อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมติดตามข่าวเรื่องการถอดถอนนักการเมืองชั่วด้วยความเป็นห่วง ไม่สบายใจ ที่เป็นห่วงและไม่สบายใจก็เพราะว่าเกรงว่าจะเสียของและจะเป็นมวยล้มต้มคนดู ผมเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจเหลือเกินว่าคนไทยจำนวนมากรักความยุติธรรมและเชื่อในกฎแห่งกรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลกรรมนั้น หากคนที่ทำความชั่วกับแผ่นดิน โกงรับจำนำข้าวเป็นหลายแสนล้านจะไม่ถูกลงโทษเลย ลอยนวล และประชาชนต้องมาแบกรับภาระหนี้อีก 30 ปีที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ผมเชื่อว่าคนไทยยอมรับไม่ได้เหมือนกันกับที่คนไทยยอมรับกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไม่ได้มาแล้ว
คณิตศาสตร์การเมืองว่าด้วยการถอดถอนเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้ผมต้องคิดหนักทีเดียว นี่แค่การรับวาระไว้พิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังมีแววว่าจะคว้าน้ำเหลว ด้วยผลการลงมติพิจารณา 87 เสียง ส่วน 75 เสียงไม่รับพิจารณา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 45 คนขาดประชุม และ สนช. 15 คนงดออกเสียง ที่สำคัญคือมีคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เองออกมาพูดว่าไม่ควรถอดถอน เพราะจะทำให้ไม่เกิดการปรองดอง (แต่ผมกลับคิดว่าความจริงไม่ปรากฏ ความยุติธรรมไม่มี กฎแห่งกรรมไม่ทำงาน การปรองดองคงเกิดไม่ได้อย่างเด็ดขาด) แว่วได้ยินมาว่ามีเสียงบอกให้สนช สายทหาร 45 คนไปทอดกฐินต่างจังหวัดกันซะ
ถ้าจะลองวิเคราะห์ดู เมื่อสั่งเช่นนี้ได้ หากจะลงมติถอดถอนกันจริงๆ 45 เสียงที่ขาดประชุมก็คงขาดประชุมเหมือนเดิมถ้ามีคนสั่ง 15 เสียงที่งดออกเสียงก็อาจจะงดออกเสียงเหมือนเดิม และ 75 เสียงที่ไม่รับพิจารณาก็คงลงมติว่าไม่ถอดถอน ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็คงมีเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ (87+75+45+15)*3/5 ได้คำตอบประมาณ 133 เสียง (มีแค่ 87) ก็คงเห็นได้ว่าการถอดถอนนักการเมืองชั่วนั้นไม่เคยทำได้และคงทำไม่ได้อีกในครั้งนี้ การถอดถอนนักการเมือง หรือ Impeachment ของไทยนี่ไม่เคยทำได้จริงเลยแม้สักครั้งเดียว นี่ขนาด สนช. แต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด และปกติก็มีมติอะไรเป็นเอกฉันท์เสมอมา ไม่มีการแตกแถว ซึ่งควรจะทำได้ กลับทำไม่ได้ หรือตั้งใจจะไม่ทำก็ไม่ทราบได้
จะว่าไปแล้ว การลงมติลับกันนี่ในทางจิตวิทยาสังคม มีอันตรายใหญ่หลวงยิ่งนัก เพราะเมื่อจับมือใครดมได้ ก็เกิดการกระจายความรับผิดชอบต่อสังคม (Diffusion of social responsibility) สร้างความหายนะได้โดยง่าย เมื่อปี 1964 ในใจกลางมหานครนิวยอร์ก มีหญิงชื่อ Kitty Genovese ถูกฆ่าตายกลางถนนใกล้บ้านตัวเอง มีคนเห็นเหตุการณ์ประมาณ 40 คน ไม่มีคนยอมช่วยสักคนแม้แต่การโทรศัพท์เรียกตำรวจ เธอวิ่งหนีต่อสู้ใช้เวลานานเป็นชั่วโมงจนขาดใจตาย