่แล้วผู้เขียนได้ชี้ประเด็นให้เห็นถึงภัยเงียบจากมลพิษทางอากาศซึ่งสามารถคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกได้มากกว่ามหันตภัยอย่างสึนามิและแผ่นดินไหวรวมกันกว่า 23 เท่า ดังนั้นเราควรหันมาเอาใจใส่กับคุณภาพอากาศมากขึ้นเพราะ “You are what you breath”
• มัจจุราชเงียบในสายหมอก (ตอนที่ 1)
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินประโยคที่ว่า “การตั้งรับที่ดีที่สุด คือการเปิดเกมส์รุกที่ได้เปรียบ” ซึ่งแนวความคิดนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางทั้งในแง่การวางตัวผู้เล่นของกุนซือด้านกีฬา การเตรียมยุทธวิธีในการรบของเหล่าเสนาธิการทหาร การกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจในภาคเอกชน รวมทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านเวชศาสตร์การป้องกัน (Preventive Medicine) ซึ่งให้ความสำคัญในด้าน การป้องกันโรคหรือป้องกันการบาดเจ็บแทนที่จะเป็นการรักษาโรค สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจให้ตรงกันคือเวชศาสตร์การป้องกันไม่ใช่การรักษาตามอาการเจ็บป่วย การรักษาแบบประคับประคองหรือมุ่งเน้นไปที่การรักษาให้หายขาดหากแต่เป็นการตัดไฟแต่ต้นลมหรือตัดต้นเหตุแห่งโรคเพื่อไม่ให้อาการผู้ป่วยทรุดลงจนถึงขั้นเกินเยียวยา [1-2]
ด้วยเหตุผลดังกล่าวรัฐบาลของประเทศที่พัฒนาแล้วจึงทุ่มงบประมาณไปที่การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศของสารพิษประเภทต่างๆทั้งที่อยู่ในรูปก๊าซและฝุ่นละออง ทั้งในรูปแบบของสารอินทรีย์ (เช่นสารก่อมะเร็งโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนหรือสาร PAHs) และสารอนินทรีย์ (เช่นกลุ่มโลหะหนัก) เทียบเคียงได้กับเป็นการตรวจสุขภาพของสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารพิษแต่ละชนิดในชั้นบรรยากาศซึ่งในช่วงต้นยุค ค.ศ. 1970 ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างหันมาสนใจกับตัวเลขที่นำมาใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศภายนอกอาคารแต่ลืมที่จะมองเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคาร [3] ทั้งที่จริงๆแล้วสารเคมีที่ระเหยฟุ้งกระจายอยู่ในออฟฟิส คอนโด หอพัก คือภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของ “มนุษย์เมือง” อย่างแท้จริง ลองหลับตาและนึกภาพกิจกรรมของ “มนุษย์เมือง” ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา นั่งรถไปทำงาน จนเข้าไปในสำนักงาน เลิกงานกลับมาที่พัก ช่วงเวลาที่จะสัมผัสกับอากาศภายนอกอาคารคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่? แน่นอนคุณภาพอากาศนอกอาคารย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวชนบทที่ออกไปทำงานในเรือกสวนไร่นาและใช้ชีวิตในบ้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศมากกว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามคุณภาพอากาศภายในอาคารก็ไม่ควรถูกละเลยด้วยเช่นเดียวกัน ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่าร้อยละ 30 ของอาคารทั่วโลกมีความเสี่ยงในการปล่อยสารพิษภายในอาคารอันเป็นที่มาของโรคตึกเป็นพิษหรือ Sick Building Syndrome (SBS) [4] ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของระบบระบายอากาศภายในตึกที่เต็มไปด้วยสารระเหยจาก หมึกพิมพ์ของเครื่องพรินเตอร์และเครื่องถ่ายเอกสาร สารระเหยจากสีทาผนัง ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งไรฝุ่นในพรม ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยภายในตึกเกิดอาการแสบเคืองตา ระคายเคืองคอและผิวหนัง รวมทั้งมีอาการภูมิแพ้ประเภทต่างๆ [5-6]
ความยากอีกประการในการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพจากการสัมผัสสารพิษในอากาศคือ คนแต่ละคน มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน เช่น จากการศึกษาล่าสุดของผู้เขียนพบว่าก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยใน ที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่และการศึกษาเดียวกันยังพบว่าเด็กอายุต่ำกว่าสิบขวบจะอ่อนไหวต่อมลพิษทางอากาศมากกว่าวัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ นอกจากนี้จำนวนทั้งผู้ป่วยในและนอกเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นทันทีที่คุณภาพอากาศลดต่ำลง [7] สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยด้าน เพศ และ อายุ ต่างส่งผลต่อภูมิต้านทานที่มีต่อมลพิษทางอากาศที่แตกต่างกัน สาเหตุที่เพศและอายุมีผลต่อความเสี่ยงในการได้รับสารพิษก็เพราะ โดยเฉลี่ยแล้วเพศชายมีน้ำหนักตัวมากกว่าเพศหญิงดังนั้นเมื่อนำเอาค่าของสารพิษมาหารด้วยน้ำหนักตัวระดับของสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกายเมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยกิโลกรัมจึงน้อยกว่า ในทางตรงกันข้ามเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยจะอ่อนไหวมากกว่าเพราะสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกายเมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยกิโลกรัมจะสูงกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆเช่น ความแข็งแรงของร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกันของเด็กที่ยังอยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนา
นอกจากนี้การประเมินเชิงพื้นที่โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์พบว่าการลดปริมาณฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนหรือ PM10 ในชั้นบรรยากาศของ 57 เทศบาลเมืองในประเทศสเปนช่วงปี 2009 ให้มีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานของ WHO จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ถึง 3,500 คน ลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคหัวใจ โรคระบบหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง และโรคหอบหืบได้ถึง 1,800 คน 36,200 คน และ 54,000 คนตามลำดับ เทียบเท่ากับการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลถึง 6,400 ล้านยูโรหรือ 248,710 ล้านบาทต่อปี!! [8]
สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “หมอที่รักษาโรคหายคือหมอที่เก่ง แต่หมอที่เก่งกว่าคือหมอที่ป้องกันโรค” ตอนต่อไปผู้เขียนจะเจาะลึกถึงแหล่งกำเนิดของมลพิษในอากาศประเภทต่างๆพร้อมทั้งนำเสนอวิธีการป้องกันในบริบทของสังคมไทยเพื่อรักษาทรัพยากรมนุษย์และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
เอกสารอ้างอิง
[1] Katz, D., & Ather, A. (2009). Preventive Medicine, Integrative Medicine & The Health of The Public. Commissioned for the IOM Summit on Integrative Medicine and the Health of the Public.
[2] Hugh R. Leavell and E. Gurney Clark as "the science and art of preventing disease, prolonging life, and promoting physical and mental health and efficiency. Leavell, H. R., & Clark, E. G. (1979). Preventive Medicine for the Doctor in his Community (3rd ed.). Huntington, NY: Robert E. Krieger Publishing Company.
[3] Spaeth, K.R. (2000). Don't Hold Your Breath: Personal Exposures to Volatile Organic Compounds and Other Toxins in Indoor Air and What's (Not) Being Done about It. Preventive Medicine, 31 (6), 631-637.
[4] "Sick Building Syndrome". United States Environmental Protection Agency. Retrieved 2009-02-19.
[5] Rylander, R. (1997). "Investigation of the relationship between disease and airborne (1P3)-b-D-glucan in buildings.". Med. Of Inflamm. (6): 275–277.
[6] Godish, T. (2001). Indoor Environmental Quality. New York: CRC Press. pp. 196-197.
[7] Pongpiachan, S., and Paowa, T., 2014. Hospital out-and-in-patients as Functions of Trace Gaseous Species and Other Meteorological Parameters in Chiang-Mai, Thailand. Aerosol and Air Quality Research, X, 1-15, doi: 10.4209?aaqr.2013.09.0293.
[8] Pérez, L., Sunyer,J., and Künzli, N. (2009). Estimating the health and economic benefits associated with reducing air pollution in the Barcelona metropolitan area (Spain). Gaceta Sanitaria, 23 (4), 287-294.