xs
xsm
sm
md
lg

นิยาย "รัฐธรรมนูญ" จะเขียนให้คนรักกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**งานประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าครั้ง16 ที่จัดไปเมื่อสัปดาห์ก่อน บรรยากาศงานปีนี้ต่างจากการจัด15ครั้งที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะในรอบนี้เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งก็คือ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”ปีนี้สวมหมวกหลายใบ ทั้งประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)งานวันนั้นทำให้เวทีพระปกเกล้าโดดเด่นและถูกจับตามากเป็นพิเศษ
ทั้งยังเป็นเวทีให้ “บวรศักดิ์”แสดงวิสัยทัศน์วางกรอบคร่าวๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2558 ที่จะมีการยกร่างในเร็วๆนี้ สิ่งสำคัญที่ “บวรศักดิ์”ขายฝัน นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับที่จะอุบัติใหม่ขึ้นมานี้ จะแตกต่างจาก 19 ฉบับที่ผ่านมา
เป็นไปได้จริงหรือ? โดย“บวรศักดิ์” ใช้คำพูดว่า “เลิกปรามาสว่าจะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ หรือมีพิมพ์เขียวไว้แล้ว” สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับที่เขากุมบังเหียนในฐานะประธานยกร่างฯ จะสานฝันให้เกิดความปรองดอง สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าจะปฏิรูปการเมืองอย่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว
นี่เป็นจุดเริ่มต้นแรก จึงทำให้มีปรากฏการณ์กวักมือเรียก หรือถกทึ้งดึงเสื้อ ให้บรรดานักการเมืองพรรคการเมือง คู่ขัดแย้งต่างๆเข้าร่วมวงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรองดอง
โดยได้วางคิว จัดแถวเตรียมให้แต่ละพรรคเข้าให้ข้อมูล แม้พรรคเพื่อไทยจะทำท่าทีอิดออด เพราะไม่อยากกลืนน้ำลายตัวเอง ที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับการคณะยึดอำนาจ
** เรื่องนี้ต้องจับตาให้ดี !! ว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือไม่ โดยเฉพาะการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีละเลยให้มีการทุจริตการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จับขึ้นเขียงเงื้อปังตอไว้แล้ว แต่ยังไม่กล้าฟันเสียที
ถ้าจับทางมาตั้งแต่เริ่มต้น เห็นแววว่างานนี้ส่อวืด ยกแรกก็เห็นชัด ที่ให้มีการเลื่อนการลงมติออกไปอีก โดยได้เชิญ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง นายสมหมาย กู้ทรัพย์ และนายเอนก คำชุ่ม ทีมทนายผู้ได้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าว มาชี้แจงถึงเหตุผลการขอเลื่อนการพิจารณาวาระถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ มีเวลาเตรียมตัวน้อย
ซึ่งการประชุมสนช. ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานสนช.ได้ขอมติจากที่ประชุมสนช. ปรากฏว่า สนช.มีมติ 167 ต่อ 16 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกออกไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. เลื่อนไปอีก 15 วัน
หรือแม้แต่กรณี“สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์”อดีตประธานรัฐสภา และ“นิคม ไวยรัชพานิช” อดีตประธานวุฒิสภา ขนาดเป็นตัวเล็กตัวน้อย ยังเห็นท่าทีอดออดของสนช. ไม่กล้าลงมือตามอำนาจหน้าที่ ที่ตัวเองมี แล้วจะยื้อเพื่อรออะไร หรือเพื่อเก็บไว้เป็นตัวประกัน หรือเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการป่วน
เพื่อให้พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องหันมาให้ความร่วมมือกับเครือข่ายแม่น้ำ 4-5 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่าทำตัวให้มีปัญหา เพราะอาจจะกระเทือนอนาคตทางการเมืองของนายหญิง ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม กลับมาที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำให้เป็นสังคม“ยูโทเปีย” ตามที่มีการพาดหัวข่าวกันนั้น ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะก้าวสู่จุดนั้นได้มีมากน้อยแค่ไหน งานนี้จึงยาก ราวกับเข็นครกขึ้นภูเขา (ไฟ)
