ริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย...สุนันท์ ศรีจันทรา
สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)แถลงถึงผลงานวิจัยหัวข้อ “การครอบงำสื่อสาธารณะ” โดยระบุว่า หน่วยงานรัฐใช้งบปีละกว่า 8,000 ล้านบาทซื้อโฆษณาผ่านสื่อ และนำไปสู่อุปสรรคการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น
เงินที่นำไปซื้อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ มีทั้งงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และเงินรายจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐแต่ละแห่ง
งบซื้อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยผู้ที่ตัดสินใจทุ่มงบซื้อโฆษณา จะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง ซึ่งได้รับผลประโยชน์สูงสุด
ทั้งการแสวงหาประโยชน์จากเงินงบประมาณซื้อโฆษณา และผลประโยชน์จากการสร้างภาพตัวเอง โดยที่หน่วยงานไม่ได้รับประโยชน์มากนัก หรืออาจไม่ได้รับอะไรเลย ขณะที่ “เจ้าทรัพย์” ต้องตาย ประชาชนผู้เสียภาษีกลายเป็นผู้แบกรับภาระจากการผลาญงบประมาณ
การผลาญงบหน่วยงานรัฐ ในรูปแบบการซื้อโฆษณาปะชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล จะแข่งกันกอบโกยผลประโยชน์ แข่งกันสร้างภาพ
แข่งกันใช้งบปิดปากสื่อ จนสื่อที่สังคมหลงเชื่อว่า มีอุดมการณ์มายาวนา นับสิบปี ต้องเสียผู้เสียคนในยามชรา เพราะสุดท้ายก็เป็นเพียงสื่อที่เห็นแก่ประโยชน์ ไม่ได้ดีกว่านักการเมืองเลวๆ
และการรับงบโฆษณาประชาสัมพันธ์จนพุงกาง ทำให้สื่อสูญเสียความเป็นกลาง ละเลยการตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง หรือถึงขั้นทำหน้าที่ปกป้องนักการเมืองที่ประเคนงบโฆษณาประชาสัมพันธ์มาให้ด้วยซ้ำ
เครือ “มติชน”ที่รับงบประชาสัมพันธ์โครงการของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนับร้อยล้านบาท ก็ถูกประทับตราบาปในวงการสื่อ จนไม่กล้าแก้ตัวใดๆ จนถึงวันนี้
การผลาญงบประมาณแผ่นดิน การนำเงินภาษีของประชาชนไปตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัว หรือนำไปใช้เป็นสินบนปิดปากสื่อทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งไร้สำนึกและขาดความยางอาย
รูปแบบที่เห็นกันทั่วไปคือ การขึ้นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ อวดอ้างสรรพคุณผลงานตัวเอง ทั้งที่ไม่ได้สร้างผลงานอะไรเลย
การจัดทำภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์นักการเมืองหรือหน่วยงานรัฐ ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดเลย
การดึงงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการจัดรายการกีฬา โดยนักการเมืองเป็นโต้โผใหญ่ นอกจากจะได้หน้าแล้ว ยังอาจได้เงินแบ่งปันในหมู่คนใกล้ชิดอีกด้วย
งบโฆษณาแต่ละรายการ ไม่ใช่เงินน้อยๆ ว่ากันตั้งแต่หลายสิบล้าน จนระดับหลายร้อยล้านบาท และเป็นช่องทางที่นักการเมืองหาเงินง่ายๆ จากสตางค์ทอนงบโฆษณาประชาสัมพันธ์
สื่อส่วนใหญ่ ถูกงบโฆษณาหน่วยงานรัฐฟาดหัว จนหันหลังจากกระบวนการตรวจสอบ และแกล้งโง่ในการไม่รู้ไม่เห็นพฤติกรรมความผิดของนักการเมือง ไม่เดือดเนื้อร้อนใจในการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
ภาพสะท้อนชัดที่สุดคือ งบโฆษณาของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึงถูกนำไปใช้ปู้ยี่ปู้ยำ ทั้งการสนับสนุนการจัดแข่งกีฬาที่นักการเมืองเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
นายสุวัจน์สร้างภาพตีกินการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬามาตลอด แต่ประชาชน ซึ่งถือเป็น “เจ้าทรัพย์”ต้องแบกรับภาระแทน
งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถูกใช้ประเคนให้สื่อพวกพ้อง สื่อที่เชลียร์รัฐบาลสุดๆ หรือสื่อซังกะบ๊วยใดๆ ก็ได้ๆ ยอดขายจิ๊บจ๊อย แต่ก็ได้รับงบโฆษณาให้ ขอเพียงอย่าด่าและช่วยเชียร์ปตท.เท่านั้นก็พอ
เพราะงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ประเคนให้ เพราะเงินที่ถูกจัดสรรฟาดหัวกันมา ทำให้สื่อแทบทั้งระบบหดหัว ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ตรวจสอบความโปร่งใสของปตท.เท่าใดนัก และบางโอกาส เมื่อถูกร้องขอ ยังช่วยกันปกป้อง ปกปิดความผิดพลาดอีกด้วย กรณีที่เห็นชัดคือ เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลทำลาย มลภาวะที่เกาะเสม็ด
การผลาญงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ กลายเป็นพฤติกรรมเสพติดไปแล้ว ใครขึ้นมาเป็นใหญ่ นักการเมืองคนใดเข้ามาคุมหน่วยงานใด ก็จ้องที่จะนำเงินหน่วยงานรัฐแห่งนั้นไปผลาญ และไม่มีใครไปขวาง เพาะแม้แต่นายกฯก็ยังเป็นตัวนำร่องของการใช้เงินอย่างล้างผลาญ
ทีดีอาร์ไอได้เสนอร่างกฎหมาย การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐผ่านสื่อต่างๆ เพื่อควบคุมการอนุมัติ การเบิกจ่าย และอาจดึงสำนักงานคณะกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดินเข้ามากำกับการใช้งบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามการป้องกันการผลาญงบที่ดี โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปหน่วยงานรัฐ
การผลาญงบโฆษณาหน่วยงานรัฐปีละกว่า8,000 ล้านบาท ไม่มีใครปริปากมานานแล้ว เพราะแต่ละส่วนอิ่มหมีพีมันกับเงินภาษีของประชาชน
นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ได้ทั้ง “เงิน” ได้ทั้ง “กล่อง” สื่อมวลชนก็พลอยได้รับอานิสงส์จากเศษเนื้อที่โยนมาให้ จนแกล้งโง่ ทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อการทุจริตที่มีความซับซ้อน เพราะตัวเองได้รับประโยชน์ด้วย
เงินภาษีของประชาชนถูกนำไปละเลง เพื่อสร้างภาพ เพื่อปิดปากสื่อ เพื่อทำลายระบบการตรวจสอบมานานแล้ว และไม่รู้ว่า ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ปฏิรูปงบโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยพิศวาสสื่ออยู่เหมือนกัน ถือโอกาสสังคายนางบโฆษณาหน่วยงานรัฐผ่านสื่อเสียเลยดีไหม ห้ามนำไปผลาญ ห้ามนำไปสนับสนุนสื่อ
ขอเพียงอย่างเดียว พล.อ.ประยุทธ์อย่าเลือกปฏิบัติเท่านั้น อย่าเลียนแบบนักการเมืองเลวๆ ประเคนงบให้ที่คอยประจบสอพลอก็พอแล้ว