คำว่า “จิตเดิมแท้” ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ต่างเปรียบเทียบไปต่างๆ นานา เช่น ดั่งตะวัน ดั่งท้องฟ้า ดั่งกระจก ดั่งอากาศ ดั่งดินน้ำมัน เป็นอาทิ เมื่อพิจารณาดูก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา เป็นภูมิปัญญาของแต่ละปัจเจกชน
ดั่งดินน้ำมัน
ท่านพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ พระรุ่นใหม่หัวใจเดิมแท้ จากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ท่านมีประโยคสะกิดใจ ผู้ใฝ่ธรรมเสมอ...
จริงๆ แล้วจิตเดิมแท้ของเราผ่องใสประภัสสร แต่ขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา จรมาชั่วคราว แล้วมันก็จรจากไป แต่กิเลสมันมีมากมาย เดี๋ยวฝ่ายบวก เดี๋ยวฝ่ายลบ ไม่จบไม่สิ้น จิตสูญเสียความผ่องใสเดิมแท้ไป จิตก็เลยไหลเข้าสู่ธาตุเดิมแท้ซึ่งเป็นนิพพานธาตุไม่ได้ แต่ถ้าเราเจริญสติ เพิ่มรอบให้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีกิเลสทะลุทะลวงเข้ามาได้ โดยธรรมชาติแล้วทุกอย่างจะไหลเข้าสู่ต้นตอเดิมของมัน
สมมติว่า มีดินน้ำมันก้อนใหญ่ ใหญ่เป็นจักรวาลเลย แล้วก็มีก้อนเล็กๆ แตกออกมา แล้วมีคนเอาดินน้ำมันนั้นมาปั้นเป็นควาย ปั้นเสร็จขยำๆ ปั้นใหม่เป็นโดราเอมอน ปั้นเสร็จขยำๆ ปั้นใหม่เป็นพระพุทธรูป ปั้นเสร็จขยำๆ แล้วปั้นต่อไป ขยำต่อไปเรื่อยๆ
ถามว่า...แล้วตกลงดินน้ำมันเป็นควาย เป็นโดราเอมอน หรือเป็นพระพุทธรูป
สรุป...คือดินน้ำมัน ไม่ได้เป็นอะไรเลย ดินน้ำมันก็เป็นดินน้ำมันอยู่นั่นแหละ นี่คือตัวอย่างที่อธิบายว่า ธรรมชาติเดิมแท้ของนิพพานนั้นมีอยู่แล้ว นิพพานธาตุมีอยู่แล้ว ไม่มีใครไปสร้างขึ้นมาใหม่หรอกนะ จิตทุกดวงจะเดินทางกลับบ้านเก่า กลับบ้านที่แท้จริง แต่เมื่อมีกิเลสประกอบเป็นแรงถ่วง จิตมันก็กลับสู่ธรรมชาติอันผ่องใสประภัสสรไม่ได้
ฉะนั้น หน้าที่ของทุกคน คือหมั่นเจริญสติให้รอบจัดเข้าไว้ แล้วจิตก็จะไหลเข้าสู่ต้นตอเดิมของเขาเอง
... (ที่มา : ไม่ต้องรอชาติหน้าก็นิพพานได้ นิพพาน...ที่นี่...เดี๋ยวนี้ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ)
ชีวิตคือการเดินทาง ออกจากบ้านแล้วกลับบ้าน ขณะเดินทางก็ปั้นรูปต่างๆ ตามความนึกคิด ปั้นเสร็จ-พอใจ-ไม่พอใจ-ทำลาย-ปั้นใหม่ ซึ่งเป็นเพียงบริบทหรืออยู่ในกรอบของ “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” เช่นนั้นเอง
ขบขันชีวิต
การขบขันหรือการหัวเราะเนี่ย เป็นยาบำรุงร่างกายอย่างดีชนิดหนึ่ง (หนึ่งในเก้า อ.) โดยเฉพาะชีวิตของเรา และชีวิตของคนอื่น มันน่าหัวเราะจริงๆ เพราะมีเรื่องขบขันให้พบเห็นอยู่เรื่อยๆ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผู้ปกครองบ้านเมืองระดับทรราช กำลังบรรยายในหอประชุมมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ให้อาจารย์และนักศึกษาฟัง ท่ามกลางความเงียบสงบ ก็มีเสียงหัวเราะของนักศึกษาคนหนึ่งจากด้านหลัง หัวเราะก๊ากใหญ่จนตกเก้าอี้เลย จากนั้นก็ไม่มีอะไร เข้าสู่บรรยากาศวังเวงเหมือนเดิม
