เรื่อง “หลับยืนตื่นรู้” เคยเขียนหลายครั้ง เคยพูดหรือบรรยายบ่อยๆ เพราะเรื่องเดียวกันอาจมีหลายมุมมอง หรือหลายมิติในคนคนเดียว
อย่างเรื่อง “พุทธศาสนา” สอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้นเอง แต่มีคำสอนมากถึง 84,000 พระธรรมขันธ์เหมือน “ใบไม้กำมือเดียว” ในขณะที่มีใบไม้ทั้งป่ามากมายมหาศาลขนาดไหน ฉันใด มุมมองหรือมิติของคนก็มากมายฉันนั้น
● หลับยืนตื่นรู้
วันหนึ่งพาหลานเดินเล่นในสวนสาธารณะ พบหมากำลังเห่าเต่า คงเพื่อจะกัดกินเต่าให้สมอยากที่อดอยากมานาน
ตา : หนูเห็นอะไรหรือเปล่า?
หลาน : เห็นหมากำลังจะกัดเต่าค่ะ
ตา : มันกัดได้ไหม เพราะอะไร
หลาน : กัดไม่ได้ เพราะเต่ามันหด
ตา : มันหดอะไรบ้างล่ะ
หลาน : หดขา 4 ขา หัว 1 และหาง 1 รวมเป็น 6 อย่างเข้ากระดองค่ะ
การสนทนาระหว่างตากับหลาน ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไม่น่าสนใจอะไร หากมองในมิติอื่นบ้าง ก็จะน่าสนใจ และให้อะไรแก่เราขึ้นมาอีก ไม่มากก็น้อยทีเดียว
เหมือนดั่ง...มองโลกมองเรา หรือมองสิ่งอื่นแล้วมองตัวเอง หรือรู้เขารู้เรา หรือรู้เรารู้เขา นั่นแล
เต่าปลอดภัย จากการถูกหมากัดหมากิน เพราะรู้จักหดตัวเข้าไปอยู่ในกระดอง ซึ่งเป็นเกราะธรรมชาติที่พ่อเต่าแม่เต่าให้มา
เต่าเหมือนอายตนะภายใน 6 อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อินทรีย์หก)
หมาเหมือนอายตนะภายนอก 6 อย่างคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (อารมณ์หก)
คนเราอยากปลอดภัยเหมือนเต่า ต้องรู้จักหดเหมือนเต่า คือรู้จักสำรวมอินทรีย์หก เมื่อกระทบอารมณ์หก อย่าไปคล้อยตาม อยากได้ อยากเป็น อยากมี ไม่อยากมี เช่น ตากระทบรูป ก็สักว่ารูปสักว่าเห็นหรือเฉยๆ เป็นต้น
การดูแล้วเฉยๆ เป็นเกราะป้องกันเหมือนกระดองเต่า
การดูแล้วเฉยๆ คือสติที่รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลาย จะเรียกว่า “ตื่นรู้” ก็ได้
การดูแล้วกระโดดเข้างับเลย อย่างนี้เรียกว่าเผลอ หรือไม่มีสติ จะเรียกว่า “หลับยืน” ก็ได้เช่นกัน
ธรรมชาติให้คนเรามีเวลา “หลับ” และเวลา “ตื่น” แต่เพราะความหลง หรืออะไรมิทราบได้ บางคนถึงเวลาหลับก็ไม่ยอมหลับ ฝันถึงอดีตที่จบไปแล้ว ฝันถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พอถึงเวลาตื่น ก็ไม่ยอมตื่นอีก กลับฝันกลางวันที่ยังลืมตาอยู่ ทำงานอยู่ ฝันถึงอดีตและอนาคตเหมือนตอนกลางคืน ขณะกินข้าวแทนที่จะกินข้าวอย่างมีความสุข กลับไม่ได้กินข้าว เพราะเผลอไปกินความฝัน กินความคิดไปเสียหมด
อาการฝันตลอดเวลาเช่นนี้ ขอเรียกว่า “หลับยืน” ก็แล้วกัน ซึ่งเป็นอาการที่ตรงกันข้ามกับ “ตื่นรู้” คนตื่นรู้ถึงเวลาหลับก็หลับจริง ไม่ฝันอะไร ถึงเวลาตื่นก็ตื่นจริง อยู่กับปัจจุบันขณะ มีสติทุกเมื่อ ตากระทบรูป ก็สักแต่ว่ารูปสักแต่ว่าเป็น หรือเฉยๆ เสีย เพราะเห็นเพราะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อมีเกิด มันก็มีดับเป็นธรรมดา ไปยุ่งอะไรกับมันนักหนา ปล่อยให้มันเต้นไปตามเพลง อย่าไปเต้นแร้งเต้นกาไปตามมันทำไมต้องไปทำตามคนละเมอ?
