xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขายยางได้เงินไม่พอซื้อปลาทูกิน ลูกชาวสวนครวญเพลงถึงนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ได้ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการขาดรายได้ เนื่องจากมาเกิดปัญหาขึ้นในช่วงฤดูฝนที่ชาวบ้านจะมีช่วงเวลาออกกรีดยางน้อยกว่าช่วงปกติอยู่แล้ว

ที่ จ.ยะลา นายสมนึก หนูทอง เกษตรกรชาวสวนยาง บ้านคลองทรายใน ต.ยุโป อ.เมืองยะลา กล่าวว่า ตอนนี้หากรัฐบาลช่วยพยุงราคายางให้ได้กิโลกรัมละ 70-80 บาท แล้วลดราคาน้ำมันให้ก็คงดี แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่อย่างนั้น ราคาน้ำมันลดลงก็ จริงอยู่ แต่ว่าราคายางพาราก็ลดต่ำลงด้วย

“ค่าครองชีพในแต่ละวันมันสูงมาก ราคาข้าวของในตลาดแพงขึ้น แม้แต่ซื้อปลาทูในตลาดราคากิโลกรัมละ 100 กว่าบาท แต่ราคายางพารา 1 กิโลกรัมก็ไม่สามารถซื้อปลาได้”

นายสุดิง แบเหาะฮิเล ชาวบ้านพื้นที่เดียวกันบอกว่า ทุกวันนี้ให้เงินลูกไปโรงเรียนในเมืองวันละ 120 บาท ข้าวแกงก็จานละ 35-40 บาท เมื่อก่อนช่วงที่ราคายางยังไม่ลดลงขนาดนี้ ก็พอที่จะอยู่ได้

แต่ขณะนี้เดือดร้อนจริงๆ รถก็ต้องผ่อน รถคันนี้ก็ซื้อในช่วงรถยนต์คันแรกของรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ขณะนี้ก็ขาดผ่อน 2 เดือนแล้ว ก็ต้องทยอยไปผ่อนเพียง 1 เดือน แล้วก็ถูกบริษัทคิดดอกเบี้ยเพิ่ม คิดค่าติดตามเพิ่มมากกว่าดอกเบี้ยเสียอีก

“ก็อยากให้รัฐบาลช่วยในเรื่องนี้ด้วย เพราะบริษัทเอาเปรียบมาก จ่ายช้าก็ปรับทันที อยากให้ช่วยดูแลในเรื่องนี้ด้วย” นายสุดิงระบุ

ส่วนในจังหวัดปัตตานีลูกจ้างทำสวนยางหลายพื้นที่ได้เริ่มอพยพออกไปหาอาชีพอื่นๆ ทดแทน เช่น ไปขายแรงงานตามโรงงานต่างๆ เพื่อรับค่าแรงรายเดือนทำให้เจ้าของสวนยางพารานับร้อยรายประสบปัญหาขาดคนงานทำสวนยาง

นางยีมีละ หะยีดอเลาะ เจ้าของสวนยางพาราใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า ราคายางตกต่ำทำให้คนในพื้นที่จำนวนมากกำลังตกงาน ขาดรายได้ และยังทำให้เกิดมีโจรชุกชุมมากขึ้นด้วย

ส่วนที่ จ.กระบี่ นายวินัย กองข้าวเรียบ ชาวสวนยาง ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ กล่าวว่า ชีวิตความอยู่ลำบากมากขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทั้งค่าเล่าเรียนบุตร ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และรวมถึงค่าผ่อนรถ เงินทองที่เก็บออมไว้เริ่มร่อยหรอ

และบางครั้งต้องหันไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว เพราะไม่มีรายได้อื่น นอกจากรายได้จากการกรีดยางเท่านั้นที่เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้ หากว่าราคายางไม่ดีขึ้นชีวิตความเป็นอยู่ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก

ชาวสวนยางหลายรายสะท้อนว่าหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีอำนาจ และจนกระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้เริ่มมีความหวังว่า รัฐบาลจะช่วยแก้ไขปัญหาราคายางที่ตกต่ำมานานให้สำเร็จ

แต่หลังจากที่รอมานานหลายเดือนราคายางก็ยังคงตกต่ำ และไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น กลับยิ่งมีแนวโน้มว่าจะยิ่งทรุดลงไปอีก ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้เริ่มหมดศรัทธากับ คสช.และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนี้

นายพงษ์เพชร โทวิรัตน์ แกนนำกลุ่มลูกขวานลอยลม ลูกหลานชาวสวนยางภาคใต้ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในสมรภูมิควนหนองหงส์ จ.นครศรีธรรมราช ถึงขนาดอัดคลิปบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รีบแก้ไขปัญหาประเทศชาติ ไม่ใช่เอาแต่ออกทีวีทุกวันแต่หลายๆ ปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไข และยังได้แต่งเพลงให้นายกฯ เนื้อหาระบุว่า…