ถามว่า...เนื่องใดนักศึกษาคนนั้น จึงหัวเราะขนาดนั้น
ตอบว่า...นักศึกษาคนนั้นรู้ทันจนกลั้นไม่อยู่ ก็เลยปล่อยก๊ากออกมา มิเช่นนั้นมันจะเหมือนน้ำเดือดในกาที่ไม่มีช่องระบายไอน้ำ
ไม่ว่าคุณจะเลวสุดๆ หรือดีเลิศประเสริฐศรีปานใด มันก็แค่การเล่นชนิดหนึ่ง หรือการปั้นดินน้ำมันเป็นรูปต่างๆ เท่านั้นเอง ทำไมต้องเครียด ทั้งๆ ที่มันน่าหัวเราะจะตายไป
คนทำผิดก็ลงโทษไปซี คนทำดีก็ส่งเสริมไปซี มิใช่ไปห้ามคนดีไม่ให้ทำดี จงอยู่เฉยๆ นะ แต่ไม่กล้าห้ามคนชั่ว หรือลงโทษคนชั่ว เพราะกลัวจะเสียบรรยากาศการปรองดอง
อะไรกันเนี่ย ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปอย่างนี้มีด้วยหรือ คงเป็นแห่งแรกแห่งเดียวในโลกในจักรวาลกระมัง? อิ อิ
● เล่นถูกเล่นผิด
เรื่องถูกเรื่องผิดเป็นกฎเกณฑ์หรือกติกาของสังคมและของโลก ที่ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด มิเช่นนั้นสังคมและโลกจะเกิดความวุ่นวายสับสน หาความสงบสุขไม่ได้
ผู้มีอำนาจขั้นทรราช มักจะหลงผิดว่า...ความผิดไม่ใช่ข้า ข้าคือผู้รู้ผู้ถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว ข้าอยากให้ใครเป็นอะไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น จากจุดเล็กๆ นี้ ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ และสงครามโลกในที่สุด ความยับย่อยและย่อยยับของมนุษยชาติด้วยน้ำมือของทรราชจะขนาดไหน ประวัติศาสตร์ก็ตอกย้ำ หรือเป็นกระจกให้ส่องมาทุกยุคทุกสมัย ในบรรดาผู้หลงในอำนาจนั้น ไม่สนใจที่จะส่องกระจกหรอก มีแต่จะทุบมันทิ้งเท่านั้นแล (รำคาญว๊ะ)
เรื่องถูกเรื่องผิด มองในอีกมิติที่มันอยู่ลึกๆ มันก็เป็นการเล่นชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ผู้มีปัญญาชอบเล่นเรื่องถูกในที่แจ้ง ส่วนผู้ด้อยปัญญาชอบเล่นเรื่องผิดในที่มืด เห็นตัวเองในบางครั้ง และเห็นผองเพื่อนในบางคราว ใครจะอดก๊ากได้ (โว้ย)
● เบื่อคิดหยุดเอง
ขณะที่ไปผ่อนคลาย (ปฏิบัติธรรม) ที่วัดเป็นอาทิตย์บ้าง เป็นเดือนบ้าง ผมชอบสังเกตญาติโยมที่มาหาหลวงปู่ ส่วนมากจะมาเคสเดียวกัน ขอร้องให้หลวงปู่อบรมสั่งสอนคุณสามีให้เลิกเหล้าเมายาทีเถอะ ยิ่งบ้านเมืองสมัยนี้ ข้าวยากหมากแพง เงินหายาก และค่าของเงินก็ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ของแพงขึ้นเรื่อยๆ การเป็นอยู่เลยเจอแต่ความทุกข์ ความสุขไม่รู้เป็นอย่างไร สะกดไม่ถูกแล้ว
หลวงปู่ พูดว่า...ใจเย็นๆ โยม บางคนได้บอกได้สอนไปแล้ว เพียงครั้งเดียวก็เลิกได้ บางคนบอกสอนหลายครั้งก็ยังเลิกไม่ได้ มันคงเพลิดเพลินสนุกสนานอยู่กับกองไฟกระมัง โยมใจเย็นๆ นะ พอถึงจุดมันเบื่อ มันก็เลิกเองนั่นแหละ...