● คือผู้รู้ตัว
มีหลักธรรมคำสอนอยู่อันหนึ่ง เป็นกระจกหรือตะเกียงได้ในทุกสถานการณ์ นั่นคือ “ถ้าหลับมันก็ไม่รู้-ถ้ารู้มันก็ไม่หลับ” ตอบโจทย์ “หลับยืน-ตื่นรู้” ได้เป็นอย่างดี (คนหลับหลอกง่าย คนตื่นหลอกยาก)
ผู้ตื่นคือผู้รู้ตัว ย่อมรู้ว่า ในขณะนั้น ตัวเองกำลังหลับหรือกำลังตื่น หลับเป็นอย่างนี้หรือไม่รู้อะไรเลย ตื่นเป็นอย่างนี้หรือ อ๋อ รู้ความจริงของทุกสิ่ง เมื่อรู้ตน ก็ย่อมรู้คนอื่นด้วย เพราะเขากับเรา หรือตนกับคนอื่น ก็เป็นผู้มีรูปมีนาม มีกายมีใจเหมือนกัน
ผู้รู้หรือผู้ตื่นนี่ เขาเรียกว่า สติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของจิต เราต้องแยกสติออกมาเป็นผู้ดู เมื่อดูก็เห็น เมื่อดูก็รู้ ดูเฉยๆ อย่ากระโดดเข้าไปเป็น เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง
ที่เราสั่งสอน พูดกันทุกวัน แต่ไม่ค่อยเกิดผลอะไร ก็เพราะเราไปสอนคนที่เขากำลังหลับอยู่แล้วมันจะรู้อะไร แต่คนที่ตื่นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดมากสอนมาก หรือปรับทัศนคติอะไรดอก เพราะเขารู้อยู่แล้ว เผลอๆ ผู้พูดผู้สอนอาจพูดผิดพูดถูก จะกลายเป็นที่ขบขันไม่ได้ ไม่อายเขารึ
ดังนั้น จะพูดจะสอนอะไรใคร จะต้องรู้จักแยกแยะ คนหลับควรสอนอย่างไร คนตื่นควรสอนอย่างไร ไม่ใช่เหมารวม และรู้จักหาคนตื่นมาร่วมสอนด้วยสิ
ลองฟังเรื่องเล่า “ทุกข์เพราะมี” สักหน่อยนา...
หลวงพ่อ : โยม มีหัวไหม
โยม : มีครับหลวงพ่อ
หลวงพ่อ : โยม เคยปวดหัวไหม
โยม : ปวดบ่อยครับหลวงพ่อ
หลวงพ่อ : ตอนปวดหัวทุกข์ไหม
โยม : ทุกข์ที่สุดเลยครับ
หลวงพ่อ : โยม มีขาไหม
โยม : มีครับ
หลวงพ่อ : โยม เคยเจ็บขาปวดขาไหม
โยม : มีประจำ ยิ่งตอนทำสมาธิ ยิ่งปวดยิ่งเจ็บ
หลวงพ่อ : ตอนปวดขาทุกข์ไหม
โยม : ทุกข์มากครับ อยากให้หยุดทำสมาธิเร็วๆ จะได้หายทุกข์
หลวงพ่อ : โยม มีหนี้ไหม
โยม : มีทั้งในระบบและนอกระบบ
หลวงพ่อ : มีหนี้ทุกข์ไหม
โยม : สุดยอดแห่งทุกข์ บางทีอยากฆ่าตัวตาย เพื่อเอาเงินประกันไปใช้หนี้ และต่อชีวิตให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ และมีที่อยู่ที่ทำกิน
หลวงพ่อ : โยม มีทางไหม
โยม : (คลำดูกัน แล้วหัวเราะ) ไม่มีครับ
หลวงพ่อ : เมื่อหางไม่มี เคยปวดหาง เคยทุกข์เพราะหางไหม
โยม : ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่ทุกข์ อะไรเลยครับ
หลวงพ่อ : คนเราทุกข์เพราะมี และไม่ทุกข์เพราะไม่มี เป็นความจริงแท้ที่มีอยู่กับเราทุกคน แต่เราไม่รู้ เพราะยังหลับอยู่ โยมต้องรีบตื่นขึ้นมา แล้วดูมัน ก็จะเห็นจะรู้ความจริง แล้วก็จะหายทุกข์กันเสียที
โยม : สาธุ สาธุ สาธุ
เรื่องเล่านี้ไม่มีหลักวิชาอะไรหรอก เป็นการเปรียบเทียบง่ายๆ ใกล้ตัวที่สุด เลยเข้าใจและเห็นความจริง
ผมเองก็ทุกข์บ่อยๆ เมื่อออกจากบ้านก็ให้กุญแจเฝ้าบ้าน เป็นห่วงโน่นนี่ภายในบ้านจะหายเพราะถูกงัดมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่บอกว่าไปเที่ยวไปพักผ่อน เลยไม่ได้เที่ยวไม่ได้พักผ่อน ห่วงกังวลแต่บ้าน เออ...ทุกข์เพราะมีจริงๆ นะเนี่ยกลัวแต่คนอื่นจะเบียดเบียน (นหิสํนฺติ อกิญฺจนํ-ไม่มีอะไรเลย ไม่มีใครเบียดเบียน)
● จะดีหรือชั่ว
