ทรัพยากรของประเทศชาติต้องเป็นของรัฐ เป็นของกระทรวงการคลัง หรือเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นของเอกชนไม่ถึงหยิบมือของประเทศ แต่ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ทรัพยากรของประเทศถูกนักการเมืองและเอกชนฮุบไปแทบหมด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐจากกระทรวงการคลัง กระทรวงต่างๆ อัยการสูงสุด ดีเอสไอ ตำรวจ กองทัพ องค์กรอิสระ ศาสนา วัด ฯลฯ เข้าไปเกี่ยวข้องเกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างกว้างขวาง อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย
ถ้าประเทศได้ผู้นำเป็นคนดี มีศีลธรรม มีความเกรงกลัวและมีความละอายใจต่อบาป ก็จะนำพาประเทศเจริญรุ่งเรือง คนในชาติมีความอบอุ่น อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข รักใคร่กลมเกลียวกัน อยู่กันอย่างสามัคคี ไม่แตกแยก
ถ้าประเทศได้ผู้นำเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรม ไม่มีความเกรงกลัวและไม่มีความละอายต่อบาป ก็จะนำพาประเทศล่มจม คนในชาติขาดความอบอุ่น อยู่กันอย่างไม่เป็นสุข ทะเลาะเบาะแว้ง ขาดความสามัคคี และแตกแยก ความแตกแยกของคนไทยไม่ได้เกิดจากคนไทยด้วยกันเอง แต่มีคนที่ต้องการผลประโยชน์ สร้างมวลชนขึ้นมาปะทะมวลชน
นักการเมืองชั่ว แสวงหาอำนาจ เมื่อได้อำนาจแล้วก็เอาอำนาจมาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง บริหารประเทศเป็นงานอดิเรก ปล้นประเทศเป็นงานหลัก ทุกวันตลอดเดือนตลอดปี คิดแต่จะหาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ แบบไหน อย่างไร ใช้อำนาจ ใช้เงินทอง ใช้วาทกรรมเปลี่ยนแปลงความเป็นปกติของประเทศ ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
เมื่อได้เป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศแล้ว ก็มากำหนดราคาขายสินค้าและบริการของสาธารณูปโภคนั้นๆ ให้สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ให้กิจการนั้นมีกำไรสูง ค่าขนส่งและค่าเดินทางสูงขึ้น ค่าความเป็นอยู่สูงขึ้น ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น ค่าน้ำค่าไฟสูงขึ้น อาหารการกินราคาสูงขึ้น ก่อความเดือดร้อนให้คนทั้งประเทศเอกชนนักการเมืองและคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนส่วนน้อยของระบบ มั่งคั่งขึ้น มีความสุขกันเหนือความทุกข์ชาวบ้าน
ตลาดหุ้นคือสิ่งผิดปกติในระบบเศรษฐกิจไทย และระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าประเทศไทย สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งที่เกิดกับประเทศรัสเซียในเวลานี้ ทุกวันนี้ตลาดทุนของโลกผิดปกติมากกว่าเดิม
การพังทลายของตลาดทุนระหว่างปี 2537-2540 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหายเงินไหลออกจากประเทศทำให้สภาพคล่องของประเทศไทยเสียหาย จนต้องขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นที่มาของกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ
กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ ไม่ใช่กฎหมายที่ออกโดย IMF แต่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยทำขึ้น เพื่อนำไปเสนอขอเงินกู้จาก IMF คิดแบบให้ถูกใจ IMF ให้เกิดการขายสมบัติชาติได้ง่ายขึ้นคนทั่วไปจึงเรียกว่า “กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ” มีการสร้างกระแสให้คนไทยด่า IMF ว่าให้ยาแรงกับประเทศไทย (โดยไม่คิดว่าสิ่งผิดปกติในประเทศไทย ทำให้เกิดวิกฤตกับประเทศไทยเอง) ไม่หวังว่าระดับสูงของประเทศเขาจะรักประเทศชาติประชาชน เขาคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนของเขา เขาจะไม่คิดถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบ มีการโยนความผิดให้เอกชน แล้วก็เดินหน้าออกวิธีการมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทุกครั้ง ความผิดปกติก็จึงยังคงอยู่ในระบบตลอดไป