ถ้ามันไม่ถึงจุดเบื่อสักทีล่ะ จะทำอย่างไร ผมคิดในใจมันเป็นโจทย์ที่ผมจะต้องหาคำตอบให้ได้ ในที่สุดผมก็พบมัน...
อนฺปฺพพิกถา 5 คือ เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ หรือธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ ได้แก่...
1. ทานกถา (เรื่องทาน) กล่าวถึงการให้ การเสียสละ เผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน
2. สีลกถา (เรื่องศีล) กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม
3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์) กล่าวถึงความสุข ความเจริญ และผลที่น่าปรารถนา อันเป็นส่วนดีของกามที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น
4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม) กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้
5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม) กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น
ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ ทรงแสดงอนฺปฺพพิกถานี้ก่อน แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจจ์ 4 เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับ ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้วควรรับน้ำย้อมต่างๆ ได้ด้วยดี
(ที่มา : พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)
อืม...อนฺปฺพพิกถา 5 เนี่ย มองได้หลายอย่างเหมือนบันได 5 ขั้น ก่อนที่จะขึ้นถึงบ้าน บางคนก็ไปไม่ถึงไหน หลับอยู่ เมาอยู่ ที่ถนน ที่นอกบ้าน ที่ในบริเวณบ้าน ดีหน่อยก็บันไดขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 นั่นแหละ บางคนแป๊บเดียวถึงตัวบ้านเลย ได้พักผ่อนนอนสบาย มองดูข้างล่าง ตามถนนหนทาง นอกบ้าน บริเวณบ้าน ตามบันไดขั้นต่างๆ ก็ได้แต่ขบขัน สงสาร และปลง
โอ...มนุษย์เรามีจิตเหมือนกัน แต่จิตมีหยาบ-ประณีตต่างกัน จึงทำ จึงปั้น จึงเล่น ไม่เหมือนกัน
เราก็แค่ต้นไม้ต้นหนึ่งในป่าใหญ่ ถึงเราจะใหญ่แค่ไหน ชี้ต้นตาย-ชี้ปลายเป็นอย่างไร เราก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของป่า จะมองเฉพาะเราและบริวาร หรือองครักษ์พิทักษ์เราไม่ได้ ที่ถูกต้อง-ชอบธรรม จะต้องมองต้นไม้ทั้งป่า จึงจะเห็นความจริงแท้แห่งเรา
สื่อมวลชนเป็นตัวแทนของประชาชน นายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนของรัฐบาล สื่อกับนายกฯ ต้องเจอกันบ่อยๆ ถามและตอบกันบ่อยๆ ถามคือหน้าที่ของสื่อ ตอบคือหน้าที่ของนายกฯ
การทำหน้าที่คือการประพฤติธรรม-การประพฤติธรรมคือการทำหน้าที่