เรื่องดีหรือชั่ว เป็นสมมติบัญญัติเพื่อให้สังคมสงบสุข มีคำสอนที่รู้กันโดยทั่วไป เช่น “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”... “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตใจของตนให้ขาวรอบ ธรรมสามอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
คนดีจะได้รับการยกย่องชมเชย ส่วนคนชั่วจะถูกลงโทษ เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของสังคม ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า... “นิคฺคณฺเห นิคคหารหํ ปคฺคณฺเห-พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม”
คนดี ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น, คนดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ปวงชน, ปราชญ์ว่า ชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ประเสริฐสุด, ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน ฯลฯ
ส่วนคนชั่ว ก็ตรงกันข้ามกับคนดีนั่นแหละ เช่น เห็นการทุจริตคอร์รัปชันเป็นความฉลาด เห็นปราชญ์เป็นคนโง่ เห็นคนใหญ่โต (จะมาจากอะไร ความประพฤติเป็นไฉน ไม่เกี่ยว) เป็นพระเจ้า เป็นต้น
● เพราะตัวทำเอง
“ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ทำ” สโลแกนนี้ชัดเจน การทำนั้นก็มีสองอย่างคือ ทำดีกับทำชั่ว ไม่ว่าคุณจะทำสิ่งใด ก็ได้สิ่งนั้น ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว
แต่ความชั่วของคนยุคนี้ มันก้าวเกินจะตามทัน คือมันกลับตาลปัตรแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นความชั่วเป็นความดี เห็นความดีเป็นความชั่ว ไม่เช่นนั้น เขาจะกล้าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการขายชาติขายแผ่นดินหรือ? เช่น การกู้เงินในอนาคตมาใช้ เรื่องการใช้หนี้กว่าจะหมด ก็อีก 50 ปี หรือ 100 ปีเป็นเรื่องของลูกหลาน หรือรัฐบาลชุดต่อไปๆๆๆ หากไม่มีเงินใช้หนี้จะทำอย่างไร ก็กู้เงินในอนาคตมาใช้อีกซิ (ตูทำไว้เป็นตัวอย่างแล้ว) หัดเป็นคนฉลาด (แกมโกง) บ้าง มิเช่นนั้นก็ยกประเทศใช้หนี้เขาไป
ดูเขาคิดเขาทำ ปั้นดินน้ำมันแล้วเสียว ทำกันได้อย่างไร?
ความชั่ว คนชั่วทำง่าย, ความดี คนดีทำง่าย, ความดี คนชั่วทำยาก, ความชั่ว คนดีไม่ทำเลย
กมฺมฺนา วตฺตตี โลโก-สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม
ความดีความชั่ว เหนือชั่วเหนือดี มีหรือไม่มี อยู่ที่ตัวเรา
●●●หลับยืนตื่นรู้
คือผู้รู้ตัว
จะดีหรือชั่ว
เพราะตัวทำเอง
ธรรมมีอุปการะมาก คือธรรมที่เกื้อกูลในกิจ หรือในการทำความดีทุกอย่าง ได้แก่... (1) สติคือความระลึกได้ หรือนึกได้ หรือสำนึกอยู่ไม่เผลอ (2) สติสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดในสิ่งที่นึกได้ หรือตระหนักหรือเข้าใจชัดตามความเป็นจริง
“สติสัมปชัญญะ” มองในอีกมิติหนึ่งก็คือ “รู้ตัวทั่วพร้อม”
ผู้ที่มี...สติสัมปชัญญะ หรือรู้ตัวทั่วพร้อม หรือตื่นรู้เนี่ย เขาจะรู้ทันทุกสิ่งทุกอย่าง สมมติ ประกาศคณะรัฐมนตรีออกมาเพื่อบริหารประเทศชาติ เขาจะรู้ว่า คนไหนดี คนไหนชั่ว คนไหนรู้ คนไหนไม่รู้ คนไหนหลับ คนไหนตื่น คนที่เป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” จะตกแต่งรูปลักษณ์ใหม่ให้เริ่ดอย่างไร ก็ตบตาผู้ตื่นรู้ไม่ได้หรอก สิบอกให่
“อาจารย์ขา ศิษย์ขอลากลับบ้านแล้ว ขอพระดีๆ คุ้มครองให้ปลอดภัยด้วยค่ะ”
“มีสติทุกเมื่อ เชื่อว่าปลอดภัยแน่” นั่นคือพระดี ที่อาจารย์มอบให้ศิษย์รักทุกคน