xs
xsm
sm
md
lg

บ้าน-วัด-โรงเรียน (3) : ความล้มเหลวของบ้านเรื่องการปูฐานทางการศึกษา (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ตอน 1 ได้เรียนว่า เนื้อหาของบทความส่วนใหญ่ได้มาจากการเข้าไปสนับสนุนการศึกษาในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตรในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา อำเภอบ้านนาเป็นบ้านเกิดของผู้เขียนเอง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่บ้านนาในช่วงที่เมืองไทยพยายามเร่งรัดพัฒนามาเป็นเวลาเกือบ 60 ปีเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของประเทศ ความเปลี่ยนแปลงอาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่สาระสำคัญมักไม่แตกต่างกันมาก เนื่องจากงานของมูลนิธิฯ ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับชั้นประถม เนื้อหาของบทความจึงเกี่ยวกับการศึกษาในระตับต่ำกว่าชั้นมัธยมเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเด็กยังอาศัยอยู่ในบ้านเกิด การศึกษาในระดับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะเป็นการปูฐานทางด้านศีลธรรมจรรยาและหน้าที่พลเมืองเบื้องต้นสำหรับการศึกษาขั้นต่อไป และในการดำเนินชีวิตที่จะตามมาของเยาวชน การปูฐานเปรียบเสมือนการกลัดกระดุมเสื้อเม็ดแรก หากติดเม็ดนั้นผิดซึ่งดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น ผลของการสวมเสื้อที่ออกมาย่อมไม่น่าดูนัก

ตอนที่ผ่านมาอ้างถึงปัญหาความฉ้อฉลซึ่งเป็นต้นแบบชั่วร้ายที่เด็กลอกเลียนไปทำต่อ ขอนำข้อมูลมาเสริม เรื่องแรกมาจากการศึกษาของมูลนิธิเพื่อคนไทยในเอกสารชื่อ “คนไทยมอนิตอร์ 2557: เสียงเยาวชนไทย” เอกสารฉบับนี้มีข้อสรุปหลายอย่างจากการสำรวจเยาวชน 4,000 คนใน 21 จังหวัด สองอย่างตรงกับบริบทของบทความ ได้แก่ (1) เด็กส่วนใหญ่ยึดคนใกล้ตัวเป็นแบบอย่าง รวมทั้งพ่อแม่/ผู้ปกครอง ครู/อาจารย์ และเพื่อน และ (2) ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมฉ้อฉล เช่น 81% เคยลอกคำตอบข้อสอบและ 75% เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นผิดไม่มาก หรือไม่ผิดเลย 63% เคยเซ็นชื่อเข้าเรียนแทนกันและ 75% เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นผิดเล็กน้อย หรือไม่ผิดเลย

ผลการสำรวจนี้น่าจะชี้บ่งอย่างแจ้งชัดโดยปราศจากข้อกังขาว่า สังคมไทยตกอยู่ในวงจรอัปรีย์ของความฉ้อฉลจนโงหัวไม่ขึ้น ทั้งนี้เพราะมันเสริมผลการสำรวจความเห็นของผู้ใหญ่จากหลายสำนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่สรุปตรงกันว่า การฉ้อโกงของนักการเมืองไม่เป็นไรหากผู้ที่ถูกถามความเห็นได้รับผลประโยชน์ด้วย ผลสำรวจของมูลนิธิเพื่อคนไทยยืนยันว่า เยาวชนไทยได้ลอกเลียนแนวคิดและการกระทำของผู้ใหญ่ในแนวคำพังเพย “ลิงเห็น ลิงทำ” ของฝรั่งอย่างสมบูรณ์แล้ว

