xs
xsm
sm
md
lg

“เพ ลา เพลิน” พาเพลินในอุทยานดอกไม้มาแรงแห่งภาคอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน”
การได้เดินทางท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่จะสร้างความสุขจากความเพลิดเพลินในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ แต่ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมกับความบันเทิงอีกด้วย ซึ่งที่ “เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท และอุทยานไม้ดอก เพ ลาเพลิน” หรือที่เรียกชื่อสั้นๆ ว่า “เพ ลา เพลิน” ใน จ.บุรีรัมย์ ก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ
มุมบ้านกังหัน สไตล์สวิตเซอร์แลนด์
“เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท” และ “อุทยานไม้ดอก เพ ลาเพลิน” ถูกสร้างขึ้นโดยวัตถุประสงค์ของ คุณพรทิพย์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการโครงการเพ ลา เพลินฯ ที่กล่าวว่า “การทัศนศึกษาถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาในการเรียนรู้แบบยั่งยืน เพราะสามารถทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์โดยตรง ซึ่งในพื้นที่ภาคอีสานใต้นั้นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษายังไม่มี จึงสร้างเพ ลา เพลิน ขึ้นมาเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ด้วย”
มีมุมสวยงามมากมายให้ได้ชม
แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองขมาร อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวอำเภอเมืองมาประมาณ 32 กิโลเมตร พื้นที่ภายในถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท” และ “อุทยานไม้ดอกเพ ลา เพลิน”
นิทรรศการในโซน “กาลครั้งหนึ่งแกลเลอรี”
ในส่วนของเพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท เป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวและเรียนรู้ โดยจะมีมุมต่างๆ ที่ถูกออกแบบและตกแต่งไว้อย่างสวยงามให้ผู้ที่มาท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและถ่ายรูป เช่นมุมบ้านกังหันสไตล์สวิตเซอร์แลนด์, มุมสวนสไตล์อังกฤษ ซึ่งในพื้นที่นี้ถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 โซน คือ
ฐานกิจกรรมโรยตัว “หอเอนปิซ่า”
โซนที่หนึ่ง “กาลครั้งหนึ่งแกลเลอรี” ซึ่งจะเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่แสดงถึง “วิถีชีวิต วิถีไทย” โดยจัดแสดงนิทรรศการวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ประเพณี และมีการนำข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณมาจัดแสดงให้ได้ชม
ฐานกิจกรรมปีนผา “กำแพงเมืองจีน”
โซนที่สอง “กิจกรรมผจญภัย” ในจุดนี้ได้จำลองสถานที่ที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงของโลกมาสร้างเป็นฐานกิจกรรมผจญภัย อาทิ หอเอนปิซ่า เป็นฐานกิจกรรมสำหรับโรยตัว, กำแพงเมืองจีน เป็นฐานกิจกรรมปีนผา ซึ่งสามารถใช้เป็นฐานกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน และยังได้รับความรู้ในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในต่างแดนไปในตัว อีกทั้งภายในส่วนนี้ก็ยังมีที่พักไว้ให้บริการอีกด้วย
บรรยากาศภายในอาคาร “อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน”
ในส่วนที่สอง “อุทยานไม้ดอก เพ ลาเพลิน” เป็นที่ตั้งของโรงเรือน 7 หลัง ที่ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกนานาสายพันธุ์ให้ได้ชม และที่อุทยานไม้ดอกแห่งนี้ ยังถือว่าเป็นอุทยานไม้ดอกแห่งแรกในเขตพื้นที่ภาคอีสานใต้อีกด้วย
“เฟิร์นนานาพันธุ์” จัดแสดงที่อาคารไม้ดอกที่สอง
อาคารอุทยานไม้ดอกทั้ง 7 อาคารนั้น บรรยากาศพื้นที่ภายในแต่ละอาคารถูกออกแบบให้มีสไตล์ที่แตกต่างกันออกไปอีก โดยอาคารที่หนึ่งนั้น จัดแสดงไม้ดอกตามฤดู โดยจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนดอกไม้ในช่วงฤดูนั้นมาจัดแสดงให้ชม เช่น ช่วงฤดูหนาวจะเป็นดอกทิวลิป ช่วงฤดูฝนจะเป็นดอกกระเจียว เป็นต้น
“สับปะรดสี” จัดแสดงไว้อย่างสวยงาม
อาคารที่สอง เป็นการจัดแสดงเฟิร์นนานาสายพันธุ์ ซึ่งมีการจำลองบรรยากาศภายในให้เป็นป่าดึกดำบรรพ์ อาคารที่สาม เป็นการจัดแสดงพืชในตระกูลสับปะรดสี โดยมีการนำมาตกแต่งภายใต้แนวคิดสีสันธรรมชาติ ที่มีมุมถ่ายรูปที่สวยงามอยู่หลายมุมด้วยกัน อาคารที่สี่ จัดแสดงกล้วยไม้นานาพันธุ์ และอาคารที่ห้า จัดแสดงพืชเขตร้อน เช่น ตะบองเพชรชนิดต่างๆ ในบรรยากาศแบบทะเลทรายให้ได้ชม
มุมถ่ายรูปสวยๆ ที่ตกแต่งด้วย “สับปะรดสีสดใส”
อาคารที่หก จัดแสดงดอกหน้าวัวพันธุ์ต่างๆ พร้อมบรรยากาศวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบอีสาน และอาคารต้อนรับ ที่ได้จัดแสดงดอกไม้พร้อมนิทรรศการ “ด้วยรักและภักดี” อีกทั้งระหว่างทางเชื่อมของแต่ละอาคารนั้น ก็ยังมีการจัดแต่งสวนเเละมุมถ่ายรูปไว้อย่างสวยงามให้ได้ชมเเละเเวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
”ตะบองเพชร” และบรรยากาศทะเลทราย
สำหรับใครที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือชมความสวยงามของดอกไม้ และอยากมาท่องเที่ยวกันได้ทั้งครอบครัว ก็สามารถมาชมกันได้ที่ “เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท” และ “อุทยานไม้ดอก เพ ลาเพลิน” ที่จะทำให้การเที่ยวครั้งนี้เป็นการท่องเที่ยวแบบพักผ่อนหย่อนใจไปพร้อมกับการได้เรียนรู้ไปในตัว
“ดอกหน้าวัว” และบรรยากาศอีสาน
นิทรรศการ “ด้วยรักและภักดี” ที่อาคารต้อนรับ
**********************************************************************************************************************

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด โทร.0-8779-9493-6, 0-8779-8103-9 หรือทางเว็บไซต์ playlaploen.com

**********************************************************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น