“ยางสามโลร้อย นั่งตาละห้อย เหงื่อย้อยง่ามวาน

ถ้ามีเบอร์จะโทรไปถาม ว่านายกฯ ท่านแก่ทำไอไหร้

จะกินเกลือกินดิน ชีวิตหมดสิ้นไม่มีความหมาย

ยางพารามันถูกเกินไป ถ้ากูเป็นควายคงกินหญ้าไปแล้ว

เจ็ดเดือนผ่านไป มัวทำไหรอยู่

หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ ใช่เรื่องไหรกู มึงเลยไม่สนใจ

ถ้าเป็นผู้นำ ถ้าเป็นนายกฯ แล้วทำตัวไม่สาไหร

ควายบ้านกูก็ไปเป็นได้ ไม่ต้องใช้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ปัจจุบันนี้ชาวสวนยางรายย่อยในภาคใต้แต่ละวันจะมีรายได้จากการกรีดยางประมาณ 400-500 บาท จากเดิมที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท แต่ที่สำคัญบางเดือนกรีดยางได้เพียง 5-10 วันเท่านั้น เนื่องจากมีฝนตกชุก ซึ่งเฉลี่ยแล้วทั้งเดือนมีรายได้ไม่ถึง 5,000 บาท

เมื่อบวกกับราคาที่ตกต่ำยิ่งส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องหันไปทำอาชีพอื่นเสริม เช่น ทำงานก่อสร้าง ขายแรงงาน และรับซื้อของเก่า ขณะเดียวกันพบว่ามีเกษตรกรชาวสวนยางหลายรายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมได้เนื่องจากไม่มีเงินทุน

ความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำของเกษตรกรชาวสวนยางในขณะนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตจาก นายถาวร วรรณกูล กรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชส.ยท.) ว่า นโยบายการพัฒนาเรื่องยางพาราของรัฐบาลในเวลานี้ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นผู้ผลิตอยู่ไม่ได้ และยังรวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับสวนยางพาราอีกจำนวนมากด้วย

แต่ในส่วนของพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับยางพารา รวมถึงในหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้กลับอยู่ได้ โดยอาศัยเงินภาษีที่หักจากการขายยางพาราของเกษตรกรคือ เงินเซส เช่น องค์การสวนยาง และองค์การสงเคราะห์การทำสวนยาง มีหน้าที่จะต้องวางรากฐานของยางพาราให้มีความมั่นคง เพื่อเกษตรกรอยู่ได้องค์กรเหล่านี้ก็จะอยู่ได้

“แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเมื่อราคายางพาราตกต่ำ คนที่เดือดร้อนก็คือ เกษตรกรผู้ปลูกยาง และลูกจ้างกรีดยางพารา แต่ข้าราชการหรือพนักงานองค์กรรัฐวิสาหกิจเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ แต่กลับกำลังสุขสบาย เพราะรัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ แบบนี้ไม่ใช่การคืนความสุขให้ประชาชน”

ไม่เฉพาะ คสช.เท่านั้นที่เสื่อมลงในสายตาของเกษตรกรชาวสวนยาง แต่พบว่าพรรคการเมืองยอดนิยมของภาคใต้ก็กำลังประสบปัญหาความเสื่อมศรัทธาจากเกษตรกรชาวสวนยางลงอย่างมาก ขนาดที่ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกชาวสวนยางพารากลุ่ม “ริบบิ้นขาว” ใน จ.ตรัง นำรถติดเครื่องขยายเสียงไปต่อว่าถึงหน้าบ้าน

ความเดือดร้อนของชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ แม้ภาครัฐได้เข้ามาเจรจาโดยที่แกนนำชาวสวนยางพาราส่วนหนึ่งยอมรับมติที่ภาครัฐจะช่วยให้มีการซื้อขายยางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท รัฐจะเป็นผู้ชดเชยเงินส่วนต่าง แต่พบว่าข้อตกลงนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรส่วนใหญ่

ทั้งนี้เพราะต่างรู้ดีว่า ขณะนี้ยางแผ่นจำนวนมากได้ตกอยู่ในมือของกลุ่มองค์กรสหกรณ์และนายทุนจำนวนมากแล้ว การช่วยเหลือสุดท้ายก็จะไม่ถึงมือของเกษตรกรโดยตรง และหากรัฐยังดึงดันแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ หลายคนเป็นห่วงว่าการชุมนุมประท้วงแบบควนหนองหงส์อาจจะกลับมาแม้ว่าจะอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น