ประเทศไทยเข้าโครงการ IMF ครั้งแรกในปี 2528 หลังการพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2521-2527 เพราะสิ่งผิดปกติยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ทำประเทศไทยต้องเข้าโครงการ IMF เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2540
เมื่อสิ่งผิดปกติยังอยู่กับประเทศไทยเช่นนี้ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 และครั้งต่อๆ ไป ก็จะเกิดขึ้นได้อีก
ประชาชนคนไทยรู้สึกเศร้าใจ กับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศปี 2540หดหู่ใจเมื่อทราบว่าถ้าอนาคตไม่มีเงินใช้หนี้ IMF จะต้องขายรัฐวิสาหกิจใช้หนี้ IMF ประเทศไทยได้ใช้หนี้ IMF งวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ทำให้ไม่ต้องขายรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้หนี้ IMF แล้ว ประชาชนคนไทยไม่หดหู่แล้ว
แต่แล้วปรากฏว่ารัฐบาลทักษิณมีการแปรรูป(ขาย)รัฐวิสาหกิจมาเป็นประวัติการณ์
เป็นความโชคดีของรัฐบาลปี 2544 เนื่องจากการพังทลายของตลาดหุ้น NASDAQ และ USD ในปี 2543(2000) ทำให้คนไม่ถือเงินดอลลาร์ เงินไหลออกจากอเมริกาออกมาท่วมโลก รวมทั้งไหลเข้ามายังประเทศไทย ทำให้สภาพคล่องท่วมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถใช้หนี้ IMF งวดสุดท้ายหมดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546(2003)
การใช้หนี้ IMF หมด ไม่ได้เกิดจากฝีมือของรัฐบาลปี 2544 แต่อย่างใด
จากบางตอนปาฐกถาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เขียนว่า “เป็นวาทกรรมเพื่อการขายสมบัติชาติ”
มี 2 สาระที่สำคัญในปาฐกถานี้
1) วาทกรรมชวนเชื่อ ชวนหลงใหล เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยาหอมให้ผู้คนเห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
2) เมื่อใช้หนี้ IMF หมดในกลางปี 2546 แล้ว “กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ 2542” ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะคงไว้ต่อไป โดยยกเลิก แล้วได้จัดทำกฎหมายอีกฉบับขึ้นมา ว่าด้วย “การปรับปรุงและพัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” เป็นที่มาของการขายรัฐวิสาหกิจมากเป็นประวัติการณ์ในเวลาต่อมา
ภาพการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เปรียบเทียบกับการเป็นไปของ SET index แต่ละช่วง
PTT บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ไทยแปรรูป(ขาย)เข้าตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 (2001) ประเทศไทยยังไม่ความจำเป็นต้องใช้หนี้ IMF เพราะเหลือเวลาอีกหลายปีที่จะครบกำหนดการใช้หนี้ IMF อาศัยกฎหมาย “ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542” ในการแปรรูป PTT เข้าตลาดหุ้น
บริษัทที่ถูกแปรรูปหลังการใช้หนี้ IMF งวดสุดท้าย ใช้กฎหมายว่า “การปรับปรุงและพัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” ในการแปรรูป ได้แก่
AOT บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แปรรูป(ขาย)เข้าตลาดเมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน2547 (2004)
TOP บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) แปรรูป(ขาย)เข้าตลาดเมื่อวันที่ 26ตุลาคม2547 (2004)
MCOT บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แปรรูป(ขาย)เข้าตลาดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547 (2004)
คนทั่วไปจำได้แต่ว่ามีการแปรรูป ปตท.เข้าตลาดหุ้น แต่ความจริงมีการแปรรูปอีกหลายบริษัทเข้าตลาดหุ้น คือ AOT TOP และ MCOT โดยรวมแล้วมีการแปรรูป(ขาย)รัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหุ้นมากเป็นประวัติการณ์
หลังรัฐบาลปี 2544 ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหุ้นอีกเลย
มีตั้งบริษัทขนาดเล็ก มามีธุรกรรมกับบริษัทรัฐวิสาหกิจ แบ่งทอนผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจออกมา ไม่ว่ากิจการพลังงานน้ำมันและก๊าซ ไฟฟ้า ประปา การบิน และอื่นๆ
บริษัทลูกด้านพลังงานหลายแห่ง ได้เข้าตลาดหุ้นก่อนบริษัทแม่ เช่น
PTTEP บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) BCP บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) PTTEP เคยเป็นบริษัทใหญ่อันดับที่ 2 ในตลาดหุ้น ปัจจุบันลดอันดับลงมาเป็นอันดับที่ 4 หรือ 5
