xs
xsm
sm
md
lg

มลภาวะทางแสง! ภัยเงียบที่คุณต้องไม่ประมาท/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

ใจกลางเมนโลพาร์คอันเป็นอาณาบริเวณที่เคยเงียบสงบจู่ๆ ก็สว่างไสวไปด้วยแสงประหลาด พาให้ผู้คนแตกตื่น ด้วยแสงสว่างนั้นไม่ได้มาจากเทียนไขหรือว่ากองไฟที่เคยจุดกันดังก่อน

แต่แสงอันโชติช่วงนั้นมาจากหลอดแก้วขนาดแค่เพียงกำปั้น

นับแต่วันที่บุรุษนาม โทมัส อัลวา เอดิสัน ได้เสกหลอดไฟให้ความสว่างในยามค่ำคืนได้ราวกับพ่อมดให้ชาวอเมริกันแตกตื่นกันเมื่อ 140 ปีก่อน จนถึงบัดนี้คนทั่วโลกอยู่กับแสงไฟตลอด 24 ชั่วโมง

หลอดไฟดวงแรกได้ให้ความสว่างแก่โลกไม่เคยดับมาแต่บัดนั้น

ทว่าผลของมันนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ยังมีเรื่องทางด้านสุขภาพที่ควรทราบอยู่สักหน่อยก็คือ การที่มันมีผลต่อ “ต่อมสมอง” ที่สำคัญ

พูดง่ายๆ คือ มันไม่ได้แค่ปลุกให้ตื่นแต่มันบุกเข้าไปถึงระบบสุขภาพภายในโดยรวม

โดยต่อมที่ว่าคือ “ต่อมไร้ท่อ” ที่เป็นโรงงานสำหรับผลิตของดีที่ไม่อาจทดแทนจากภายนอกได้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นวิตามินที่ตัวเราเองสร้างและธรรมชาติประทานมา ดังนั้นการนอนจึงเทียบเท่ากับการเติมวิตามินอันแสนวิเศษให้ร่างกาย

ถ้าไม่มี “แสง” มารบกวนเสียก่อน

มลภาวะทางแสง!
ผลของแสงไฟต่อสุขภาพ

ขอทำนายไว้ว่าในอนาคตจะมีการพูดถึง “มลภาวะทางแสง” กันมากขึ้น ด้วยหลายส่วนมีผลกับสุขภาพและเป็นที่เรามองไม่เห็นเพราะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMF pollution)

คล้ายกับความรักที่มองไม่เห็น แต่รู้ว่ามีอยู่แน่

คลื่นแสงนี้มีส่วนปลุกให้สมองของเราตื่นและเครียดโดยไม่รู้ตัวครับ ดังที่บอกไปว่าสมองเราผลิต “ของดี” ที่ช่วยปกป้องร่างกายเราจากสารพัดโรค โดยมีข้อแม้ที่ว่าต้อง “มืดสนิท” ซึ่งชีวิตของเราในปัจจุบันนับจากยุคเอดิสันมามีแสงไฟอยู่รอบตัว โดยเฉพาะคนในเมืองหลวงที่ขอบฟ้าสว่างโร่แม้ในคืนเดือนดับ

เรื่องนี้ย่อมเกี่ยวกับสุขภาพอย่างหนีไม่พ้น

คนที่ถูก “แสงกวน” อย่างผิดที่และผิดเวลาบ่อยเข้ามีสิทธิ์ป่วยง่ายไม่แข็งแรง แสงสีต่างๆ นั้นล้วนมีประโยชน์แต่ถ้า “ผิดที่” และ “ผิดเวลา” เข้าก็เกิดโทษมหันต์ได้เช่นกัน ดังผลของแสงกับตัวเราในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

1) เสี่ยงมะเร็ง ขอท่านที่รักอย่าคิดว่าถ้าเป็นแสงแล้วต้องห่วงมะเร็งผิวหนังอย่างเดียว ทั้งที่จริงมันเกี่ยวกับ “มะเร็งอีกหลายส่วน” ดังจะชวนมาดูรายงานจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่เผยว่าคนทำงานกลางคืนเช่นอยู่เวรกะดึกมีเสี่ยงมะเร็งเต้านมและต่อมลูกหมาก

โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่มีผลทางระบาดวิทยาสนใจมากถึงผลจาก “แสงยามค่ำคืน (Light at night)” ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าองค์กรวิจัยมะเร็งสากล (IARC) จึงได้จัดเรื่องการทำงานกะดึกที่รบกวนนาฬิกาชีวิตเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง (2A) แถมโรคอื่นยังตามมาอีกพะเรอเกวียนครับ

2) ทำให้อ้วน ความเกี่ยวข้องของแสงและความอ้วนอยู่ตรงสารนิทราชื่อ “เมลาโทนิน” ซึ่งมีการศึกษาจากฮาวาร์ดชี้ว่าแสงมีผลต่อ “เบาหวาน” และ “โรคลงพุงมฤตยู (Metabolic syndrome)

ซึ่งสันนิษฐานว่ากลไกมาจากการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดจนเข้าสู่ภาวะปริ่มเบาหวาน (Pre-diabetic state) กับไปกด “ฮอร์โมนอิ่ม (Leptin)” ให้ต่ำลงเมื่อคนเราใช้ชีวิตผิดเวลาไป

