xs
xsm
sm
md
lg

กฎแห่งความช้า (1)

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ความเข้าใจผิดที่ยิ่งใหญ่อันนำมาซึ่งปัญหานานัปการได้แก่ความเชื่อตามนิวตันว่า กฎ ที่แท้จริงของโลกคือ กฎว่าด้วยความดึงดูดของโลก หรือ กฎแห่งความเร่ง หรือ F=ma ความเป็นธรรมชาติ คือ ความช้า ซึ่งมีปรากฏอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่ง ซึ่งวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่ามีกาลิเลโอที่เป็นประจุลบ และมีความช้าด้วย มิได้มีแต่อนุภาคที่มีประจุบวกแต่เพียงอย่างเดียว การที่กาลิเลโอ เป็นคนทิ้งวัตถุจากหอเอนเมืองปิซ่าขึ้นไปบนหอคอยแล้วทิ้งสิ่งที่มีน้ำหนักต่างกันตกลงมาพร้อมกัน แล้วสรุปว่าวัตถุทั้งสองมีความเร็วเท่ากันนั้น พูดอีกทางหนึ่งก็ว่า มีความช้าเท่ากัน

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงไปพยายามวัดความเร็ว แทนที่จะวัดความช้า มีผลทำให้วิธีคิดต่อๆ มามุ่งเน้นอยู่ที่ความเร่ง หรือ ความรวดเร็ว ความเร่ง ความเร็วกลายเป็นคุณค่าที่มนุษย์ติดยึดและแสวงหา แม้ว่าระบบคิดเรื่องความเร่งจะทำให้เกิดความเจริญมากมาย แต่ก็นำมาซึ่งความหายนะ ความเสื่อมโทรม ปัญหาความขัดแย้งและความทุกข์ยากของมวลมนุษยชาติ

หนทางแก้ไข คือ การปรับระบบความคิด จากการยึดมั่นถือมั่นในกฎแห่งความเร่ง หรือความนิยมในความเร็วมาเป็นการอยู่กับธรรมชาติ ภายใต้กฎแห่งความช้า อันเป็นการทำให้เราอยู่กับโลก และจักรวาลได้อย่างกลมกลืนและสมดุล เราเรียกข้อค้นพบที่เป็น “การย้อนกฎนิวตัน” นี้ว่า “กฎแห่งความช้า” ซึ่งจะอาศัยเป็นวิธีคิด และแนวทางปฏิรูปประเทศต่อไป

ในจักรวาล และโลกของเรานี้ความช้าเป็นกฎ ความเร็วเป็นข้อยกเว้น นี่คือธรรมชาติหรือธรรมดาของโลก ที่เราจะต้องเข้าใจ ดวงดาวบนท้องฟ้าต่างโคจรเป็นระยะเวลานานนับร้อยนับพันปี แสงอาทิตย์กว่าจะส่องถึงโลกนั้น แม้เราจะรู้สึกว่าไม่นาน แต่เราก็รู้ว่าการเดินทางของแสงนั้น นับเป็นหมื่นปีแสง และเราก็ไม่สามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสง ด้วยเหตุนี้เอง ความช้าจึงเป็นกฎกำหนดวิถีชีวิตของคน ตลอดจนเป็นกรอบกำหนดจัดความสัมพันธ์ทางสังคม และมนุษย์อีกด้วย

อายุขัยของโลก และจักรวาลยาวนาน อายุขัยของคนสั้น มนุษย์มีวิวัฒนาการหลังจากเกิดโลกและสิ่งต่างๆ เช่น ผืนดิน มหาสมุทร ภูเขา มาเป็นเวลานานเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการ แต่โลกในสมัยก่อนมนุษย์เรามีอายุสั้นมาก คนเราจึงมีความคิดว่า ตายแล้วจะเกิดใหม่ได้ มนุษย์จึงก่อสร้างถาวรวัตถุอันใหญ่โตโอฬาร โดยใช้เวลาทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานับร้อยนับพันปีเกินชั่วอายุขัยของคนใดคนหนึ่ง โดยไม่คำนึงว่าตัวเขาจะเห็นผลสำเร็จหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเมืองจีน นครวัด และสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

การทำงานของมนุษย์นั้นจึงปราศจากเงื่อนไข และเงื่อนเวลา ในอดีตกาลไม่มีเกณฑ์วัดความสำเร็จ เพราะงานทั้งหลายดูไม่มีจุดจบเหมือนกับการเคลื่อนที่ไปของจักรวาลและโลก ชีวิตมนุษย์ในวิถีเช่นนี้เป็นไปด้วยความเชื่องช้าไม่ฝืนโลก แต่ในสมัยต่อมา มนุษย์เริ่มมีความคิดที่จะฝืนโลกมากขึ้นเรียกว่า ฝืนกฎของความช้า หันมายึดข้อยกเว้นของความเร็วโดยเรียกความแตกต่างนี้ว่า ความเจริญ เป็นเหตุให้มนุษย์เริ่มปลีกตัวออกจากธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออกจากกฎแห่งความช้า ซึ่งนำมายังปัญหาทั้งปวงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และยังหาทางออกไม่ได้ ตราบเท่าที่เรายังไม่กลับไปสู่ธรรมดาแท้จริงของโลก และชีวิตคือกฎแห่งการช้า

มนุษย์อยู่ในครรภ์มารดาถึง 9 เดือนค่อยๆ เติบโตจากเซลล์ไปสู่เลือดเนื้อ และเมื่อคลอดออกมาแล้ว ก็ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ แต่ต้องให้พ่อ แม่ และผู้อื่นคอยช่วยเหลือเลี้ยงดู กว่ามนุษย์จะช่วยตัวเองได้ก็ต้องใช้เวลานาน และไม่สามารถมีความเป็นอิสระ หรืออยู่อย่างโดดเดี่ยวตามใจตัวเองได้ นี่ก็คือการแสดงว่าความช้า การต้องพึ่งพาผู้อื่น และความไม่มีอิสระอย่างเด็ดขาดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เบื้องต้นกฎแห่งความช้านี้ปรากฏทั่วไปในโลก ธัญญาหาร ผลไม้ ต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิดผล องุ่นที่หมักเป็นเวลานานๆ และเก็บไว้เป็นร้อยๆ ปีจึงจะมีความนุ่มหอมหวาน เนื้อที่ถูกตุ๋นอย่างช้าๆ หรือซุปที่ถูกเคี่ยวเป็นเวลานานจะเป็นอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย (อ่านต่อวันจันทร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น