อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมไปลงพื้นที่หมู่บ้านเสื้อแดงที่จังหวัดอุดรธานีมา แล้วผมเข้าใจเลยว่าทำไมพี่น้องชาวอีสานจึงเลือกพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด พื้นที่ที่ผมไปลงพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ชาวบ้านบอกว่าเคยชอบพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด แต่ไม่เคยได้อะไรกลับคืนมา ในขณะที่ ส.ส. และหัวคะแนนของพรรคเพื่อไทยนั้นดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างดีที่สุด และไม่ได้ทำเช่นนั้นเพียงช่วงใกล้เลือกตั้งแต่ทำมาโดยตลอดสม่ำเสมอแม้จนกระทั่งในขณะนี้ ผมถามชาวบ้านว่าอยากได้ ส.ส. แบบไหนผมขอยกคำพูดชาวบ้านในพื้นที่มาให้ฟังโดยไม่ตัดทอนดังนี้
“กะอยากได้ ส.ส.แบบ ที่เฮาเอิ่นมาใช้งานได้ง่ายๆ มีปัญหาอีหยังกะขอมาซ่อยได้ อยากได้อิหยังกะบอกได้ คั่นเอิ้นแล้วบ่มากะบ่มัก ต้องการคนที่เอิ้นมาใซ้งานง่ายๆ ใจถึงให้เฮาหลายๆ จั่งซี่ละที่อยากได้ มีงานบุญขอพัดลมกะได้ ขอเหล้าเป็นลังกะได้ ลูกบ่ซำบายกะไปฝากมดฝากหมอให้ได้ ไฟฟ้าบ่เข้าบ้าน เพิ่นกะไปขอมาให้ ถนนบ่ดี บอกเพิ่น เพิ่นกะส่งคนมาเฮ็ดให้ ต้องการคนแบบนี้ ไปติดต่อราชการนี้ เฮามันชาวบ้านไปเฮ็ดเองเขากะบ่สนใจ บ่มาซ่อยเฮา อย่างขอไฟขอถนนนี่เด้อ คั่นบ่ได้เพิ่นมาซ่อย ชาติหนึ่งเฮากะบ่ได้ เพิ่นออกแฮงซ่อย บ้านเมืองเฮาบ่มีเส้นมีสายมันบ่ได้ นี่เพิ่นมาเป็นเส้นเป็นสายให้เฮา ซ่อยเฮา เฮาจั้งได้มา”
การที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหรือสองปีหน้าอย่างท่วมท้นจึงเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นอย่างอื่น เพราะฐานเสียงในพื้นที่ยังแน่นหนามากโดยเฉพาะในภาคอีสาน
ผมมาลองคิดดูว่า ตกลง ส.ส. มีหน้าที่อะไรกันแน่ มีหน้าที่ในการดูแลชาวบ้าน ฝากลูกฝากหลานเข้าโรงเรียน ติดต่อราชการวิ่งเต้นเส้นสายให้ประชาชนในพื้นที่ ใจถึงพึ่งได้สำหรับชาวบ้านเวลาเดือดร้อน งานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. จริงหรือ ตกลง ส.ส. ทำหน้าที่คนรับใช้ประชาชนในพื้นที่หรือทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนในพื้นที่มาทำหน้าที่นิติบัญญัติกันแน่ แล้วที่แย่งกันเป็น ส.ส. นี่เพื่อจะได้เป็นรัฐมนตรีเพื่อที่จะถอนทุนคืนหรือไม่ ตกลง ส.ส. ทำหน้าที่อะไรกันแน่
ผมคิดว่าหน้าที่หลักของ ส.ส. คือการทำหน้าที่นิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร ร่าง ตรวจสอบ ดูแลแก้ไขกฎหมายเป็นหลัก หน้าที่ดูแลพื้นที่และดูแลประชาชนในพื้นที่นั้น มันเป็นหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (ซึ่งกลายมาเป็นหัวคะแนนให้ส.ส. กันหมด) เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกเทศมนตรีมิใช่หรือ แล้ว ส.ส. ไปทำหน้าที่เหล่านั้นแทนคนที่มีหน้าที่ทำไมเล่า (คำตอบคือเพื่อคะแนนเสียง) แล้วเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายเพื่อการดังกล่าว (ซึ่งต้องใช้เงินและคนมากเหลือเกิน โดยเฉพาะระบบหัวคะแนนที่ต้องมีการจัดตั้งอย่างแน่นหนา)
