xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษา : การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ตามนัยแห่งคำสอนของศาสนาพุทธ ปัญญาหรือความรอบรู้ของคนแต่ละคนมีอยู่ 2 ประการคือ

1. สชาติกปัญญา คือ ความรอบรู้ ซึ่งติดตัวมาแต่เกิด เป็นผลของกรรมเก่าหรือที่เรียกว่า พันธุกรรม และที่เรียกว่า ไอคิวในภาษาอังกฤษ

2. โยคปัญญา คือ ความรอบรู้ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ภายหลังการเกิด จะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือเรียนรู้โดยมีผู้สอน ก็จัดเข้าอยู่ในความรู้ประเภทนี้

โดยแนวทางแห่งคำสอนของพุทธศาสนาข้อนี้ ผู้ที่จะมีความรอบรู้ในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับความมีของปัญญา 2 ประเภทนี้มากหรือน้อย กล่าวคือ ถ้าปัญญา 2 ประเภทนี้มีมากก็เรียนรู้ได้มาก แต่ถ้ามีน้อยก็เรียนรู้ได้น้อย

ปัญญาทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น เป็นคุณสมบัติในส่วนของผู้เรียน แต่ในกรณีของผู้สอนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการทำโยคปัญญาของผู้เรียนเกิดขึ้น ทั้งนี้จะเห็นได้ในกรณีที่ผู้เรียนมีสชาติกปัญญาอยู่ในระดับดี แต่ถ้าผู้สอนขาดปัญญา หรือมีปัญญาแต่ขาดทักษะในการสอน ผู้เรียนก็จะได้โยคปัญญาที่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น จึงสรุปเป็นหลักการในการจัดการศึกษาได้ว่า ผู้เรียนเป็นคนดีมีปัญญา และผู้สอนมีความรอบรู้ในวิชาที่สอน ทั้งมีทักษะในการถ่ายทอด ผลที่ได้การศึกษาจะอยู่ในระดับดี

แต่ในทางกลับกัน ถ้าทั้งผู้เรียนและผู้สอนปัญญาด้อย ประกอบกับผู้สอนขาดทักษะในการถ่ายทอด ผลการศึกษาที่ได้ก็ด้อย

หากเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้อย แต่อีกฝ่ายดีก็พอจะทำให้ผลการศึกษาที่ได้รับอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้

การศึกษาของประเทศไทยวันนี้ ถ้าดูจากผลการจัดอันดับการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่การศึกษาของไทยอยู่ในอันดับ 8 แล้วรู้สึกหดหู่ที่การศึกษาตกต่ำชนิดที่ฟังแล้วแทบไม่เชื่อว่า นี่คือประเทศในยุคที่กำลังจะเข้าสู่สนามแข่งขันในทุกด้านกับกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้

ดังนั้น การศึกษาอยู่ในอันดับ 8 น่าจะเป็นโจทย์ทางการศึกษาให้ผู้รับผิดชอบงานด้านนี้ ทั้งในส่วนของรัฐบาล และข้าราชการประจำนำไปเป็นบทเรียนในการปรับปรุงแก้ไข ความล้มเหลวก่อนที่ประเทศไทยจะเสียตลาดแรงงานให้กับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการเปิดเสรีทางด้านแรงงานเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้

ผู้เรียน ผู้สอน หรือหลักสูตรเป็นเหตุให้การศึกษาไทยล้มเหลวชนิดที่ไม่เป็นมาก่อนเช่นนี้

ก่อนที่จะตอบโจทย์ข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูความเป็นมาของการศึกษาไทยในอดีต โดยนับถอยหลังจากรัชกาลที่ 5 ไปจนถึงสมัยกรุงสุโขทัย ก็จะพบว่าการศึกษาของไทยในยุคโบราณได้เริ่มต้นจากวัด โดยมีพระภิกษุหรือผู้ที่เคยบวชเป็นพระภิกษุเป็นผู้สอน

ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่จึงได้นำเด็กชายที่อยู่ในวัยเรียนไปฝากไว้กับวัด โดยให้บวชเป็นสามเณรบ้าง เป็นเด็กวัดรับใช้พระ ในขณะเดียวกันก็ศึกษาเล่าเรียนไปด้วย

วิชาที่เรียนส่วนใหญ่ก็จำกัดอยู่ในแขนงวิชาที่พระสงฆ์เรียนรู้ และสอนได้โดยไม่ขัดต่อเพศและภาวะของนักบวชได้แก่ ภาษาไทย ภาษาบาลี เลข และวิชาช่างแขนงต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า วิชาช่างสิบหมู่ในปัจจุบัน

การที่เด็กเรียนจากวัดโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้สอนนี้เอง จึงทำให้หญิงไทยในยุคโบราณได้รับโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากับผู้ชาย

แต่สตรีในยุคโบราณก็มิได้ถูกตัดขาดไปจากระบบการศึกษาเสียเลยทีเดียว เพียงแต่จำกัดอยู่ในแขนงที่สตรีเพศจะพึงเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือน เมื่อถึงวัยอันควรอันได้แก่ การเย็บปักถักร้อย การร้อยดอกไม้ ทำขนมต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น และครูผู้สอนเป็นผู้หญิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชบริพารได้รับการฝึกหัดวิชาเหล่านี้มาจากในวัง