PTTGC บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นการควบรวมกิจการระหว่าง PTTAR กับ PTTCH หลังรัฐบาลปี 2544 ถูกรัฐประหารในปี 2549
IRPC บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ชคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อยู่ในตลาด MAI (บริษัทเดิมคือ TPI ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง ถูกควบกิจการในเวลาต่อมา ให้อยู่เป็นบริษัทลูกของ PTT)
SHIN บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นกิจการด้านพลังงาน แต่เป็นกิจการด้านโทรคมนาคม เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่น่าบันทึกไว้ คือการขาย 49 เปอร์เซ็นต์ SHIN ให้เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ของประเทศสิงคโปร์
ได้มีความพยายามแก้ไขกฎหมายกิจการโทรคมนาคมในชั้นวุฒิสภาฯ 2 ครั้ง จากต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ ครั้งแรกกฎหมายนี้ไม่ผ่านวุฒิสภา ครั้งที่ 2 จึงผ่านวุฒิสภาออกมาได้ ได้มีการตกลงขาย(deal)กัน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549(2006)
SHIN เป็นบริษัทสัมปทานโทรคมนาคมจากรัฐ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น INTUCH บริษัท อินทัชโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการขายบริษัทที่ได้สัมปทานจากรัฐ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง เนื่องจากมีกฎหมายอยู่แล้ว และเนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แล้วจึงมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือมีการขายบริษัทที่ได้สัมปทานไปจากรัฐ
ตารางข้อมูลดิบนี้ รวบรวมมาจาก Website ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนการแปรรูป ปตท.(PTT) เข้าตลาดหุ้น กระทรวงการคลังถือหุ้นปตท.100 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลนี้ไม่ได้ย้อนหลังไปถึงก่อนการแปรรูป ปตท. (บันทึกข้อมูลวันที่ 23/3/2555) กระทรวงการคลังถือหุ้นโดยตรงเฉพาะ PTT และ BCP เท่านั้น ส่วนกิจการพลังงานด้านอื่นๆ เช่น
PTTEP PTTGC TOP และ IRPC อยู่ภายใต้การถือหุ้นของ PTT
หาก PTT เป็นของกระทรวงการคลัง 100 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนการถือหุ้นหุ้นบริษัทลูกก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เช่นถือหุ้น PTTEP 65.29 เปอร์เซ็นต์
พบว่าบางบริษัทกระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ เช่น BCP พบว่าถือเป็นสัดส่วนที่น้อย โดยถือหุ้นผ่าน PTT27.22 เปอร์เซ็นต์ โดยที่กระทรวงการคลังถือหุ้นโดยตรง 9.98%
เมื่อมีการแปรรูป ปตท.(PTT)หรือบริษัทแม่เข้าตลาดหุ้น ทำให้ความเบี่ยงเบนเกิดขึ้น “ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทลูกด้านพลังงานของกระทรวงการคลังน้อยลงไปโดยปริยาย”
ยกตัวอย่างเช่น PTT ถือหุ้น PTTEP 65.29 เปอร์เซ็นต์ แต่กระทรวงการคลังถือหุ้น PTT 51.11 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นส่วนผู้ถือหุ้นใน PTTEP ย่อมเป็นของกระทรวงการคลัง 51.11 เปอร์เซ็นต์ด้วยเช่นกัน 51.11 เปอร์เซ็นต์ของ 65.29 เปอร์เซ็นต์จึงเท่ากับ 33.37 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเอาข้อมูลในตาราง “ความสัมพันธ์ ปตท.และบริษัทลูกในตลาดหลักทรัพย์ไทย-1” มาแจกแจงตามตัวอย่าง PTT และ PTTEP ทำให้ได้ข้อมูลในตาราง “ความสัมพันธ์ปตท.และบริษัทลูกในตลาดหลักทรัพย์ไทย-2” ทำให้ทราบว่ากิจการพลังงานของไทย ที่มาจากทรัพยากรของรัฐ ไม่ได้เป็นของรัฐแล้ว รัฐไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รัฐถือหุ้นข้างน้อย รัฐเป็นผู้ถือหุ้นโดยรวมเฉลี่ยเพียง 38.90 เปอร์เซ็นต์ เอกชนต่างหากเป็นเจ้าของกิจการพลังงาน ที่มาจากทรัพยากรของคนทั้งประเทศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 61.10 เปอร์เซ็นต์
