xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.เล็งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ไร้ผลงาน-ขาดทุน ต้องยุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฎิรูปเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า กมธ.ปฎิรูปเศรษฐกิจ ได้มีการพิจารณาเรื่องการปฎิรูปรัฐสาหกิจ ซึ่งเห็นว่า บทบาทเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจากการที่รัฐเข้าไปช่วยเอกชนในการดำเนินการ อาทิ เรื่องระบบขนส่ง ระบบการอุปโภคบริโภค เช่น รถไฟ รถเมล์ การให้บริการด้านสาธารณสุขเป็นต้น จากเดิมที่บางกรณีรัฐสนับสนุนบางส่วนให้เอกชนไปดำเนินการกิจการ แต่เท่าที่ศึกษาบางโครงการในปัจจุบันการให้บริการไม่มีความจำเป็นแล้ว บางโครงการขาดทุน ไร้ประสิทธิภาพประชาชนเข้าถึงยาก ดังนั้นกมธ.ปฎิรูปเศรษฐกิจ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีการพิจารณาว่า หน่วยงานใดที่มีประโยชน์กับประชาชน แต่อยู่ในภาวะขาดทุน ยังคงให้อยู่ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจต่อไป
"หลักการใหญ่คือ จะให้บริษัททั้งหลายที่สามารถผลิตการบริการ และสามารถจำหน่ายบริการในราคายุติธรรมได้ โดยคำนึงถึงการคุ้มทุน แต่ไม่ใช่มีกำไรมากเกินไป ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนไม่มีกำลังที่จะซื้อ รัฐก็จะเข้าไปดูแล ด้วยการชดเชย อุดหนุน ผู้บริโภค เช่น การให้บริการรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี โดยรัฐเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งอาจจะมีการทำออกมาในรูปแบบของคูปอง แต่บางหน่วยงานที่ทำแล้วได้คุณภาพ ก็ต้องดูถึงความจำเป็นว่ารัฐยังต้องให้การสนับสนุนต่อหรือไม่ หรือควรจะยกเลิกมาให้เอกชนทำ ซึ่งกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ จะมีการพิจารณาร่อนตะแกรงดูอีกครั้งว่า หน่วยงานใดควรคงรูปรัฐวิสาหกิจ หรือยกเลิก "
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของการสร้างโครงข่ายพื้นฐาน และการดูแลกิจการต่างๆ ไม่ควรจะคำนึงเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ควรต้องคำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะในปี 58 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีทำเลเหมาะสมที่สุด ดังนั้นเราต้องจัดเตรียมพัฒนาระบบการขนส่ง คมนาคม การไฟฟ้า รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางของเออีซี การพัฒนาระบบขนส่งทางบกโดยเฉพาะการทำถนน จะต้องมีมาตรฐาน มีกติกา มีกฎจราจรที่เป็นระบบสากล ส่วนภาษาที่ใช้ ต้องมีภาษาต่างประเทศอยู่ด้วยเพื่อให้เพื่อนบ้านเข้าใจง่ายขึ้น สำหรับในเรื่องงบประมาณที่จะต้องนำมาอุดหนุนในแต่ละโครงการจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า ต้องใช้เงินเท่าไร ได้ประโยชน์กับใคร ตรงนี้ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายจนเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น