ในการเข้าไปในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาของมูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตร เราพบตัวอย่างของความฉ้อฉลแบบที่คนกระทำคิดว่าเป็นของธรรมดา เช่น การปลูกผักของเกษตรกร ข้อมูลบ่งว่า เกษตรกรรู้อยู่แก่ใจว่ายาฆ่าแมลงเป็นอันตรายมากหากไม่ทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตสารเคมีนั้น เกษตรกรหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะมีแก่ตนด้วยการแยกแปลงผักที่ปลูกไว้กินเองออกจากผักที่ปลูกไว้เพื่อขาย ผักที่ปลูกขายต้องฉีดยาฆ่าแมลงเป็นประจำ แต่มิได้เก็บตามกำหนดเวลาที่ผู้ผลิตสารเคมีระบุไว้ ผักจะมีสารเคมีตกค้างหรือไม่ เท่าไรเกษตรกรไม่ใส่ใจเพราะเขามิได้บริโภคเอง แนวคิดและการกระทำเช่นนี้มีให้เด็กเห็นอยู่เป็นประจำ เด็กจากบ้านที่ทำเช่นนั้นย่อมมองว่าเป็นของธรรมดา ส่วนที่จะคิดต่างออกไปคงมีไม่มากนัก (โครงการสนับสนุนการศึกษาของเรากำลังทำนำร่องเรื่องเกษตรอินทรีย์ในแปลงเกษตรของโรงเรียนซึ่งจะเล่าถึงในโอกาสหน้า)

ไม่ใช่เฉพาะในวงชาวบ้านเท่านั้นที่มองว่าการละเมิดจรรยาบรรณเป็นเรื่องปกติ ในวงการครูก็มีอยู่ให้เห็นเช่นกัน มูลนิธิฯ พบเห็นเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่ 3 ที่เราเข้าไปทำโครงการซึ่งมีการประกวดการอ่านเป็นงานที่เราทำประจำทุกปีและในวันที่ 14-15 พฤศจิกายนนี้จะทำเป็นปีที่ 9 (ดังกำหนดงานคร่าวๆ ที่แนบมา) ในตอนต้น เราเชิญครูที่พานักเรียนไปประกวดการอ่านให้เป็นกรรมการตัดสินด้วย เพียง 3 ปี ก็มีเรื่องการฮั้วกันของบรรดาครูส่วนหนึ่งซึ่งตกลงกันว่า ถ้าเธอให้คะแนนเด็กฉันสูงๆ ฉันก็จะให้คะแนนเด็กเธอสูงๆ ด้วย เราโชคดีที่รู้เรื่องนี้ก่อนที่พฤติกรรมอันชั่วร้ายจะสร้างผลเสียหายต่อไป เราเชิญผู้มีความรู้ความสามารถจากนอกโรงเรียนมาเป็นกรรมการตัดสินจากปีที่ 4 จนมาถึงปัจจุบัน
กรรมการฟังการนำเสนอของนักเรียนในรอบแรกของการประกวดนักอ่าน
กำหนดงานการประกวดนักอ่านบ้านนาครั้งที่ 9 และนักเขียนบ้านนาครั้งที่ 1 (นำร่อง) ณ โรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อย ต.พิกุลออก อ.บ้านนา จ.นครนายก

วันที่ 14 พฤศจิกายน 57

เวลา 08.00 น. นักเรียนที่เข้าประกวดรายงานตัว จับฉลากหมายเลขการนำเสนอผลการอ่าน 
เวลา 08.30 น. พิธีเปิดการประกวดนักอ่านและนักเขียน
เวลา 09.00 น. เริ่มการประกวดนักอ่านโดยนักเรียนเล่าเรื่องที่อ่านมาแล้วบนเวทีคนละ 10 นาที นักเขียนซึ่งมีด้วยกัน 5 คนเริ่มเขียนเรียงความ
เวลา 12.00 น. นักเขียนส่งเรียงความ พักรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดไว้ให้
เวลา 13.00 น. เริ่มการประกวดนักอ่านต่อจนหมดทุกคน ปีนี้มีจำนวนนักอ่านเข้าร่วมทั้งหมด 29 คน