แต่ถ้าเอาการตลาดเข้าจับ เรียกได้ว่า กรรมาธิการยกร่างฯ มีกลเกมทางการเมืองไม่น้อย ในการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในการยกร่างฯรัฐธรรมนูญ เพราะอย่างน้อยได้เชิญทุกขั้ว ทุกสี เข้าร่วมเขียนอนาคตประเทศ เรียกคะแนนจากชาวบ้านที่เป็นเสียงสำคัญได้
เพราะที่ผ่านมาทั้ง สปช. สนช. และกรรมาธิการยกร่างฯ ถูกครหาว่าไม่มีความหลากหลาย เอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด สร้างความไม่พอใจกับอีกฝั่ง
** การเรียกมาระดมความเห็นจากทุกฝ่ายจึงเป็นการปิดช่องต่อต้านรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างขึ้นนี้ หวังให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 หรือกระทั่ง 2550 ถูกร่างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทยในแต่ละยุคสมัย หลังจากที่มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญพยายามเขียนปิดช่องโหว่ช่องว่างที่ทำให้เป็นปัญหา เช่น ปัญหาขายตัวของส.ส.รัฐธรรมนูญก็พยายามให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ตีกรอบ ส.ส.ให้อยู่ในคอก หรือกระทั่งสร้างกลไกองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล
แต่ที่สุดแล้วการเมืองประเทศไทยก็มาสู่หุบเหวและดิ่งลงสู่จุดเดิม กลับมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง และนับครั้งแล้วครั้งเล่า
ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เราต้องมานับหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหา คนร่างรัฐธรรมนูญที่มานำพา ก็ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ผ่านมาหลายครั้งแล้วก็ยังต้องมาเจอกับปัญหาใหม่ๆ
ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับภาพฝันแห่งความปรองดอง จะเป็นดั่งเทียนส่องสว่างให้สังคมไทยขับเคลื่อนไปแบบต่อเนื่อง แบบไม่ต้องกลับมานับหนึ่งอย่างที่ผ่านได้หรือไม่
สามารถตอบโจทย์ต่อสังคมได้หรือเปล่าว่า สิ่งเหล่านั้นจะนำพาชาวไทยออกจากวิกฤตปัญหาการเมืองความขัดแย้ง
นั่นอาจเป็นเพียงภาพฝันของกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะสิ่งที่จะทำให้คนปรองดองกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายมีส่วน แต่เป็นส่วนเล็กๆเท่านั้น การที่คนจะรักและสามัคคีกัน ไม่ใช่เพราะมีกฎหมายบังคับ แต่อยู่ที่ใจ รวมทั้งการให้อภัย ก็ต้องเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการสำนึกผิดแล้ว กลับตัวเสียใหม่ นั่นถึงจะมีการให้อภัยกันได้
** แต่ไม่ใช่ “นิรโทษกรรม”ให้อภัยกันด้วยกฎหมายแล้วจบ ถ้าเริ่มต้นด้วยสิ่งนี้ สิ่งที่ตามจะยิ่งเป็นความแตกแยก และแตกแยกถึงขนาดที่ว่า “รัฐประหาร”ก็เอาไม่อยู่
จะกลายเป็นว่า ไม่มีใครฟังใคร หรือใครที่จะยับยั้งใครได้อีกต่อไป ถ้าอำนาจกลายเป็นเรื่อง “ซูเอี๋ย” แล้วสังคมยังจะไว้ใจใครได้
และสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ประชาชนเองยังไม่ค่อยให้ความใจต่อรัฐบาลและเครือข่าย คสช.ความหวาดระแวงยังมีอยู่เต็มหัวใจ เพียงแต่ยังไม่ได้แสดงออกมา ดังนั้นก่อนที่จะนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ต้องทำให้เห็นว่า มีความจริงใจที่จะนำพาประเทศไปสู่จุดที่ดีกว่าจึงจะเรียกว่าการปฏิรูปอย่างแท้จริง
** กล้าในสิ่งที่ควรทำ แล้วประเทศจะออกจากจุดวิกฤติ ไม่ใช่มาขายฝันรัฐธรรมนูญฉบับปรองดอง ในขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างยังไม่กล้าเคลียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น