xs
xsm
sm
md
lg

แชร์ลูกโซ่ : เหยื่อล่อคนโลภ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ทุกครั้งที่มีข่าวเจ้ามือหรือที่เรียกว่า เท้าแชร์ลูกโซ่หนี และผู้ร่วมลงทุนหรือลูกแชร์เดือดร้อนได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง ผู้เขียนนึกถึงแชร์แม่ชม้อยซึ่งอ้างทำธุรกิจซื้อขายน้ำมัน และมีผู้ร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก

แต่ในที่สุด แชร์น้ำมันซึ่งดำเนินการโดยนางชม้อย ทิพย์โส ก็ล้มหลังจากดำเนินการไประยะหนึ่ง และจากการล้มของแชร์แม่ชม้อยมีผู้ร่วมลงทุนเดือดร้อนเนื่องจากสูญเสียเงินไป และยังไม่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าเป็นจำนวนมาก และสุดท้ายคดีนี้จบลงด้วยเจ้าแม่แชร์วงนี้ต้องโทษจำคุก และผู้เสียหายไม่ได้เงินคืนเดือดร้อนไปตามๆ กัน นี่คือตัวอย่างแชร์ลูกโซ่ที่โด่งดังรายหนึ่งในอดีต

หลังจากที่แชร์แม่ชม้อยล้มธุรกิจหลอกลวงในลักษณะนี้ มิได้ล้มหายตายไปจากสังคมไทย ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่มีแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้น โดยการอ้างการทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะจบลงด้วยการหนีของเจ้ามือแชร์ และผู้ร่วมลงทุนเดือดร้อนเข้าแจ้งความดำเนินคดีวนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบอยู่เช่นนี้ รายแล้วรายเล่าและเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง

ทำไมจึงยังมีผู้ร่วมลงทุนในกิจการแชร์ลูกโซ่ ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าสุดท้ายแล้วเจ้ามือแชร์ลูกโซ่จะต้องหนี ผู้ร่วมลงทุนเดือดร้อน และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร

เกี่ยวกับประเด็นแรกคือ ทำไมจึงยังมีผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างการโกงให้เห็น ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่มาลงทุนในกิจการแชร์ลูกโซ่มีทั้งที่รู้และไม่รู้ แต่ที่ผู้ร่วมลงทุนในกิจการแชร์ลักษณะนี้มีเหมือนกันทุกคนคือ ความโลภ และความคิดเข้าข้างตนเองว่าจะไม่มีการโกง สำหรับเจ้ามือแชร์ที่ตนเองร่วมลงทุน และถ้ามีการโกงเกิดขึ้น ผู้เดือดร้อนคงจะไม่ใช่ตน โดยรวมๆ แล้วการที่ยังมีผู้ร่วมลงทุนในกิจการแชร์ลูกโซ่ ถ้าอนุมานในเชิงตรรกะแล้วน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. มีการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนในธุรกิจที่นำมาอ้างให้แตกต่างไปจากที่เคยมีปัญหา เช่น จากธุรกิจค้าน้ำมันเป็นการซื้อขายสินค้าประเภทอื่น เป็นต้น

2. มีการเสนอผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลในอัตราสูง เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยฝากประจำกับสถาบันการเงินเสนอให้ จึงกลายเป็นเหยื่อล่อให้คนโลภมาติดกับที่วางไว้ได้ง่าย

3. โดยความเป็นจริง ธุรกิจแชร์ลูกโซ่มิได้ทำให้ผู้ร่วมลงทุนขาดทุน และสูญทุกคน แต่ยังมีบางคนได้ผลตอบแทนคุ้มค่า และบางคนที่ว่านี้ก็คือผู้ที่ลงในระยะแรกๆ ที่เพิ่งก่อตั้ง และไม่มีการลงทุนเพิ่มอีกก็มีโอกาสได้ทุนคืน และมีกำไรถ้ากิจการแชร์อยู่ได้นานเกินกว่าที่เจ้ามือแชร์นำเงินที่ได้จากผู้ร่วมลงทุนมาคืนลูกค้าในลักษณะงูกินหาง ตัวอย่างเช่น มีผู้ร่วมลงทุนร้อยบาท และได้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผล 10% ของเงินลงทุนต่อเดือน ถ้ากิจการแชร์อยู่ได้เกิน 10 เดือนนับจากวันที่ลงทุนไป ก็จะได้กำไรจากเดือนที่ 11 เป็นต้นไป ส่วนจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าแชร์อยู่ได้นานมากน้อยแค่ไหน