ด้วยเหตุนี้ วัดและวังจึงเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ในอดีต

ส่วนการศึกษาสมัยใหม่ได้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากการตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นเอกเทศ และครูผู้สอนก็เป็นคฤหัสถ์ วิชาที่สอนก็หลากหลายขึ้น และในยุคนี้เองโรงเรียนเอกชนได้เกิดขึ้น และในระยะแรกก็เกิดจากการเข้าเผยแพร่ศาสนาของนักบวชในคริสต์ศาสนาได้ตั้งโรงเรียนขึ้น และเน้นการสอนภาษาอังกฤษและวิชาสมัยใหม่ซึ่งนำเข้ามาจากโลกตะวันตก

จากนั้นเป็นต้นมา การศึกษาของไทยก็เข้าสู่ยุคของการพัฒนาการศึกษาตามแนวของตะวันตกมากขึ้น และมากขึ้นจนถึงขั้นถูกครอบงำในทางวิชาการ จนเป็นเหตุให้คนไทยซึ่งนิยมตะวันตกกลายเป็นทาสรับใช้ทางวิชาการ และพยายามทำให้คนไทยเป็นฝรั่ง และนี่คือเหตุล้มเหลวประการหนึ่งของการศึกษาไทยที่ทำให้คนไทยลืมรากเหง้าของตนเอง และที่สำคัญก็คือพยายามทำให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่ง ทั้งๆ ที่สังคมไทยและคนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะเป็น

ส่วนประเด็นว่า ใครและอะไรเป็นเหตุให้การศึกษาไทยล้มเหลวในระหว่างองค์ประกอบในการศึกษา 3 ประการคือ ผู้เรียน ผู้สอน และหลักสูตรนั้นๆ ถ้าพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบแล้วอนุมานได้ดังนี้

1. ระบบการศึกษาไทยมิได้เน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เพื่อรองรับการจ้างงานในตลาดแรงงาน แต่ได้เน้นจำนวนผู้จบการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพทางด้านการศึกษา จึงทำให้ผู้จบการศึกษาไปแล้วนำไปใช้ประโยชน์เพื่อดำรงชีวิตได้ไม่เท่าที่ผู้จบการศึกษาในแต่ละระดับควรจะได้

2. ผู้เรียนในปัจจุบันไม่ทุ่มเทให้กับการเรียน สักแต่ว่าเรียนให้จบไปเป็นส่วนใหญ่ จะมีอยู่เป็นส่วนน้อยที่ทุ่มเทอย่างจริงจัง จะเห็นได้จากกลุ่มนักเรียนที่ไปแข่งขันทางวิชาการแล้วชนะได้รางวัลมา แต่ส่วนใหญ่จบแล้วหางานทำไม่ได้ หรือได้ก็ไม่ตรงกับที่เรียนมา ทำให้การศึกษาสูญเปล่า

3. ผู้สอนในปัจจุบันต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ผู้สอนในอดีตมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ทำงานเพื่อให้เด็กมีความรู้ มีความรัก และหวังดีต่อเด็กเหนือพ่อแม่คนที่สอง

แต่ในปัจจุบันผู้สอนทำงานเพื่อให้มีรายได้เป็นหลัก ส่วนใหญ่ไม่มีวิญญาณของความเป็นครู

ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในปัจจุบันจึงเป็นเสมือนผู้รับจ้างสอนกับผู้จ่ายเงินเพื่อแลกกับความรู้มากกว่าครูกับศิษย์ดังเช่นเมื่อก่อน ผลที่ได้จากการสอนและการเรียนรู้จึงด้อยกว่าอดีต ทั้งๆ ที่ครูในปัจจุบันมีความรู้ มีอุปกรณ์การสอน และภาวะแวดล้อมดีกว่าครูในอดีต

4. ในด้านหลักสูตรในปัจจุบัน ถ้าเห็นเด็กระดับประถมศึกษาถือกระเป๋าไปโรงเรียนแล้ว แปลกใจว่าทำไมมีหนังสือมากมาย แต่ทำไมเด็กมีความรู้ในวิชาเดียวกันเช่น ภาษาไทย หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม เป็นต้น น้อยกว่าเมื่อก่อน

จริงอยู่เด็กสมัยปัจจุบันอาจมีความรู้มากมายหลากหลายแขนง เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

แต่วิชาเหล่านี้เป็นวิชาในการแสวงหาความก้าวหน้าทางวัตถุ และเป็นดาบสองคมคือมีทั้งประโยชน์และโทษ ถ้าใช้ในทางที่ผิดเนื่องจากไม่มีศีลธรรมกำกับ

ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องได้รับการอบรม ฝึกฝนทางด้านจิตใจให้ใฝ่คุณธรรมเพื่อเป็นเครื่องมือกำกับการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมโดยรวม

มิฉะนั้นแล้วยิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งทำความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและสังคมโดยรวมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้เนื่องจากขาดหิริและโอตตัปปะคอยควบคุม
กำลังโหลดความคิดเห็น