ได้นำข้อมูลจาก “ความสัมพันธ์ปตท.และบริษัทลูกในตลาดหลักทรัพย์ไทย-2” มาสร้างกราฟ เพื่อจะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
สัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท.ที่เป็นของกระทรวงการคลัง 51 เปอร์เซ็นต์ เป็นของเอกชน 49 เปอร์เซ็นต์เป็นเพียงภาพลวงตา ทำให้คิดว่ากิจการพลังงานเป็นของรัฐ แล้วเอกชนในคราบนักการเมืองก็ส่งคนของตนเองและคนของรัฐไม่ว่าคนจากกระทรวงการคลัง จากกระทรวงต่างๆ จากอัยการสูงสุด จากสำนักงานตำรวจ จากกองทัพเข้าไปกำกับดูแลกิจการพลังงานนี้ เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนมโหฬารในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
PTTGC บริษัทปิโตรเคมีที่มีชื่อ PTT..นำหน้า แต่เป็นของรัฐเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นของเอกชน 75 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนแบ่งการใช้ก๊าซเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด แต่ซื้อก๊าซที่ราคาต่ำสุด รูปแบบเช่นนี้ ผลประโยชน์จะไม่เป็นของประเทศชาติประชาชน แต่ผลประโยชน์ตกเป็นของเอกชนถึง 75 เปอร์เซ็นต์
รูปแบบส่วนของผู้ถือหุ้นเช่นนี้ สามารถซ่อนเร้นกำไร หรือสามารถกำหนดให้กำไรไปเกิดขึ้นที่ส่วนใดก็ได้ ให้เกิดกำไรที่บริษัทลูกมากๆ (เพราะเอกชนถือหุ้นในบริษัทลูกเป็นสัดส่วนที่สูง) ทำให้บริษัทแม่ไม่มีกำไร หรือให้มีกำไรน้อย
แต่สุดท้ายเมื่อบริษัทลูกมีการจ่ายเงินปันผล บริษัทแม่ก็ได้รับเงินปันผลด้วย แต่จะได้รับมูลค่าเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเอกชน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทลูก
และธุรกรรมเช่นนี้ จะทำให้บริษัทคู่แข่งอยู่ได้ยาก ไม่มีบริษัทสำรวจและขุดเจาะจัดหาน้ำมันดิบเป็นของตัวเอง ไม่มีโรงกลั่นเป็นของตนเอง ไม่สามารถมีกำไรจากบริษัทลูกทำให้มีกำไรน้อยหรือไม่มีกำไร ทำให้ไม่มีกำลังที่จะมาขยายกิจการได้ สุดท้ายกิจการพลังงานของไทยภายใต้เครื่องหมายการค้า “PTT” ก็จะกลายเป็นบริษัทผูกขาดกิจการพลังงานของไทยได้โดยง่าย สามารถตั้งราคาใดๆ ได้ตามใจชอบ ซึ่งทุกวันนี้ก็ทำกันได้อยู่แล้ว
ถามรัฐบาลกระทรวงการคลัง กลต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ค่าภาคหลวง ภาษีสรรพสามิตภาษีต่างๆ ที่เก็บจากกิจการพลังงานเป็นผลประโยชน์เข้ารัฐ
การขึ้นราคาพลังงาน การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเอกชนในกิจการพลังงานเป็นส่วนใหญ่
มีความเบี่ยงเบน 2 เรื่องหลักในกิจการพลังงานของประเทศไทย
ไม่เพียงเฉพาะเรื่อง “ท่อก๊าซ” เท่านั้น ที่ไม่คืนให้กระทรวงการคลังแต่ “บริษัทลูกต่างๆ” ก็แทบไม่เหลือเป็นของรัฐหรือกระทรวงการคลังแล้ว ถูกแบ่งไปเป็นของเอกชนเป็นส่วนใหญ่
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงบริษัทหุ่นเชิด ลวงตา ของเอกชนด้านพลังงาน
สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างกระทรวงการคลังกับเอกชนเป็น 51 ต่อ 49 เปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนแทบไม่ต่างกัน ใกล้เคียงกันมากเป็นเรื่องที่น่าจะไม่ถูกต้อง ทางที่ควรจะเป็นคือ กิจการพลังงานทั้งระบบควรจะเป็นของรัฐหรือเป็นของกระทรวงการคลัง 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างน้อยสัดส่วนการถือหุ้นกิจการพลังงานทั้งระบบ ควรต้องเป็นของรัฐ 75-80เปอร์เซ็นต์
(ข้อมูลจาก Social media)
ข้อมูลจากชาร์ต 3 ชาร์ตอันหลังนี้ บอกให้ทราบว่า ราคาน้ำมันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีราคาอยู่ระหว่าง 20-25 บาทต่อลิตร แต่ของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 40-50 บาทต่อลิตร ราคาแพงกว่ากันเท่าตัว
ช่วงปี 2544 หรือปีที่มีการแปรรูปบริษัทแม่เข้าตลาดหุ้น ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียแตกต่างกันน้อยมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป และถึงทุกวันนี้ ราคาน้ำมันของประเทศไทยสูงกว่าราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซียกว่าเท่าตัว เป็นต้นเหตุความเดือดร้อน วุ่นวาย สับสนของคนไทยผ่านกิเลสของคนระดับสูงในระบบ