การที่จะทำให้ประชาชนมีความสุขได้ ผู้ปกครองจะต้องทำหน้าที่ด้วยธรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทำหน้าที่ด้วยธรรม เป็นตัวอย่างมาแล้ว ดังพระปฐมบรมราชโองการ พ.ศ. 2489 ที่ว่า... “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
การทำหน้าที่ด้วยธรรม สั้นๆ ง่ายๆ ใครๆ ก็เข้าใจได้ นั่นคือ... “ไม่โกง ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน” เนื่องเพราะ...คนขี้โกงมันคือเหตุใหญ่แห่งความฉิบหายของประเทศชาติและประชาชน
ถ้าไม่สนใจและขจัดคนโกง มันก็ขายชาติได้แทบทุกรูปแบบนั่นแหละ เช่น แผ่นดิน (เท่าแมวดิ้นตาย หากเขมรอยากได้ก็ให้เขาไป เพื่อความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน) พลังงาน (ซึ่งเป็นทรัพยากรของเราทุกคน คิดจะทำอะไรกับสมบัติของชาติ ก็ถามเจ้าของหน่อยซิ) สัญญาเสียเปรียบกับต่างชาติ (เป็นคนไทยหรือเปล่า หรือกายเป็นไทย แต่ใจเป็นทาส) โครงการล้านล้าน (ยิ่งใช้งบมาก ยิ่งโกงได้มากเช่นนั้นหรือ)
ฉันไม่โกง ฉันซื่อสัตย์ ฉันรักชาติ ฉันเป็นคนดี ไม่ใช่จบเพียงคำพูด เพียงอีเวนท์ เพียงป้ายโฆษณา แต่มันจบจริงด้วยการกระทำเท่านั้น
ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างสิ ถ้าทำไม่เป็น ก็เบิ่งตาดูต้นไม้ทั้งป่า แล้วคุณก็จะถึงบางอ้อ ว่าคุณกำลังทำอะไร กำลังเล่นอะไร น่าปรบมือ หรือน่าขบขัน?
ที่กล่าวมา เป็นการซักฟอกผ้าให้สะอาด ก่อนที่จะย้อมด้วยสีต่างๆ ให้สวยงาม พอที่จะอวดโชว์ในตลาดโลกได้
คำว่า “เบื่อคิดหยุดเอง” ไม่ได้หมายความว่า จะไม่คิดอะไรอีกต่อไป ตราบใดที่มีจิต ก็ต้องนึกต้องคิดอยู่วันยังค่ำ เพียงแต่คิดอย่างไร อะไรควรลดควรละ คิดอย่างไร อะไรควรเพิ่มควรเจริญ
คิดเป็นต้นเหตุของการกระทำ คิดถูกก็ทำถูก คิดผิดก็ทำผิด คนเรามีความทุกข์เพราะคิดผิด และพ้นทุกข์เพราะคิดถูก
ดั่งดินน้ำมัน
ขบขันชีวิต
เล่นถูกเล่นผิด
เบื่อคิดหยุดเอง
จะหยุดอะไร จะเดินหน้าอะไร ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ รู้จักมองโลก มองเรา มองเขา มองตน
การกระทำของคนมี 2 แบบคือ ทำในที่แจ้ง กับทำในที่มืด
ทำในที่แจ้ง ไม่กลัวการตรวจสอบ มาเลยสื่อต่างๆ ทำในที่มืด กับการตรวจสอบ สื่อหนีไปไกลๆ ไม่อยากพบอยากเห็น เพราะอะไรก็รู้ๆ กันอยู่ จะมองสื่ออย่างไรก็มองไป
สื่อคืออิสรภาพ ที่รู้เห็นเป็นไปอย่างไร้พรมแดน สื่อที่ดีมีอุดมการณ์ ต้องอยู่ให้เห็น ต้องเป็นให้ดู ต้องตื่นรู้อยู่เสมอ
ในอดีตสื่ออาจควบคุมได้ด้วยอำนาจเผด็จการทรราช แต่ปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลมีเดีย สื่อไม่อาจควบคุมได้ด้วยอำนาจใดๆ ทว่าอาจเป็นกัลยาณมิตรกันได้ ด้วยความถูกต้องชอบธรรม
ชีวิตจึงมีสีสัน มีความขบขันเป็นอาภรณ์