ผมลองพิจารณาแล้วมีข้อเสนอที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิรูปประเทศ จึงขอแสดงทัศนะและพร้อมรับฟังข้อโต้แย้งจากทุกคนในเรื่องหน้าที่และที่มาของ ส.ส. ดังนี้
ข้อแรก ห้ามส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ให้เราแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากบริหารอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการฮั้ว การเกี้ยเซียะ การแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติออกขาดจากอำนาจบริหารจะช่วยให้การตรวจสอบและการถ่วงดุลทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้การห้าม ส.ส. เป็นฝ่ายบริหารใดๆ ทั้งสิ้นจะเป็นการตัดหนทาง ส.ส. ทำมาหากิน ถอนทุนคืน (จากการทำหน้าที่โดยมิชอบในระหว่างดำรงตำแหน่งบริหาร) การทำเช่นนี้จะทำให้คนชั่วๆ ที่คิดมาถอนทุนคืนไม่อยากมาเป็น ส.ส. เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่มีโอกาสได้ถอนทุนคืน
ข้อสอง แบ่งเขตเลือกตั้งให้ใหญ่ที่สุดเพื่อให้ได้ ส.ส. ที่เป็นที่ยอมรับระดับกว้างขวาง ป้องกันการซื้อเสียง หรือการหาคะแนนเสียงด้วยการดูแลพื้นที่อย่างที่เรียกว่าใจถึงพึ่งได้ ถ้าเขตเลือกตั้งเล็กๆ แค่อำเภอสองอำเภอการดูแลพื้นที่เพื่อหาเสียงนั้นทำได้ง่ายเหลือเกิน เมื่อพื้นที่เล็กมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์และระบบธนอุปถัมภ์ได้ง่ายมาก การแบ่งเขตใหญ่ๆ ทำให้ได้ ส.ส. ที่เป็นคนที่ต้องมีต้นทุนทางสังคมมาสูงพอสมควร นอกจากนี้ยังเป็นการบังคับกลายๆ ให้ ส.ส. มาโฟกัสงานที่หน้าที่นิดิบัญญัติ ไม่ใช่การดูแลพื้นที่ การลงพื้นที่ อย่างที่เคยเป็นมา วิธีการเลือกตั้งแบบนี้จะบรรเทาปัญหาไปได้มาก ส่วนตัวผมคิดว่าเขตเลือกตั้งระบบภาคเลยยิ่งดี ประเทศไทยเลือก ส.ส. กันเพียงสี่ห้าเขตก็พอ
ข้อสาม ลดจำนวน ส.ส. ลง ประเทศมหาอำนาจที่เขาใหญ่โตทั้งในแง่ประชากรและพื้นที่ เขาก็ไม่ได้มี ส.ส. มากเท่าประเทศไทย การมี ส.ส. จำนวนมากทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะกลายเป็นการซอยเขตเลือกตั้งให้เล็กลงและมุ่งไปที่การหาเสืยงเลือกตั้งโดยการดูแลประชาชนในพื้นที่ (ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.) ผมคิดว่า จำนวน ส.ส. ทั้งประเทศไทยรวมกันไม่ควรเกิน 250 คนเท่านั้น
ข้อสี่ ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง สามารถเปลี่ยนพรรคการเมืองได้ ข้อนี้ ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ได้แสดงความเห็นและเหตุผลที่ชัดเจนมาตลอด ในรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค เมื่อพรรคขับออกไปก็จะพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเสรีภาพในการลงมติเลย และต้องเป็นขี้ข้าของนายทุนพรรค ไม่สามารถใช้สติปัญญาใดๆ ได้นอกจากยกมือให้ตามที่นายทุนพรรคจะสั่ง อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าหากไม่มีสังกัดพรรคอาจจะมีส.