ส่วนประเด็นว่าป้องกันอย่างไรนั้น ถ้ามุ่งแก้ด้วยมาตรการทางกฎหมายคงทำได้ยาก เพราะผู้ร่วมลงทุนสมัครใจ และรับรู้กันในวงแคบระหว่างเจ้ามือแชร์กับผู้ร่วมลงทุนเท่านั้น จะรู้กันอย่างกว้างขวางก็เมื่อเจ้ามือแชร์หนี และมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม อาจป้องกันได้บ้างโดยใช้มาตรการทางสังคมควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายดังต่อไปนี้

1. จัดให้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่ถูกต้อง และมีความเสี่ยงในระดับที่พอจะคาดการณ์ได้โดยอาศัยวิชาการเกี่ยวกับการลงทุนที่เรียนรู้ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

2. ผู้ร่วมลงทุนเองก็ควรที่จะใช้ความคิดโดยอาศัยหลักแห่งเหตุผลในการทำธุรกิจ เช่น ถามตัวเองว่า ถ้าเป็นตนเองที่มีช่องทางทำธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเช่น 10% ต่อเดือนหรือเท่ากับ 120% ต่อปี ตนเองจะชวนคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มิใช่ญาติหรือเพื่อนที่มีหนี้บุญคุณกันมาร่วมลงทุนหรือไม่ และที่ควรจะถามตนเองอีกประการหนึ่งก็คือ ทำไมเจ้ามือแชร์จึงไม่กู้เงินในระบบหรือจากสถาบันการเงินซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่าหลายสิบเท่า เมื่อเทียบเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่เสนอให้ท่าน

คำตอบที่ได้จากการที่ผู้ร่วมทุนที่มีความคิดในลักษณะนี้ จะเป็นมาตรการป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกล่อได้แน่นอน เพราะจากการที่ท่านถามตัวเองในทำนองที่กล่าวมา คำตอบที่ได้ก็คือไม่มีธุรกิจอยู่จริงๆ จะมีก็เพียงการหลอกลวงต้มตุ๋นเท่านั้น และเป็นที่เชื่อได้ค่อนข้างแน่นอนว่า ธุรกิจในลักษณะนี้จะดำรงอยู่ได้นานไม่ได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. เจ้ามือแชร์จะต้องหาผู้ร่วมลงทุนใหม่ให้มากขึ้นเรื่อยๆ หยุดไม่ได้เพราะถ้าหยุดเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงกิจการล้มทันทีที่มีข่าวออกมาว่า เดือนนั้นเดือนนี้จะไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยหรือปันผลแก่ผู้ร่วมลงทุน หรือแม้กระทั่งการขอลดการจ่ายในอัตราต่ำกว่าเดิม

2. กิจการในลักษณะนี้ขยายวงกว้างออกไปมากเท่าใด โอกาสที่จะล้มมีมากเท่านั้น เพราะในแต่ละเดือนรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะมีรายได้เพิ่ม สุดท้ายก็จะต้องจบลงด้วยการหนี และผู้ร่วมลงทุนแห่แจ้งความเป็นวัฏจักรของกิจการแชร์ลูกโซ่

ดังนั้น จึงสรุปเป็นบทเรียนได้ง่ายๆ ว่าคนโลภเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง ถ้าไม่โลภเพียงประการเดียว ก็จะเป็นเกราะป้องกันการหลอกลวงในลักษณะนี้ได้ค่อนข้างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น