มีการหาประโยชน์ส่วนตนจากกิจการพลังงานของประเทศ จากทรัพยากรของชาติ กลายเป็น “ประเทศทุนนิยม” อย่างเข้มข้น ไม่ใช่เป็น ”ประชานิยม”อย่างที่โอ้อวดแต่อย่างใด ที่เป็นประชานิยม ก็เป็นแบบกู้หนี้ยืมสินมาเป็นประชานิยม
จากการขุดพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ท่านได้ประกาศว่าไทยเข้าสู่ “ยุคโชติช่วงชัชวาล” แล้ว ความเป็นจริงก็น่าจะโชติช่วงชัชวาลอยู่หรอก แต่กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นายทุนและขุนศึก ก็เฝ้าใจใส่กับเรื่องนี้เช่นกัน และสิ่งโชติช่วงชัชวาลก็ได้กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน กลายเป็นความมั่งคั่งของกลุ่มเขาไปหมด ทิ้งความเดือดร้อน ความยากจนข้นแค้นแสนเข็ญ อับแสง ให้เป็นของประเทศชาติประชาชนแต่อย่างเดียว เด็กไทยต้องจ่ายค่าเล่าเรียนสูงขึ้น ไม่ค่าเล่าเรียนก็ให้กู้เงินมาเรียนได้ค่ารักษาพยาบาลก็สูง ประชานิยมแบบกู้หนี้ยืมสินมาทำรถเมล์ฟรี มารักษาพยาบาลฟรีให้คนระดับล่าง
ผิดกับประเทศบรูไน รายได้จากน้ำมันและก๊าซ เป็นรายได้ของรัฐไม่ให้ใครเอาไปเป็น “ทุนนิยมพลังงาน” แบบประเทศไทย แต่เอารายได้จากพลังงานมาเป็น “ประชานิยมที่บริสุทธิ์” ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นประชานิยม การศึกษาของชาติฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี ประชาชนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล
ราคาน้ำมันที่สูง เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความเดือดกับคนทั้งชาติ เป็นต้นเหตุของราคาสินค้าและบริการของประเทศไทยสูงขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวปลาอาหาร ของกินของใช้แพงขึ้นทุกอย่าง คนไทยจนลง เศรษฐกิจฝืดเคือง ความมั่งคั่งกลายเป็นของนักการเมือง นายทุน และข้าราชการระดับสูงเป็นส่วนใหญ่
ปัญหากิจการพลังงาน เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1) ระบบตอบแทนต่อทรัพยากรพลังงานของชาติไม่เหมาะสม ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ จะมีความเหมาะสมกว่าระบบการให้สัมปทาน
2) โครงสร้างกิจการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป หลังการแปรรูป ปตท.เข้าตลาดหุ้น สัดส่วนผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนระหว่างรายได้ของรัฐกับรายได้ของเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ปตท.ควรจะเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือเป็นของรัฐเพียง 51 เปอร์เซ็นต์ ปตท.สผ.ควรจะยืนเป็นของรัฐ 65.29 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือเป็นของรัฐเพียง 33.37 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามาหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ กำหนดให้บริษัทลูกในกิจการพลังงานมีผลกำไรสูง ทำให้มีการทำกำไรหลายต่อ ที่ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์พลังงานของไทยราคาสูงผิดปกติอย่างมาก
ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่ราคาพลังงานของประเทศลดลง ไม่ได้เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสมในกิจการพลังงานแต่อย่างใด แต่เกิดจากราคาพลังงานโลกลดลง เช่น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงจากระดับ 115 มาที่ 63 เหรียญต่อบาร์เรลลดลงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ทำให้ราคาพลังงานในไทยต้องลดลงด้วย แต่ลดลงเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ แต่พลังงานบางส่วนกลับฉวยโอกาสขึ้นราคา เช่นก๊าซที่ใช้ในการหุงต้ม และที่ใช้กับรถยนต์
การคืนความสุขให้คนไทยจะไม่สามารถเป็นจริงได้ หากยังแก้ปัญหาหลักของกิจการพลังงานไม่ได้ ที่ยังทำให้ราคาผลิตภัณฑ์พลังงานของไทยผิดปกติจากที่ควรจะเป็น จะทำให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามาขูดรีด เอารัดเอาเปรียบประเทศชาติประชาชนได้ตลอดเวลา กระทบถึงความมั่นคงของชาติ แต่ถ้าทำให้ราคาพลังงานเกิดความเป็นธรรมต่อประเทศชาติประชาชนได้ ความสุขก็จะเกิดกับประชาชนอย่างแท้จริง ประเทศชาติก็จะมีความมั่นคงตลอดไป