วันที่ 15 พฤศจิกายน 57

เวลา 09.00 น. นักเรียนที่เข้าประกวดพร้อมด้วยกัลยาณมิตร พร้อมกันในห้องประชุมประกาศผลนักอ่านเข้ารอบสอง 8 - 10 คน นักเรียนที่เข้ารอบเริ่มสัมภาษณ์
โดยคณะกรรมการจากมูลนิธินักอ่านบ้านนา
เวลา 10.00 น. เริ่มตั้งกองผ้าป่าโดยคณะจากสมาคมนักเรียนเก่า เอ.เอฟ.เอส. และ กัลยาณมิตร 
เวลา 10.30 น. พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์  
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ถวายผ้าป่าการศึกษา 
เวลา 12.00 น. รับประทานอาหารร่วมกัน
เวลา 13.00 น. ชมการแสดงจักรยานล้อเดียวของนักเรียนโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อย เวลา 13.15 น. พร้อมกันที่ห้องประชุม

ดร.ไสว บุญมา แนะนำและเชิญกัลยาณมิตรที่เป็นต้นเรื่องของหนังสือที่มอบเป็นที่ระลึกเรื่อง “ทำปลาร้าไปฝากภาคอีสาน” ให้ข้อคิดแก่นักเรียน 10-15 นาที ประกาศผลการประกวดและมอบรางวัลเป็นทุนการศึกษาแก่ผู้เข้าประกวดทุกคน

เวลา 15.15 น. ผู้อำนวนการโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อย ขอบคุณผู้มาร่วมงานและปิดกิจกรรมการประกวด
การขี่จักรยานล้อเดียวเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่โครงการของเราสนับสนุน
ภาพที่นักเรียนขี่จักรยานล้อเดียวนั้น ถ่ายจากอาคารเรียนของโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยในงานการประกวดนักอ่านบ้านนาครั้งที่ 8 อาคารที่เห็นข้างหน้าเป็นศาลาและโบสถ์ 2 หลังของวัด ตรงกลางเป็นโบสถ์หลังเก่าที่ยังอยู่ในสภาพดีแม้จะสร้างมาหลายสิบปีแล้ว ทางซ้ายเป็นโบสถ์หลังใหม่ซึ่งใหญ่กว่ามาก อาคารของวัดแตกต่างกับอาคารของโรงเรียนที่ผู้ถ่ายภาพยืนอยู่ (ภาพต่อไป) แบบเทียบกันไม่ติด ความแตกต่างนั้นสะท้อนความคิดของสังคมไทยโดยทั่วไปและของชุมชนรอบโรงเรียน นั่นคือ การบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างวัดทำได้แทบไม่อั้นและไปทำกันถึงต่างถิ่นและต่างประเทศ แต่แทบไม่เหลียวแลอาคารที่เป็นสถานศึกษาของลูกหลานในชุมชนของตนเอง อาคารของโรงเรียนอยู่ในสภาพที่ไม่น่าปลอดภัยในบางส่วน (พื้นผุและทะลุจนเห็นพื้นดิน) และหนึ่งหลังผุพังจนใช้การแทบไม่ได้เมื่อโครงการของเราเริ่มเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียน
อาคารเรียน
พื้นอาคาร
ห้องน้ำซึ่งอยู่ในสภาพหมดอายุ
บริษัท โอเรกอน อลูมีเนียม จำกัด กำลังสร้างห้องน้ำใหม่ให้โรงเรียน

เรามองกันว่าเรื่องการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ วัดเป็นหน้าที่ของเรา ฉะนั้น เราแข่งขันกันสร้างวัดสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ด้วยความเชื่อว่าบุญที่ได้จะพาเราไปสวรรค์ แต่นั่นเป็นการซื้อมากกว่าการให้มิใช่หรือ? เราใจบุญจริง หรือเราเห็นแก่ตัว? เราดูดายได้อย่างสนิทใจเมื่ออาคารของสถานศึกษาทรุดโทรมจนเป็นอันตราย ความดูดายจึงเป็นบาปซึ่งสาปเราอยู่ ทุกครั้งที่ผู้เขียนตั้งกระทู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ การถูกโจมตีอย่างหนักมักเกิดขึ้น หากสภาพการณ์เช่นนี้ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ฐานทางการศึกษาของเยาวชนย่อมเปราะบางอย่างน่าอดสู
กำลังโหลดความคิดเห็น