xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างระบบการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

1. จัดระบบการเลือกตั้งใหม่โดยแบ่งเขตชัดเจนให้เป็น 5 เขตใหญ่ แต่ละเขตมีจำนวน ส.ส.มากน้อยต่างกันตามจำนวนประชากรในแต่ละเขต

● เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
● เขตภาคตะวันออก
● เขตภาคตะวันตก
● เขตอีสานตอนบน/ล่าง
● 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ในการเลือกตั้งไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ละพรรคการเมืองยังคงมีอยู่ ผลดีทำให้ ส.ส.มีจำนวนน้อยลง และมองปัญหารวมของภูมิภาคได้ เช่น ปัญหาชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ส่วนข้อเสียที่ว่าจะดูแลประชากรไม่ทั่วถึง ก็สามารถแก้ไขได้โดยให้มีการจัดตั้งสำนักงานของ ส.ส.เขตต่างๆ และ ส.ส.ยังคงมีคณะผู้ช่วยอยู่จำนวนถึง 5 คน อีกประการหนึ่งจะมีข้อเสนอจัดระบบงบประมาณใหม่ ให้มีงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด อีกทั้งยังให้การจัดงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงบประมาณฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะมีอำนาจดูแลข้อเสนอของงบประมาณจังหวัด และกลุ่มจังหวัดโดยตรงจากจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเหล่านั้น ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี จะมีการแยกพิจารณางบประมาณทั้งสองประเภทนี้ออกจากกัน ถึงแม้ว่าคณะกรรมการพิจารณางบประมาณจะยังคงเป็นคณะกรรมการวิสามัญโดยมีทั้งฝ่ายเทศบาลและฝ่าย ส.ส.

3. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยสมัครให้ประชาชนเลือกทั้งบัญชีรายชื่อ โดยให้มีบัญชีรายชื่อ 50 คน คือเป็นการสำรองหากมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องนำมาจากผู้ที่มาจากการได้รับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อเท่านั้น ผู้สมัครเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยให้ใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งในวันเดียวกับผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติยังคงให้มีระบบสองสภา โดยมีวุฒิสภาของเขตเลือกตั้ง 5 เขตตามจำนวนประชากร และให้มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาจากกลุ่มอิทธิพล, เอ็นจีโอ, ข้าราชการ รวมทั้งทหาร จำนวนหนึ่งในสี่ ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารมีการแยกอำนาจอย่างเด็ดขาดโดยอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี เพื่อให้มีความต่อเนื่องทางด้านนโยบายและการแก้ไขปัญหาของประชาชน

4. ให้มีคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินประกอบด้วยบุคคลผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและความสามารถ เคยเป็นข้าราชการระดับสูงมาก่อน หรือเป็นประชาชนโดยทั่วไปที่มีคุณความดีและเคยทำงานมีผลงานปรากฏแก่ประชาชน มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี และไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน มีจำนวน 15 คน คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีสำนักงานคอยช่วยเหลือในการทำรายงานตรวจสอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนผลการปฏิบัติงานและสามารถยับยั้งนโยบายของรัฐบาลที่เป็นประชานิยมสุดโต่งและนโยบายที่มีช่องว่างที่จะเกิดการคอร์รัปชันได้ คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี

5. ฝ่ายตุลาการศาลยังคงเหมือนเดิม

6. องค์กรอิสระอาจมีการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กน้อย เช่น ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยึดโยงกับการมีความชอบธรรมมากขึ้น โดยให้สภาฯ เป็นผู้เลือกในตุลาการรัฐธรรมนูญที่มาจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายศาลหรือฝ่ายนักวิชาการอื่นๆ แต่ไม่มีอำนาจในการยุบพรรคการเมืองหรือการตีความขัดกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ให้อำนาจในการตีความของการขัดกันระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองไปเป็นของคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

7. เนื่องจากในการปฏิรูปครั้งนี้มีผู้เสนอความเห็นมากว่าปัญหาของการเมืองไทย เป็นปัญหาด้านตัวบุคคลมากกว่าด้านระบบ การจะแก้ไขปัญหาด้านตัวบุคคลจึงมุ่งไปที่การทำให้เกิดหลักประกันว่ามีคนดีมีความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองด้วยการได้รับการเลือกตั้งและการคัดสรร จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีจะต้องมีการแจ้งประวัติการทำงาน ความสามารถ ผลงาน ตลอดจนปูมหลังด้านครอบครัว บิดามารดาและบุตร และให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและธุรกิจต่างๆ หากมีการเป็นกรรมการในบริษัทซึ่งจะต้องลาออกเพื่อให้ประชาชนสามารถรับทราบด้วย

ทั้งนี้ พรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลนั้น อาจพิมพ์เอกสารแจกจ่ายให้ประชาชนได้รับทราบหรือใช้สื่อต่างๆ เช่น ยูทูป, เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก ข้อมูลที่สาธารณชนได้ทราบอย่างเปิดเผยนี้จะได้รับการตรวจสอบจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดการป้องกันคนไม่ดีเข้ามาในระบบการเมือง นอกจากนี้ผู้เสนอตัวเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรียังจะต้องบอกนโยบายล่วงหน้าด้วยว่าต้องการจะมาทำอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น