นักจิตวิทยาสังคมสองคนคือ John Darley and Bibb Latané สงสัยว่าทำไมคนนิวยอร์กจึงใจดำเช่นนั้น เมื่อไปสัมภาษณ์ ทุกคนต่างตอบว่า เพราะคิดว่าอีกคนจะช่วย เลยเกี่ยงกันอยู่อย่างนั้น และนักจิตวิทยาทั้งสองคนเลยออกแบบการทดลองเพื่อทดสอบทฤษฎีดังกล่าวและพบว่ายิ่งมีความกำกวมไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครที่ต้องรับผิดชอบ ยิ่งมีคนจำนวนมากยิ่งมีโอกาสที่คนในกลุ่มจะแสดงความไร้สำนึกรับผิดชอบมากขึ้น
การลงมติลับแบบนี้จึงไม่ได้ต่างกับการปล่อย สนช. จำนวนสองร้อยกว่าคน (กลุ่มขนาดใหญ่ และระบุจับมือใครดมไม่ได้ว่าใครเป็นใคร) ช่วยกันข่มขืนฆ่าประเทศไทย โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ต่างเกี่ยงกันที่จะทำในสิ่งที่ควรทำแต่ไม่ทำ และทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ถ้าสนช. มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอ ควรลงมติโดยเปิดเผย และให้ทุกคนเขียนคำวินิจฉัยก่อนการลงมติเปิดเผยให้สาธารณชนได้ทราบเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญเยี่ยงนั้นทุกคนทุกครั้งไป เพื่อความโปร่งใสและส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบ
ดูเหมือนว่า คสช. กำลังเล่นกับความรู้สึกของประชาชนอยู่ ซึ่งน่ากลัวมาก อย่าลืมว่าคนที่ออกมาต่อสู้กลางถนนมาหกเดือนกว่าหลายล้านคนนั้นเขาหวังจะเห็นความยุติธรรมในประเทศนี้ คสช. อย่าได้ประมาทคิดว่ามีอำนาจอยู่ในมือ ไม่มีอำนาจใดจะจีรังยั่งยืนไปได้ตลอดกาลหากปราศจากธรรมะและการสนับสนุนจากประชาชน ผมได้ลงพื้นที่ทำงานวิจัยโดยเข้าไปคุยกับชาวบ้านทุกสี ทั้งพื้นที่เสื้อแดง กปปส. พันธมิตร ทุกฝ่ายเท่าที่ได้พูดคุยต่างก็โกรธเกรี้ยวใส่คสช ด้วยท่าทีคนละแบบ นปช นั้นต่อต้านในลักษณะที่ว่าต้องการขับไล่คสช ส่วนพันธมิตรกับ กปปส ค่อนข้างปล่อยให้คสช ทำงานไปอย่างกังวล ห่วงๆ และไม่ไว้วางใจเลยแม้แต่น้อย มีความหวาดระแวงว่า คสช จะไปตกลงคุยกันลับๆ กับทักษิณ ชินวัตร แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่ทำอะไรเลย ทุกฝ่ายต่างบอกว่าเมื่อถึงเวลาจะสู้ก็ต้องสู้ ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น! โปรดอย่าลืมว่าถ้าประชาชนหมดศรัทธาเมื่อไหร่ ร้อยกฎอัยการศึกก็หมดความหมาย ไม่มีใครกลัวเลยแม้แต่น้อย อย่าเล่นกับความรู้สึกของประชาชนเช่นนี้เลย โดยเฉพาะวันที่ 12 พย นี้ สนช. ต้องตัดสินรับวาระถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถ้ายังมีคำสั่งลอยมาตามลมให้ไปทอดกฐินหรือตีกอล์ฟและงดออกเสียงหรือ ลงมติไม่รับพิจารณาอีกรอบ ประชาชนอาจจะหลั่งไหลเป็นสายธารได้ คำพูดที่ได้ยินมาเสมอว่า “หลับเถิดทหารกล้า ปวงประชาจะคุ้มภัย” นั้นยังเป็นจริงเสมอ ก็ต่อเมื่อทหารได้เสียสละ และทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศชาติเท่านั้น จึงขอเขียนบันทึกไว้ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดียิ่ง