3) กวนการนอน แสงมีส่วนแกล้งให้นอนไม่หลับครับ โดยไปกวนที่ระบบ “นาฬิกาชีวิต (Circadian system)” ของเราที่ขึ้นตรงกับแสง ซึ่งสิ่งที่รู้ล่าสุดก็คือ ชนิดของแสงที่มีผลมากอย่างชัดเจนนั่นคือแสงสีฟ้า (Blue light) เพราะว่ามีผลต่อสารนิทรา “เมลาโทนิน” โดยตรง เพราะมันลงไปปิดสวิทช์ต่อมสร้างสารนี้

นี่เป็นเหตุให้ท่านที่ชอบใช้หน้าจอสารพัดก่อนนอนหรือชอบเอามือถือไว้ใกล้หัวนอนอาจนอนไม่หลับโดยไม่รู้ตัว

4) เสี่ยงโรคหัวใจ ใครจะรู้ว่าสิ่งที่ทำให้หัวใจเต้นเปลี่ยนจังหวะนอกจากความรักแล้วยังมี “แสงสว่าง” อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้จังหวะชีวิตและหัวใจเปลี่ยนไป ผลของการจังหวะความมืด-สว่างจากแสงในแต่ละวันมีผลกับชีพจร, ความดันเลือด, เซลล์บุผนังหลอดเลือด, และการแข็งตัวของเลือดเสียด้วย

นอกจากนั้นยังผลกับการแสดงออกของยีนและเหนือยีน (Epegenetic function) ด้วย ให้ดูจาก “งานประจำ” ที่ทำโดยเฉพาะกับที่ต้องทำผิดเวลาหรือกะดึกอยู่นานๆ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงโรคน่าห่วงอย่างโรคหัวใจได้

5) ช่วยคุณแม่(ตั้งครรภ์) ประโยชน์ของแสงที่คาดไม่ถึงยังพอมี โดยที่มหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตทได้นำเอาแสงสีฟ้ามาใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด

นักวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์แว่นพิเศษที่ปล่อยแสงฟ้าออกมาได้ในขณะหลับโดยใช้ทฤษฏีที่ว่า “เมลาโทนินจะต่ำลงเมื่อต้องแสงสีฟ้า” เพราะพบว่าเมลาโทนินจะสูงในช่วงที่มดลูกบีบตัวให้ปวดท้องคลอด ซึ่งในขณะนี้กำลังศึกษาในรายละเอียดเพิ่ม จึงขอเอาใจช่วยให้แว่นนี้ได้ผลและช่วยให้คุณแม่ที่เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดปลอดภัยขึ้นครับ

แสงที่ผิดกาละเทศะมีส่วนกวนทั้งการ “นอน” และ “สุขภาพ” โดยแสงสีที่น่าห่วงคือ “แสงขาว” และ “แสงฟ้า” ซึ่งมีส่วนปลุกให้สมองตื่น แต่กลับ “ปิด” โรงงานสร้างเมลาโทนิน

โดยเมลาโทนินช่วยการเผาผลาญในกาย ดังนั้นแสงจึงไม่ได้ทำให้ “ตื่น” แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ทำให้ “อ้วน” ก็ได้ หรือที่ร้ายไปกว่านั้นคือเสี่ยงมะเร็งดังที่บอกไป

ในเรื่องนี้ถึงขนาดมีการตรวจระดับเมลาโทนินในร่างกายจนรู้ชัด

ซึ่งทางออกที่ดีที่ท่านทำได้โดยไม่ลำบากกับชีวิตนักก็คือ ยังไม่ต้องทิ้งสมาร์ทโฟนโยนแทบเล็ตหนีไปอยู่ถ้ำแต่เพียงผู้เดียวหรือปลีกวิเวกหาที่สัปปายะมืดสนิท เพียงแค่ใช้ชีวิตอย่าง “ไม่ประมาทแสง”

โดยการแยกมือถือ, สมาร์ทโฟน, แทบเล็ต, โทรทัศน์, แสงแอลซีดี, นาฬิกา, และหน้าจอทั้งหลายที่จะปล่อยแสงออกมาแยงสมองท่านในเวลานอนเสีย สำหรับในห้องน้ำยามค่ำคืนก็ติดดวงไฟสีแดงนวลตาไว้อีกดวงเพื่อเปิดแทนดวงที่สว่างจ้า ส่วนนักทำงานกะดึกที่ต้องโดนแสงจ้าประจำขอให้ใส่แว่นพิเศษที่กันแสงสีฟ้า (Blue blocking glasses) ไว้

พูดสั้นๆ คือการ “จัดระเบียบแสง” นั่นเอง

ซึ่งในอนาคตผมเชื่อว่าจะมีหลอดไฟที่เป็นมิตรกับการผลิตเมลาโทนินออกมาทั้งไฟในออฟฟิศ, ไฟห้องผ่าตัด, และหน้าจอต่างๆ แพร่หลายขึ้น

สุดท้ายนี้ขอท่านที่รักอย่าลืมว่าให้เวลานิทราของท่านเสพแต่ความมืดสนิท ให้ชีวิตได้ซึมซับกับเมลาโทนินและของดีจากร่างกายที่ผลิตออกมาเวลาได้พักผ่อนเต็มที่ครับ

ตื่นขึ้นมาค่อยพบเพื่อนอีกที
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น