ส. บางคนทำหน้าที่เป็นส.ส. กะหรี่ เร่ขายตัวทุกครั้งที่จะมีการลงมติ ข้อนี้เชื่อว่าเป็นจริง เคยเป็นมาแล้ว และน่าจะเป็นอยู่ แต่เมื่อตรองและเปรียบเทียบแล้วภัยของการผูกขาดของนายทุนพรรคที่เป็นทุนนิยมสามานย์ทางการเมืองมีมากกว่า จึงอาจจะต้องยอมรับข้อเสียในเรื่องนี้
ข้อห้า การสรรหาผู้สมัครส.ส. ในแต่ละพื้นที่ในแต่ละพรรคให้สมาชิกพรรคในพื้นที่นั้นๆ เป็นคนโหวตว่าจะเลือกใครลง สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยในพื้นที่มีคนอยากสมัครเป็นส.ส. สามคน และส่งคนลงได้คนเดียว การตัดสินควรมาจากสมาชิกพรรคในพื้นที่นั้นๆ ช่วยกันโหวต ไม่ใช่มาจากมติของกรรมการบริหารพรรคเพียงไม่กี่คน ต้องให้เป็นการแข่งขันกันเองก่อนภายในพรรค ซึ่งลักษณะดังกล่าวแม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ทำ และแม้ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็ใช้เรียกว่าระบบประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ ซึ่งทำให้คนที่จะขึ้นมาเป็นผู้สมัครของพรรคต้องถูกกลั่นกรองต่อสู้มาอย่างโชกโชน มีระบบการคัดเลือกคนที่จะมาเป็นส.ส. ก่อนอย่างเข้มข้น ผิดกับประเทศไทยที่พี่ชายบอกว่าให้น้องสาวสืบทอดอำนาจก็สามารถสมัคร ส.ส. ได้ทันที เพียง 47 วันก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่คุณภาพต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ข้อหก เนื่องจากงานในหน้าที่นิติบัญญัติมีความสำคัญยิ่งต่อประเทศ ควรส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของส.ส. (accountability) โดยเน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ ดังนั้นผมคิดว่าควรมีการเปิดเผยรายชื่อส.ส.ผู้เข้าร่วมประชุมทุกนัดเป็นรายบุคคล และการลงมติใดๆ ควรเป็นมติเปิดเผย การลงมติลับนั้นไม่ควรทำเลยเพราะทำให้จับมือใครดมไม่ได้ ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น (ยกเว้นที่มีความจำเป็นยิ่งยวด ซึ่งรัฐธรรมนูญควรระบุให้ชัดเจน อย่าให้เป็นดุลพินิจ อันจะนำไปสู่การเลี่ยงบาลีได้) ผมคิดว่าการลงมติของ ส.ส. ควรทำเหมือนการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ไม่ใช่เพียงการยกมือแต่ให้เขียนคำวินิจฉัยในการลงมติและเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับทราบทุกครั้ง แสดงเหตุผลบวกกับสติปัญญาในการทำหน้าที่นิดิบัญญัติ ให้ประชาชนตรวจสอบได้
ทั้งหกข้อนี้ผมคิดว่าทำได้ และน่าจะทำให้ประเทศไทยและการเมืองไทยพัฒนามากขึ้น แต่เชื่อว่าจะเกิดแรงต่อต้านอย่างรุนแรงจากทั้งพรรคการเมืองและอดีตส.ส. ทั้งปวง ใครคิดเห็นอย่างไรก็ขอให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นได้โดยหลักวิชาการตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยและธรรมาธิปไตยครับผม ขอขอบพระคุณ